อดีตช่างภาพพูลิตเซอร์ ปลูกพืชผสมผสานอินทรีย์ ทำเงินรายวัน รายเดือน รายปี ทางรอด ไม่ใช่ ทางเลือก

ในการจัดงาน วันยางพารา 2563 : BUENGKAN MODEL 2020 ที่สนามที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ได้จัดให้มีการเสวนา เรื่อง “ปลูกและแปรรูปข้าวอินทรีย์” โดย คุณอร่าม ทรงสวยรูป เกษตรกรอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา อดีตช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ ปัจจุบันประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการทำนาอินทรีย์ และการปลูกพืชผสมผสาน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตร

คุณอร่าม พูดคุยบนเวทีปราชญ์ชาวบ้าน ถึงแนวคิดในการปลูกข้าวอินทรีย์ ว่า พ่อแม่เป็นชาวนา ส่งให้ลูกเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี แต่ไม่ยอมให้กลับมาทำนา เมื่อเดินหน้าทำงานบริษัทในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง มองเห็นว่า ความสุขที่ได้จากการทำงาน กับความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่กำหนดเอง มีอิสระในอาชีพ มีความแตกต่างกัน ความสุขประการหลังมีมากกว่า จึงตัดสินใจกู้เงินธนาคารเพื่อนำไปซื้อที่ดิน 10 ไร่ ที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ตั้งใจทำการเกษตร ซึ่งยังคงทำงานประจำอยู่ และใช้เวลาในวันหยุดไปพัฒนาที่ดินที่ซื้อไว้

คุณอร่าม เรียกที่ดินทำกินผืนนี้ว่า “ออฟฟิศชาวนา” เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นแปลงนา ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ ประมาณ 4 ไร่ พื้นที่ที่เหลือปลูกพืชไว้หลายสิบชนิด เรียกว่า การปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

“ออฟฟิศชาวนา หมายถึง เรามีรายได้ทุกฤดูกาล เมื่อหมดหน้านา ก็เก็บผลผลิตจากพืชอื่นขายได้ มีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี”

คุณอร่าม เริ่มทำการเกษตรด้วยการวางพิมพ์เขียวบนพื้นที่ 10 ไร่ คิดก่อนลงมือทำ คิดว่าจะทำนาอย่างไรให้อยู่รอด พื้นที่ที่มีต้องทำเท่าไรจึงจะเลี้ยงครอบครัวได้ และลงตัวที่การทำนา ปลูกอินทผลัม ปลูกโกโก้ ปลูกมะนาว ปลูกพริกแซมระหว่างต้นอินทผลัมและต้นโกโก้ อ้อยคั้นน้ำ กาแฟโรบัสต้า กาแฟอะราบิก้า ผักพื้นถิ่นหลายชนิด  และไม้ยืนต้นอีกหลายชนิด อาทิ พะยูง ยางนา สะเดา ติ้ว กระโดน และผักหวานป่า ซึ่งทุกอย่างเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ คำนึงถึง คำว่า “ขี้หมูกินหัว ขี้วัวกินใบ ขี้ไก่กินลูกกินผล” นำมาปรับใช้ในการทำสารทดแทนปุ๋ยหรือจุลินทรีย์ใช้ในการบำรุงรักษาพืช

การทำเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ คือ ใจต้องแข็ง เพราะในระยะ 5 ปีแรก ผลผลิตจะได้น้อย แต่หลังจากนั้นผลผลิตที่ได้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งยังจำหน่ายได้ราคาดีเพราะเป็นเกษตรอินทรีย์ สิ่งสำคัญรองลงมาของการทำการเกษตร คือ น้ำ หากพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอ ต้องขุดสระกักเก็บน้ำ เพราะพืชต้องการน้ำในการดำรงชีวิต ซึ่งหลักในการทำเกษตรอินทรีย์ของคุณอร่าม มี 4 ก คือ

  1. อุดมการณ์ ผลผลิตที่ได้ต้องสะอาด ปลอดภัย
  2. ประสบการณ์ เกษตรกรต้องพร้อมเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่
  3. วิชาการ ต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ นำมาปรับใช้กับการเกษตรในพื้นที่ และ
  4. การตลาด ปลูกแล้วต้องมีตลาดขาย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มเรื่องของการตลาด ควรปลูกให้ได้ผลผลิตก่อน แล้วนำมากินเอง แจกเพื่อน จากนั้นจึงไปสู่ระบบของการขาย

“แรกๆ ที่ผมปลูกข้าว คนอื่นปลูกข้าวได้ผลผลิต 700 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ผลผลิตที่ผมได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ 200 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่หลังจากนั้น 5 ปี เราลดต้นทุนเรื่องของปุ๋ยและสารเคมีลง เราได้ผลผลิต 700 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่าคนอื่น และยังขายได้ราคาดีกว่าด้วย”

“ที่ต้องบอกว่า ทำเกษตรอินทรีย์และการปลูกพืชผสมผสาน ต้องอดทน เช่น ปลูกอินทผลัม กว่าจะได้ขายใช้เวลา 4 ปี แต่หลังเราขายข้าวเสร็จ เราขายอินทผลัม ผมขายกิโลกรัมละ 700 บาท ปลูก 49 ต้น ได้ผลผลิตต้นละ 70 กิโลกรัม รายได้เท่ากับเราทำนา 2 ไร่ เกษตรกรเราต้องคิดว่า ถ้าเราจะปลูกพืชอะไรก็ตาม ต้องให้คุ้มกับการปลูก ระหว่างต้นอินทผลัมผมปลูกโกโก้ ให้ปุ๋ยครั้งเดียว รดน้ำครั้งเดียว เท่ากับรดน้ำใส่ปุ๋ยกับพืช 2 อย่าง และระหว่างต้นโกโก้กับต้นอินทผลัม ผมปลูกพริกขี้หนู ก็สามารถเก็บขายรายวันได้อีก”

คุณอร่าม บอกว่า การมีสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ทำให้การตลาดเดินหน้าได้ดี เช่น การทำนาข้าว คุณอร่ามปลูกข้าวที่ไม่มีในท้องตลาดทั่วไป เป็นข้าวพันธุ์ดั้งเดิมของไทย เช่น พันธุ์ปะกาอัมปึล เป็นข้าวพื้นถิ่นในแถบชายแดนอีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ลักษณะตามสายพันธุ์ เป็นข้าวใช้น้ำน้อย ทนแล้ง ไม่มีโรค และพันธุ์พญาลืมแกง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว ซึ่งหากปลูกโดยปกติ โรงสีไม่รับซื้อ กลายเป็นจุดอ่อนของเกษตรกรที่เกรงว่าปลูกแล้วจะขายไม่ได้ แต่คุณอร่ามหยิบมาเป็นจุดแข็ง ไม่มีเกษตรกรรายใดปลูก ทำให้สามารถขายในราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปได้ และปัจจุบันมีลูกค้าสั่งออเดอร์ข้ามปี

คุณอร่าม กล่าวฝากถึงเกษตรกรทุกคนว่า การปลูกพืชผสมผสานและทำเกษตรอินทรีย์ เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป