เกษตร ที่เนปาล เมืองในอ้อมกอดหิมาลัย (ตอนจบ)

ติดปีกบินข้ามฟ้ามาใกล้เทือกเขาหิมาลัยขนาดนี้ บรรยายไปเฉพาะเรื่องของวิถีชีวิตที่สำรวจมาได้ ตาทั้งสองข้างยังไม่พอ คงต้องพูดถึงเป้าหมายของการมาเนปาลครั้งนี้ว่า แท้ที่จริงแล้ว มาเพื่ออะไร

ประการแรก เพียงเพื่อให้ได้มา เนปาล ประเทศที่อยู่ในห้วงใจลึกๆ ส่วนประการอื่น ขึ้นกับหัวหน้าทริปและผู้ร่วมเดินทางอีก 14 คน ซึ่งได้ทราบก่อนเดินทางเพียง 1 สัปดาห์ ว่า เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้คือ การดูนก และเก็บภาพนกที่หายากหรือไม่พบแล้วในเมืองไทย โดยผู้เดินทางทุกคน ยกเว้นผู้เขียน มีประสบการณ์การดูนก การถ่ายภาพ และการถ่ายภาพนกระดับมือโปรทั้งนั้น

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ว่าการเดินทางจากเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวง มายังเมืองโพคารา ใช้เวลาเดินทาง 7-8 ชั่วโมง ทำให้การเดินทางในวันแรกหมดลงอย่างน่าเสียดาย เข้าที่พักก็ค่ำ ไม่ทันเห็นความศิวิไลซ์ที่น้อยนิดของเมืองโพคารา ที่จัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวของเนปาล

เมื่อเป้าหมาย คือ การดูนก เก็บภาพนก เราจึงพุ่งเป้าไปที่ Dhampus ห่างออกจากตัวเมืองไปเกือบ 1 ชั่วโมง เมื่อเดินทางด้วยรถบัส ยิ่งนั่งรถออกนอกตัวเมืองโพคาราเข้าใกล้ Dhampus มากเท่าไร เหมือนเดินเข้าใกล้เทือกเขาอันนะปุรณะ (Annapurna Massif) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตก ในประเทศเนปาลมากเท่านั้น เพราะตลอดเวลาที่รถมุ่งหน้าไป Dhampus พ้นขอบเมืองไปเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งห่างๆ แม้จะติดถนนที่รถสัญจรไปมา แต่กลิ่นความเป็นชนบทก็เพิ่มมากขึ้น ไม่มีตึก มีเพียงบ้านชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง ตั้งอยู่เป็นกระจุก ระยะที่ห่างบริเวณที่ราบของชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาจากขอบถนนไปจรดทิวเขาที่เรียงยาวไปตามแนวถนนทั้งสองฝั่ง

เทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตก ยอดแหลมที่เห็น คือ ยอดเขามัจฉาปูชเร (Machhapuchhre)

พื้นที่ทำนา ลักษณะคล้ายการทำนาบนพื้นที่สูงในไทย คันนาถูกปรับลาดไปซ้ายขวาตามพื้นที่ ไม่มีขอบชัดเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยังคงนึกภาพในช่วงที่ข้าวยังไม่ออกรวง ต้นข้าวที่เขียวสด น่าจะสร้างสีสันให้กับเมืองได้มากทีเดียว แต่แม้จะไม่เป็นเช่นนั้นในวันที่เห็น สีสันของตัวบ้านเกือบทุกหลัง จะมีหลุดรอดไปไม่ทาสีสดก็เพียงส่วนน้อยมาก ก็ช่วยเพิ่มสีสันในชนบทของเนปาลวันที่เก็บเกี่ยวข้าวได้เหมือนกัน

สังเกตเห็นนอกเหนือจากสีสันที่บรรจงทาไว้ที่ผนังบ้าน สิ่งที่มากกว่าสี คือ โฆษณา ลักษณะคล้าย Street Art หรือศิลปะบนกำแพง แต่เน้นหนักไปที่การโฆษณาเครื่องดื่ม และเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ใช้ในประเทศ แนวให้จดจำได้ง่าย เพราะความถี่ของโฆษณาบนกำแพงบ้านมากเหลือเกิน

ทะเลสาบฟีวา (Phewa Tal หรือ Fewa Lake)

