“รมช. ประภัตร” ผลักดัน มาตรฐาน GAP – เครื่องหมาย Q เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

“ประภัตร” เดินเครื่องผลักดัน มาตรฐาน GAP และเครื่องหมาย Q เพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร นำร่อง “เมล่อน ประสิทธิฟาร์ม” เมืองสุพรรณฯ ผลิตสินค้ามาตรฐานป้อนตลาด พร้อมกระตุ้นผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q

​นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยส่งเสริมการผลิตตั้งแต่ฟาร์มให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) โดยมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และจำกัดตามหลักวิชาการ และมีการให้สัญลักษณ์ Q เพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวสาร ผัก และผลไม้

​นายประภัตร กล่าวว่า มกอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือกเมล่อน ประสิทธิฟาร์ม ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง ในการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q โดยสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งมาตรฐานและข้อมูลของเกษตรกร พร้อมหาตลาดรองรับให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลอดออนไลน์ www.dgtfram.com ร้าน Q4U (ร้านใน มกอช.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม นอกจากเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่าย มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังมีสินค้าที่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q อีกด้วย

​ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย Q เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม ซึ่งต้องปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน GAP รวมทั้งโรงคัดบรรจุผัก ผลไม้ โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ การผลิตต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติในการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMP โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 297,874 ใบ (190,815 ราย) แบ่งเป็น พืช 144,762 ใบ (127,867 ราย) ปศุสัตว์ 18,309 ใบ (18,307 ราย) ประมง 221 ใบ (221 ราย) และข้าว 134,582 ใบ (44,420 ราย)

​​“ที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดสดต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มี เครื่องหมาย Q โดยเปิดให้มีมุมจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถเลือกหาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีมาตรฐานได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q จะต้องรักษาคุณภาพ ความปลอดภัย และได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหน่วยงานที่ให้การรับรองจะติดตามตรวจสอบเป็นระยะ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่รักษาคุณภาพความปลอดภัยตามมาตรฐาน จะถูกยกเลิกการใช้เครื่องหมาย Q ฉะนั้น สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกหาสินค้าคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องเลือกสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เท่านั้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว