ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จังหวัดบึงกาฬในฐานะจังหวัดน้องใหม่ นอกจากเป็นผู้ผลิตยางพาราขนาดใหญ่ที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่รอให้ทุกคนไปสัมผัส
นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560 ว่า บึงกาฬมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ และธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งทางจังหวัดกำลังเร่งพัฒนา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต้องสะดวกสบาย
จังหวัดบึงกาฬมี “บึงโขงหลง” ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ขนาดใหญ่กว่า 11,800 ไร่ แต่กลับสู้บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ หรือหนองหานของสกลนคร ไม่ได้ แม้บึงโขงหลงจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่น และนกอพยพถึง 134 ชนิด
อาทิ นกกระเต็นหัวดำ นกกระติ๊ดแดง นกอีลุ้ม นกยางไฟหัวดำ และนกเป็ดผีเล็ก ยังไม่รวมถึงพืชน้ำหลากหลายชนิด โดยเฉพาะบัวแดงที่บึงโขงหลงครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า 1,000 ไร่ และยังพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะในบึงใกล้ๆ มีบัวหลวงอีกราว 800 ไร่ เวลาบานจะสวยสะพรั่งทั่วทั้งบึง
บึงโขงหลงมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ในน้ำก็อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด และรอบๆบึงก็มีแหล่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่น่าสนใจ อีกหน่อยจะพัฒนาให้มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงระบบนิเวศน์บึงโขงหลง นักท่องเที่ยวมาถึงแล้ว ไม่ใช่แค่แวะมาชมบรรยากาศ และกินอาหารริมบึงเป็นอันจบ แต่มาแล้วต้องได้เรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญของบึงโขงหลงด้วย
แหล่งชุ่มน้ำอีกแห่งที่สำคัญ คือ “หนองกุดทิง” เพียง 5 กิโลเมตรจากอำเภอเมือง จะได้ตื่นตะลึงทึ่งไปกับหนองน้ำขนาดใหญ่ถึง 16,500 ไร่ อุดมไปด้วยพันธุ์พืชน้ำอย่างน้อย 59 ชนิด และปลาน้ำจืดอีกกว่า 103 สายพันธุ์ รวมถึงพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ได้แก่ ปลาซิวแคระ และปลายี่สก
เปลี่ยนบรรยากาศไปดื่มดำกับธรรมชาติในผืนป่ากันบ้าง มาเยือนบึงกาฬทั้งทีต้องไม่พลาดแวะเวียนไป “เขตป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์” มีเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ เชื่อมต่อป่าดงดิบกะลา และป่าแดงสีชมพู กับภูมิประเทศเขาหินทราย ป่าไม้ชุ่มชื้น
พร้อมด้วยหินรูปทรงประหลาดชวนจินตนาการ ทั้ง หินสามวาฬ หินหัวช้าง หินช้าง หินรถไฟ และอีกสารพัดการแปรสภาพทางธรณีวิทยาที่มีให้เห็นอีกเพียบ อาทิ ล้างร้อยบ่อที่เป็นหลุมขนาดเล็ก-ใหญ่จำนวนมาก หรือจะเป็นกำแพงหินภูสิงห์ กำแพงหินสูงซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของลม ฝน และลานหินลาย หลุมเล็กๆ มากมายที่เกิดจากธรรมชาติในฤดูฝนซึ่งหญ้าจะขึ้นปกคลุมเป็นสีเขียวสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวที่ใครได้เห็นเป็นต้องอ้าปากค้าง ไม่ว่าจะเป็นลานธรรมภูสิงห์ ที่มีหินทรายแดงขนาดใหญ่ดูละม้ายคล้ายสิงโตมอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูสิงห์นั่นเอง ส่วนจุดชมวิวผาน้ำทิพย์ หน้าผาสูงทางทิศตะวันออกนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เช่นเดียวกับจุดชมวิวถ้ำฤๅษีที่มอบทัศนียภาพของป่าภูวัว ภูทอกใหญ่ แม่น้ำโขง รวมถึงภูเขาปากกระดิ่งของลาว
ลัดเลาะต่อไปยัง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว” มีเนื้อที่ราว 124,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมือง บุ่งคล้า เซกา และบึงโขงหลง ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาเนินทราย ลานหิน และทุ่งหญ้า มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งโดยเฉพาะน้ำตก
เริ่มจาก “น้ำตกเจ็ดสี” มี 3 ชั้น เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูง จึงเกิดละอองน้ำฟุ้งกระจายและพอกระทบกับแสงแดดก็เกิดเป็นสีรุ้งตามชื่อ “น้ำตกถ้ำฝุ่น” เรียกตามชื่อถ้ำที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ น้ำตก
“น้ำตกชะแนน” เดิมเรียกว่า น้ำตกตาดสะแนน ภาษาอีสานแปลว่า สวยที่สุด เป็นน้ำตก 2 ชั้นขนาดใหญ่และสวยงามเหนือคำบรรยาย
และ “น้ำตกถ้ำพระ” สูง 3 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณถ้ำที่มีลักษณะเป็นชะง่อนผา ซึ่งมีพระพุทธรูปที่สร้างโดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอีกหนึ่งน้ำตกที่มีธรรมชาติสวยงาม ยิ่งช่วงหน้าฝนจะอลังการไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ที่พร้อมบานสะพรั่งต้อนรับการมาเยือน
ปิดท้ายด้วยทริปไหว้พระสะสมบุญ เดินสายจาก “วัดอาฮงศิลาวาส” ตั้งอยู่ริมน้ำโขงในตำบลไคสี หลวงพ่อลุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่หลังจากท่านมรณภาพไปในปี 2506 ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อสมาน ริปัญโญ จึงบูรณะขึ้นมาใหม่
มีพระอุโบสถหินอ่อนซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธคุวานันท์ศาสดา คล้ายพระพุทธชินราช หล่อด้วยทองเหลือง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงแก่งอาฮง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดของน้ำโขง หรือที่เรียกว่า สะดือแม่น้ำโขง ตามตำนานเล่าสืบกันว่าพื้นที่นี้มีถ้ำใต้โขดหินใหญ่ฝั่งลาว เป็นที่ชุมนุมของเหล่าพญานาคในวันออกพรรษา และเป็นที่มาว่าเหตุใดจึงเห็นบั้งไฟพญานาคจำนวนมากในแถบนี้
เดินทางต่อไปยัง “วัดสว่างอารมณ์” หรือ วัดถ้ำศรีธน วัดสำคัญของบึงกาฬ อุโบสถตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ และบริเวณหลืบถ้ำด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน
และ “วัดเจติยาศรีวิหาร” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อวัดภูทอก ก่อตั้งโดยพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ กับสะพานไม้และบันได 7 ชั้นแห่งความศรัทธา สร้างเวียนเขาภูทอกขึ้นไปจนถึงยอดบนสุด ทำให้การเดินทางในแต่ละชั้นเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจไปกับมุมมองที่แตกต่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม
เพราะกว่าจะถึงยอดภูทอก หรือถึงซึ่งการหลุดพ้นนั้น มนุษย์ทุกคนต้องใช้ความเพียรพยายามและมุ่งมั่น
(ภาพประกอบมาจากผู้ส่งเข้าประกวดภาพถ่ายงานยางพาราบึงกาฬ)