เผยแพร่ |
---|
ม.นเรศวร ส่งมอบกล้าพันธุ์สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 แก่เกษตรกรในพื้นที่เขาค้อ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คาดมีรายได้เพิ่มร้อยละ 20 ขณะที่ สกว.เดินหน้าสนับสนุนการผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งเพื่อการพาณิชย์ในจังหวัดราชบุรี โดยใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หวังส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป
ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการการปรับปรุงและขยายพันธุ์สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งนักวิจัยได้ปรับปรุงพันธุ์สตรอเบอรี่เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโธไซยานิน และการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง รวมถึงลดความเสี่ยงจากการติดไวรัส ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง โดยล่าสุดนักวิจัยได้ส่งมอบกล้าพันธุ์สตรอเบอรี่ จำนวน 100,000 ต้น แก่เกษตรกรในพื้นที่เขาค้อ รวมถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
นอกจากนี้ สกว. ยังสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การผลิตต้นพันธุ์หน่อไม้ฝรั่ง เพื่อการพาณิชย์ในจังหวัดราชบุรี” เพื่อคัดเลือกต้นหน่อไม้ฝรั่งสำหรับเป็นแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากและขยายตัวบริโภคอาหารรักษ์สุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะหน่อไม้ฝรั่งมีแคลอรีต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิดและกรดโฟลิก รวมถึงเป็นแหล่งของแอสพาราจีน กรดอะมิโน ที่มีส่วนช่วยในพัฒนาการทางสมองของเด็ก โดยหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักที่ปลูกมากในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ซึ่งสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งเพาะปลูกหน่อไม้ฝรั่งและตลาดส่งออกค่อนข้างสูง
นักวิจัยระบุว่า ผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งจะเป็นสีขาวหรือสีเขียวขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่ต่างกัน โดยเพศผู้จะให้ผลผลิตดีกว่าเพศเมีย ขณะที่ความต้องการของตลาดนิยมบริโภคในรูปหน่อสดและอุตสาหกรรมแปรรูป เกษตรกรจึงหันมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งกันมากขึ้น แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ จึงควรส่งเสริมการเพาะปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น โดยในฤดูฝนจะมีโรคระบาดหลายชนิด เหมาะแก่การคัดเลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทานต่อโรค นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค เช่น ทิศทางลม สภาพความชื้น อายุและความแน่นของใบ หรือระยะปลูกต่างๆ ขณะที่ฤดูร้อนต้องคัดเลือกต้นที่หน่อมีขนาดยาวแต่ยังคงตูมอยู่ ส่วนลำต้นให้กิ่งแขนงล่างสุดสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งนักวิจัยได้เตรียมเนื้อเยื่อและฟอกฆ่าเชื้อภายใต้สภาวะสุญญากาศและล้างด้วยน้ำกลั่น ก่อนนำไปเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ รวมถึงศึกษาเทคนิคการชักนำยอดและการเพิ่มจำนวนยอด เทคนิคการชักนำราก ตลอดจนผลของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีผลต่อเนื้อเยื่อของหน่อไม้ฝรั่ง และวัสดุปลูกที่มีผลต่อการรอดชีวิตและการเจริญเติบโตของหน่อไม้ฝรั่งในสภาพโรงเรือน
ผลการศึกษาทำให้ได้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้เพิ่มปริมาณต้นกล้าพันธุ์ดีในปริมาณมากและรวดเร็ว ลดการระบาดของโรคต้นเน่า รากเน่า หน่อไม้ฝรั่งมีความสม่ำเสมอ ลักษณะหน่อบานน้อยกว่าการเพาะเมล็ด การติดหน่อสม่ำเสมอ สามารถผลิตในเชิงการค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออก และสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยผู้วิจัยได้ส่งมอบต้นกล้ากว่า 100,000 ต้น แก่เกษตรกรในจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี ขณะที่ผู้ประกอบการในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (บริษัท บลู ริเวอร์โปรดักส์ จำกัด) สามารถนำต้นพันธุ์ไปส่งเสริมการผลิตหรือจำหน่ายให้เกษตรกรในเครือข่ายปลูกเชิงการค้าเพื่อส่งออกต้นหน่อไม้ฝรั่งไปยังต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายต้นกล้าในราคา 20-25 บาท สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการถึงปีละ 1.2-1.5 ล้านบาท
“เกษตรกรจะมีรายได้จากการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งเกรดเอในราคากิโลกรัมละ 90 บาท โดยในพื้นที่ 20 ไร่ จะได้ผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งจำนวน 2,800 กิโลกรัม หากผลผลิตเป็นเกรดเออย่างน้อยร้อยละ 50 เกษตรกรจะมีรายได้ 1.26 แสนบาท ส่วนเกรดบีราคากิโลกรัมละ 60 บาท ส่งไปจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างบิ๊กซีและโลตัส รวมทั้งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ขณะที่เกรดซีกิโลกรัมละ 30 บาท จำหน่ายตามตลาดขายปลีก ซึ่งตนและผู้ประกอบการหวังที่จะขับเคลื่อนการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย จึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการทำวิจัยการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนการขนส่งต่อไป”