เมื่อรถจอดให้ลง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนรถเป็นรถขนาดเล็ก เพื่อสะดวกต่อการเดินทางไปยัง Dhampus ซึ่งจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่นักปีนเขาเลือกใช้เป็นจุดเริ่มต้น (ยังมีเส้นทางอื่นที่ใช้ได้เช่นกัน) เดินขึ้นไปสู่แบสแคมป์ที่ 1 ก่อนจะเริ่มปีนสู่ยอดเขา อันนาปุรณะ I (Annapurna I) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก มีความสูง (8,091 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล) และยังขึ้นชื่อว่าเป็นภูเขาที่อันตรายที่สุดในโลก ดูจากอัตราการเสียชีวิตของนักปีนเขา แต่ที่กล่าวมา เราไม่ได้ไปปีนยอดเขา อันนาปุรณะ I แต่เรามาเพื่อไปดูนก จุดที่เป็นที่โล่ง เป็นเนินกว้าง มองได้รอบทิศทาง เป็นจุดที่นักดูนก นับจำนวนนก และถ่ายภาพนกจากทั่วโลก นิยมมาที่นี่ โดยนกในที่นี้เน้นไปที่ แร้ง เหยี่ยว และอินทรี ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี จะพบแร้ง เหยี่ยว และอินทรี ได้มากที่สุด

จุดที่เป็นที่โล่ง เป็นเนินกว้าง มองได้รอบทิศทาง ที่กล่าวถึง ตั้งอยู่บริเวณ Australian Base Camp ซึ่งเดินเท้าจากเชิงเขาไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ความสูงราว 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นจุดแรกที่นักเดินเท้าไปยังยอดเขาอันนะปุรณะ I จะพบ แต่เราจะหยุดที่นี่

กลุ่มนักดูนก
เหยี่ยวดำ

ระหว่างทางเสมือนเดินขึ้นเขาในไทย เพียงแต่ภูเขามีความเป็นเนื้อหินค่อนข้างมากกว่าเนื้อดิน ต้นไม้สูงต่ำเล่นระดับกันไปตลอดทาง ความรกครึ้มจากความชื้นเพราะสภาพอากาศเย็นพบได้ตั้งแต่เชิงเขา และเชิงเขายังคงรูปแบบเดียวกับการทำนาขั้นบันไดในหลายประเทศ

อาจเพราะเส้นทางเดินขึ้นเขานี้ เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นประจำ เนื่องจาก Australian Base Camp ใช้เวลาเดินเท้าขึ้นไปเพียง 1-1.30 ชั่วโมง เท่านั้น หากไม่พักค้างแรม ก็สามารถเดินกลับลงมาได้ภายในวันเดียว ทำให้เส้นทางเดินเขาถูกปูด้วยหินก้อนใหญ่แทนขั้นบันไดและทางเดิน มีสลับกับทางเดินเขาปกติบ้างในช่วงที่ไม่มีบ้านคนตั้งอยู่ แม้จะชันและเดินยากอยู่บ้าง แต่ก็มีจุดพักระหว่างทางได้

กา พบจำนวนมาก
นกเขนน้อยสีทอง

ใครที่ต้องการเดินเส้นทางนี้ เพื่อขึ้นไปพักแรมบน Australian Base Camp หากกระเป๋าไม่หนักมากและขามีความแข็งแรงมากพอ ก็แบกกระเป๋าไปด้วยตนเองไม่ผิดกติกา แต่ถ้าพิจารณาตนแล้ว ลูกหาบ หรือ Porter จะช่วยผ่อนแรงส่วนนี้ได้มากกว่า เพื่อที่จะเดินเท้าด้วยการแบกน้ำหนักตัวเองไปให้ถึง ก็ควรจ้าง Porter เพราะสนนราคาจ้าง Porter ต่อคน (แบกน้ำหนัก ประมาณ 20 กิโลกรัม) ประมาณ 1,200-1,500 รูปี หรือราว 300-400 บาท ต่อครั้ง

