การเกษตรในร่ม ดีอย่างไร

ข่าวฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ผู้เขียนต้องหาหน้ากากมาสวมป้องกัน เพราะรู้สึกระคายเคืองจากการหายใจและแสบคอ ความตื่นตัวงวดนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปน้อยกว่าครั้งที่แล้ว ที่ตื่นตระหนกขนาดทำให้หน้ากากป้องกันขาดตลาด ต่อไปสภาพอากาศคงเป็นเรื่องที่ “คนเมือง” ต้องให้ความสนใจเป็นกิจวัตรประจำวัน และภาพผู้คนที่เดินตามท้องถนนสวมมาสก์ปิดปากปิดจมูกคงเป็นภาพชินตา

ถ้าฝุ่นละอองดังกล่าวที่เปรียบเสมือน “หมอกควันพิษ” มีผลเสียต่อสุขภาพของคน การเพาะปลูกท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาแบบนี้ จะส่งผลต่อสุขอนามัยจากการบริโภคหรือไม่?

จากรายงานวิจัย ของ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า “การเกษตรในร่ม หรือ Indoor farming เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของภาคการเกษตร ที่ค่อยๆ มีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในไทย โดยการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ รวมถึงเทรนด์การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของการเกษตร แบบ Indoor farming ในไทย

การเกษตรในร่ม หรือ Indoor farming คือ การทำเกษตรในสถานที่ปิด อย่างเช่น อาคารโรงเรือน มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของผัก ผลไม้ เช่น การให้น้ำ-ปุ๋ย ปริมาณแสงแดด เป็นต้น ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยๆ คือ การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) เป็นการปลูกผักโดยให้รากแช่อยู่ในน้ำที่มีธาตุอาหารละลายอยู่ การเกษตรในร่มจะช่วยลดพื้นที่เพาะปลูกและแรงงาน ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้รับความนิยมและมีธุรกิจให้บริการจำนวนมาก โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

รูปแบบการเกษตรในร่ม ที่ผู้เขียนให้ความสนใจ คือ การเพาะปลูกพืชแนวตั้ง (Vertical Farm) การปลูกพืชเป็นชั้นๆ ในโรงเรือนที่มีหลังคา อาจมีตาข่ายป้องกันแมลงเข้ามากัดกินผลผลิต มีการควบคุมน้ำ ปุ๋ย แสง สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก และปลูกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล การเพาะปลูกพืชแนวตั้งได้รับความนิยมแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยนำ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things – IoT) “การเรียนรู้ของเครื่อง” (Machine Learning) “ระบบอัตโนมัติ” (automation) “หุ่นยนต์” (Robotic) มาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูกภายใต้การควบคุมปัจจัยต่างๆ และหารูปแบบการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เป็นต้น

การเกษตรในร่ม จะทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ ช่วยลดความผันผวนได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม แต่จะมีอุปสรรคที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในเรื่องระบบและเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการ ส่งผลให้ผู้สนใจทำการเกษตรในร่มส่วนใหญ่จะเลือกเพาะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาสั้น เพิ่มความถี่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และขายสู่ตลาดได้หลายรอบ ดังนั้น ผู้เขียนอยากเชิญชวนเกษตรกรหรือผู้สนใจ Indoor Farming ลองศึกษาพัฒนาระบบเอง โดยสามารถดูตัวอย่างได้จากผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน-สิงคโปร์ (YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=cY7O5YNxKuI) เพื่อทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง และสามารถต่อยอดเป็นผู้ให้บริการด้านนี้ต่อไป เกิดความแพร่หลายเป็นผลดีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ข้อจำกัดด้านพื้นที่การเพาะปลูก สภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้การเกษตรในร่มมีความก้าวหน้ามากในประเทศหรือพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว เพราะฉะนั้นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็มาจากข้อจำกัดที่มีนั่นเอง

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก รวมทั้งมีแหล่งน้ำและแรงงานที่เพียงพอ เราเป็นผู้นำผลผลิตการเกษตรในหลายประเภท แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีผลผลิตทำนองเดียวกัน ผู้เขียนจึงเชื่อว่า หากมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น ผลผลิตจะก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม การเกษตรในร่มเหมาะสมกับการเพาะปลูกผักและผลไม้บางชนิดเท่านั้น และที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา จะเป็นผักผลไม้เมืองหนาว เช่น ผักสลัด เมล่อน สตรอเบอรี่ เป็นต้น จึงทำให้มีตลาดจำกัด เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และยินดีที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษที่ราคาสูงกว่าปรกติทั่วไป

ผู้เขียนมีไอเดียเสนอให้คอนโดมิเนียมจำนวนมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS และ MRT ลองทำการเพาะปลูกผักแนวตั้งตามแนวทางการเกษตรในร่ม ผลผลิตที่ได้ก็จัดจำหน่ายภายในโครงการหรือชุมชนละแวกใกล้เคียง จะได้ผักผลไม้ที่สดใหม่ หรือหากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขึ้นโครงการต่างๆ อาจจะเอาการเกษตรในร่มไปทำเสริมเพื่อเป็นจุดขาย หรือเป็นการสร้างภาพลักษณ์องค์กร หรือทำเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ข้อพึงระวังสำหรับผลผลิตจากการเกษตร แม้ได้รับการเพาะปลูกแบบปลอดจากสารเคมีแล้ว แต่เมื่อผ่านกระบวนการบรรจุหรือขนส่งและประสบสภาวะการปนเปื้อน ก็ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างในเมืองไทย มีกลุ่ม noBitter สร้างโรงเรือนปลูกผักขนาดเล็กกลางเมือง เป็นโครงการทดลองปลูกผักขึ้นมา ณ จุดขาย สาขาแรกอยู่ใจกลางสยามสแควร์ ปลูกผักเคล (Kale) ซึ่งเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก แต่หาซื้อได้ยากในประเทศไทย

noBitter มองว่า การปลูกผักในปัจจุบัน ระบบการขนส่งผักมายังตัวเมืองจะใช้เวลามาก และอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของสิ่งต่างๆ หรือเน่าเสีย จึงนำเสนอแนวคิดใหม่ด้วยการปลูกผักขึ้นมาแล้วให้ผู้บริโภคมาซื้อ ณ จุดขาย ได้เลย แม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วงทดลองแต่ก็ได้รับการสั่งล่วงหน้าเป็นเดือน

EIC มองว่า ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนการเกษตรในร่ม ให้มีบทบาทเชิงพาณิชย์มากขึ้นนั้น อยู่ที่การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถเพาะปลูกพืชได้หลากหลายประเภท ควบคู่ไปกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของสินค้าเกษตรแบบนี้ เช่น ปลอดภัยจากสารพิษ ประหยัดทรัพยากรในการเพาะปลูก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจและหันมาบริโภคสินค้ากลุ่มนี้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

ผู้เขียนหวังว่า เหตุการณ์ในภาพยนตร์ไซไฟ (ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์) แสดงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ในโดมขนาดใหญ่มหึมา มีการควบคุมสภาพอากาศเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และหากใครออกไปจากพื้นที่นี้ ก็ต้องเสียชีวิตจากมลภาวะอากาศเป็นพิษ คงจะไม่เกิดขึ้นกับโลกของเรา