เปลี่ยนศัตรูข้าวเป็นจานเด็ด จับ “หนูนา” ลงบ่อซีเมนต์ขุนให้อ้วน ส่งขายทำเงินเดือนละหมื่น

วันที่ 1 มีนาคม 2560 นายเชาวฤทธิ์ แสนปรางค์ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 2 บ้านมะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ตนเองทำงานเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลมะค่า มักใช้เวลาว่างจับหนูนาที่อาศัยตามธรรมชาติมาขายและทำเป็นอาหาร โดยพื้นที่ตำบลมะค่าเป็นพื้นที่ที่ติดน้ำชีและมีพื้นที่การทำนามาก จึงมีหนูนาหรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกกันว่า “หนูพุก”มาหาอาหาร ซึ่งหนูนา ถือเป็นศัตรูของข้าว มักจะกัดกินต้นข้าวรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ตนจึงได้ออกหาหนูนามาทำกินเป็นอาหาร ส่วนที่เหลือก็นำออกขาย

นายเชาวฤทธิ์ กล่าววว่า ช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวในปีที่ผ่านมาตนเองไปดักหนูนามาได้ทีละ 20-30 ตัว จึงนำไปขาย โดยลูกค้ามักจะเลือกซื้อตัวใหญ่ไป เหลือตัวเล็กกลับมาบ้าน จึงลองนำมาปล่อยใส่บ่อซีเมนต์ที่เคยเลี้ยงจิ้งหรีด หวังเลี้ยงให้ตัวโตก่อนนำไปขายอีกครั้ง ต่อมาเห็นหนูนาตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงลองจับหนูนาตามธรรมชาติมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น พร้อมกับทดลองคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเลี้ยงเป็นคู่เพื่อหวังให้แพร่พันธุ์ต่อ จนในที่สุดจึงประสบความสำเร็จมีลูกหนูเพิ่มจำนวนขึ้น จึงได้เลิกเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วขยายพื้นที่ มุ่งเลี้ยงหนูนาเพียงอย่างเดียว ด้วยการนำท่อซีเมนต์สองท่อมาต่อให้สูงประมาณ 1 เมตร เป็นบ่อเลี้ยงหนูนาซึ่งล่าสุดมีจำนวน 9 บ่อ

นายเชาวฤทธิ์กล่าวต่อว่า หนูนาเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย เมื่อจับมาแล้วเพียงปล่อยลงไปรวมกันในบ่อ โดย 1 บ่อจะใส่หนูนาไปเลี้ยงรวมกันประมาณ 5 – 10 ตัว ส่วนอาหารจะให้วันละ 1 ครั้ง โดยให้กินมันสำปะหลังสับ หญ้ามอส ข้าวปลาย ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติสลับกันไป เปลี่ยนน้ำสะอาดให้หนูกินสองวันครั้ง และทำความสะอาดบ่อหนูสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันความสกปรก ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ตัวโตเต็มที่น้ำหนักตัว 400 – 600 กรัม บางตัวอาจถึง 1 กิโลกรัม โดยหนูนาจะนำไปขายตามตลาดชุมชน ขายอยู่ที่ตัวละ 70 – 100 บาท มีลูกค้าประจำมาเหมาซื้อไปประกอบอาหาร ซึ่งเมนูเด็ดคือเมนูย่างหนูและแกงอ่อมหนู หากตัวใหญ่หรือพ่อพันธุ์จะมีลูกค้าทั้งจากจังหวัดมหาสารคามและใกล้เคียงมาจองและรับซื้อถึงที่ ขายอยู่ที่ตัวละ 200 บาท ถือเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมากแต่สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มจากงานประจำถึงเดือนละ 10,000 – 15,000 บาท