noBitter ฟาร์มผักขนาดเล็กใจกลางเมือง แนวคิดสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนเมือง

ธุรกิจแบบสตาร์ทอัพที่ทำไป ทดลองไป หาข้อมูลไป เป็นหนึ่งในแนวคิด ที่ noBitter ฟาร์มผักขนาดเล็กใจกลางเมือง ของ ดร. วิลาศ ฉ่ำเลิศวัฒน์ และทีมงาน ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาจากแนวคิดที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนเมือง

ดร. วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า เป้าหมายของ noBitter คือ ต้องการที่จะปลูกผักเพื่อคนเมืองจริงๆ เนื่องจากพืชผักที่จำหน่ายอยู่ตามซุปเปอร์ส่วนใหญ่ที่คนเมืองบริโภค ยังตรวจเจอสารพิษอยู่ ทั้งๆ ที่เป็นผักออร์แกนิก ดังนั้น การปลูกผักปลอดภัยที่จำหน่าย ณ จุดขายได้ ทันทีจะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองได้

ปลูกระบบเดียวกับไฮโดรโปนิกส์

noBitter เราให้นิยามมันว่า เป็น mini plant factory เป็นโรงงานปลูกผักขนาดเล็กในกลางเมือง สาเหตุที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะผลิตผักขึ้นมาเพื่อจะตอบสนองความต้องการของชุมชนเมืองได้ ซึ่งที่ตั้งปัจจุบันเราคือ อยู่ใน Space At Siam เป็น Co-Working Space ที่หนึ่ง โดยชั้นล่างจะมีเด็กๆ มาใช้บริการเรียนหนังสือ นั่งทำงาน แล้วชั้นบนที่เป็นลานนั่งเล่นไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ เราก็กั้นพื้นที่ขึ้นมาเล็กๆ ส่วนหนึ่งแล้วก็ทดลองทำ”

ภายในโรงเรือน ควบคุมด้วยเทคโนโลยี

จุดเริ่มต้นของ noBitter ลงมือทำจากการขาดองค์ความรู้ ทำให้เกิดปัญหา คือปลูกไม่ได้ผลผลิต แต่จากความตั้งใจของทีมงานที่หาข้อมูล ไปเรียนและหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้พวกเขาค้นพบมาว่า ปัจจุบันผักที่รับประทานๆ กันอยู่ ยังมีเรื่องของสารตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นพลังให้ลุกขึ้นมาสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นต้นแบบที่จะสามารถกระจายออกไปปลูกตามเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้คนเมืองสามารถที่จะมีผักที่ปลอดภัยกินได้ตลอดเวลาทั้งปี”

เริ่มใช้หลักทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ
ทดลอง และหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ดร. วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง noBitter

จากความผิดพลาดต้องใช้เวลาหาความรู้มาเพิ่ม ทั้งเรื่องของสารอาหาร ต้องให้ปุ๋ยอย่างไร พืชมันต้องการ โดยศึกษาธรรมชาติของพืชแต่ละชนิดจากปัจจัยหลักที่พืชต้องการ

ดร. วิลาส กล่าวต่อว่า จริงๆ เรื่องของเคมี มนุษย์ก็เป็นชีวเคมีอย่างหนึ่ง น้ำ H2O  อากาศ O2 คาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ทุกอย่างมันถูก classify ออกมากลายเป็นเรื่องของเคมีได้

“การปลูกพืชที่แบ่งเป็นอินทรีย์ ออร์แกนิก ตัวอินทรีย์ที่ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดต่างๆ สุดท้าย ย่อยสลายออกมาก็ คือ N P K ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชเอาไปใช้ในการเติบโต ไฮโดรโปนิกส์ไม่ต่างกัน แต่ไฮโดรโปนิกส์สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรารู้เราให้สารเคมีอะไรในปริมาณเท่าไร เพื่อให้พืชเอาไปสังเคราะห์แสงได้หมด พอสังเคราะห์แสงได้หมด ก็ไม่เหลือสารตกค้างที่มันเป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่การปลูกแบบเอาต์ดอร์ เรียกว่าปลูกแบบตามมีตามเกิด ในดินมีอะไรบ้างเราก็ไม่รู้ มันปนเปื้อนมาด้วยเชื้อรา แบคทีเรีย อะไรต่างๆ อันนี้เราคุมไม่ได้เลย ในขณะที่ทำอย่างนี้ เราสามารถที่จะทำระบบปิดที่เราควบคุมได้ทุกอย่าง”

นอกจากนี้ การปลูกพืชในระบบปิด ดร. วิลาส บอกว่า ต้นทุนหลักๆ จะประกอบด้วย ค่าเช่าที่ ค่าไฟฟ้า และแรงงานคน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักๆ ในการทำธุรกิจนี้ ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ เรื่องของน้ำนั้น ถือเป็นปัจจัยรองลงมา

คะน้าใบหยิก หรือ เคล

“การลงทุนในอันดับต้น ลงโครงสร้างไปแล้วที่เหลือมันอยู่ยาวครับ อยู่เป็นสิบๆ ปี ได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมา optimal หาจุดคุ้มทุนให้ได้ ซึ่งตอนนี้เราพยายามหาจุด optimal ที่สุด ที่ว่าทำอย่างไร ให้สามารถที่จะมีต้นทุนที่ต่ำ สามารถที่จะทำให้กลายเป็นธุรกิจได้ ผมยกตัวอย่าง อย่างประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของ plant factory มีจำนวนมหาศาลเลย มีจำนวนเยอะ ซึ่งในญี่ปุ่นเขาทำกันก็จะมีเรื่องของความสะอาดระดับสูง ถ้าเราเห็นกันในคลิปวิดีโอต่างๆ ก็จะมีชุดมนุษย์อวกาศ ต้องเข้าไปใน plant factory แต่ละทีต้องมีเรื่องการป้องกันความสะอาด เรื่องของแมลงติดมาอะไรต่างๆ ตรงนี้เป็นคอร์สที่เรียกว่าสูงขึ้นมา ถามว่า จำเป็นไหม ผมมองว่า nice to have ถ้าทำแบบประเทศไทยแบบเราๆ ที่พยายามทำอยู่ คือผมพยายามจะตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วหาว่าอะไรที่จำเป็นจริงๆ ต่อการที่จะปลูกพืชแล้วได้ผลผลิตมาคุ้มค่ากับการลงทุน อันนี้คือ สิ่งที่ noBitter กำลังทำอยู่”

ปลูกในระบบปิด
ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม
ใช้เทคโนโลยีดูแล 24 ชั่วโมง

การสร้างระบบที่ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีคือ ปัจจัยสำคัญที่ ดร. วิลาส ใช้ในการควบคุมการปลูกผักของ noBitter ซึ่งจากการทดลองมาแล้วกว่า 1 ปี การใช้เทคโนโลยีในการดูแลพืชผักตลอด 24 ชั่วโมง นั้น ทำให้พืชผักได้คุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ตามหลักวิชาการ มันมีการวัดค่า PPFD เกิดขึ้น วัดค่าความสว่าง คือถ้าได้ค่าที่แน่นอน เลือกหลอดไฟที่ถูกต้องมา มันอยู่ยาวไปเลยครับ จะอยู่เป็น 10 ปี เลยก็ว่าได้ ส่วนระบบน้ำ ก็คือ เรามีการไหลเวียนของน้ำอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็มีตัวปั๊มน้ำ 24 ชั่วโมง ทุกอย่างมันคือ การวางระบบครั้งแรก แล้วจากนั้นมันรันของมันไปได้ด้วยตัวเอง

วันๆ หนึ่ง ก็อาจจะมีตัวทีมงานขึ้นมาดูนิดๆ หน่อยๆ สัก 1 ชั่วโมง มาเปลี่ยนถ่ายน้ำ คือก่อนเก็บเกี่ยวมันจะมีคอนเซิร์นของเรื่องสารตกค้าง สิ่งที่ noBitter ทำก็คือ ให้ผู้บริโภคสบายใจ เราก็คือเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ก่อนสัก 2-3 วัน ก่อนที่จะเก็บเกี่ยว เพื่อให้ในแต่ละระบบในรางนั้นมันคือน้ำเปล่า พืชก็เอาน้ำเปล่าที่มีอยู่เอาไปสังเคราะห์แสง ดังนั้นวันที่เก็บเกี่ยวมันคือ วันที่แบบค่อนข้างที่จะว่าไม่มีสารตกค้างอะไรเหลืออยู่แล้ว”

ปัจจุบัน noBitter เน้นปลูกพืชผักแปลก อย่างเช่น คะน้าใบหยิก หรือ เคล ซึ่งเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ในประเทศไทยมีปลูกแต่หาซื้อยาก จากการนำเข้ามาจำหน่ายในซุปเปอร์ก็ยังไม่เพียงพอต่อกลุ่มลูกค้า

“บางคนก็ซื้อเคลสดไม่ได้เลย ก็ต้องกินเป็นเคลผง มีกลุ่มดีมานด์ตรงนี้อยู่ อย่างตอนนี้ ต้องเป็นพรีออเดอร์คือถ้าเกิดมาซื้อหน้าฟาร์มเลย เราไม่มีขายครับ ผักทุกต้นมีคนจองหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราจำหน่ายทางออนไลน์อย่างเดียว ผมมีทั้งตัว เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ก็คือผู้บริโภค จริงๆ รู้จักเราทางออนไลน์ ถ้าเสิร์ชกูเกิล หาผักเคล หาผักปลอดสารพิษก็จะมาเจอเรา”

สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม : noBitterlife, ไลน์ : @noBitterlife