Porter เป็นชาวเนปาลท้องถิ่น ที่รับจ้างแบกสัมภาระขึ้นเขา จำนวนผู้หญิงและผู้ชายคละกัน การแบกสัมภาระใช้วิธีนำกระชุแบบบ้านเรา มีสายสะพายเข้ากับไหล่ 2 สาย คล้ายเป้ นำขึ้นหลัง บ้างใช้วิธีโพกผ้าที่ศีรษะแล้วยกเทินขึ้นบนศีรษะ หากเป็นกระเป๋าเดินทางล้อลากที่มีทรงเหลี่ยมแข็ง Porter จะใช้เชือกเกลียวที่มีความเหนียวคล้องกับกระเป๋าเดินทางไว้ แล้วแบกขึ้นหลังแทนกระชุ ระหว่างทางเดิน Porter จะหยุดพัก 2 จุด ก่อนถึง Australian Base Camp ส่วนใหญ่เป็น Porter ผู้หญิงที่พัก ผู้ชายเป็นส่วนน้อย แต่ถึงกระนั้น หากลองเดินไปพร้อมกับ Porter ที่แบกสัมภาระเต็ม คงต้องยอมความแข็งแรงของอาชีพนี้

นกเขนสีฟ้าท้ายสีน้ำตาลตัวผู้
นกเอี้ยงถ้ำ

คณะที่เดินทางด้วยกันทั้ง 16 ชีวิต ไม่ได้เดินขึ้นเขาต่อเนื่องเหมือนนักท่องเที่ยวรายอื่น ล้วนแวะระหว่างทางเป็นระยะ ด้วยวิถีของนักดูนก เมื่อเข้าป่าขึ้นเขาได้ยินเสียงนกก็อดไม่ได้ที่จะต้องเก็บภาพ อีกทั้งนกที่ว่า ก็เป็นนกที่พบได้ยากในเมืองไทย และบางชนิดไม่พบในเมืองไทยแล้ว เช่น นกกระราง นกปรอด นกหางรำ นกเดินดง เป็นต้น

Australian Base Camp มีที่พัก 5-6 ราย ตั้งอยู่ติดกัน มีรั้วหินกั้นสวยงาม คล้ายบ้านหลังใหญ่ที่มีพื้นที่เป็นสัดส่วนของที่พัก ภายในห้องพักไม่กว้างนัก ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีแต่ระบบทำน้ำร้อนด้วยแก๊ส ปรับอุณหภูมิได้ที่เครื่อง สนนราคาห้องพักที่นี่ราว 270 บาท ต่อห้อง ต่อคืน ในตอนกลางวันของบางวันและบางห้องพักไฟอาจไม่พอ ทำให้ปลั๊กไฟในห้องพักหรือไฟดวงส่องสว่าง ใช้ได้ไม่ครบทุกปลั๊กหรือทุกดวง และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทุกๆ ที่พักจะมีสัญญาณไวไฟไว้ให้สำหรับลูกค้าอยู่แล้ว

แร้งเทาหลังขาว
เหยี่ยวออสเปรย์

กลุ่มนักดูนก ใช้เวลาพักแรมที่ Australian Base Camp เป็นเวลา 3 คืน เพื่อเก็บภาพแร้ง เหยี่ยว อินทรี และนกหายากให้เต็มเหนี่ยว จากที่พักเราเดินไปเพียง 120 เมตร ลานกว้างบริเวณนั้นเปิดโล่งรอคอยนักปักษีทุกเชื้อชาติ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่จรดหัวค่ำ อุปสรรคของการดูนก คือ เมฆหมอกที่ลงต่ำ ฟ้าปิด แดดอ่อน มีผลทำให้การถ่ายภาพทำได้ยาก เพราะต้องถ่ายภาพนกขณะร่อนบนท้องฟ้า ทั้งแร้ง เหยี่ยว อินทรี แต่ละชนิดไม่ได้ร่อนวนให้ชมได้ง่าย นานๆ จะโผล่มา หรืออาจจะโฉบแล้วหายไป หรืออาจจะไม่มาเลย ขึ้นอยู่กับอะไรนั้นส่วนนี้ผู้เขียนไม่ทราบได้ ดังนั้น เมื่อพบสัตว์ปีกชนิดที่ต้องการ เสมือนความพิเศษของวัน การรอคอยจึงจะคุ้มค่าและสมเหตุสมผลของการมา Australian Base Camp ในคราวนี้

แม้จะได้ถ่ายภาพด้วยตนเอง แต่ก็ใช่ว่าจะจำชื่อได้หมดทุกตัวที่ผ่านน่านฟ้าไป สอบถามหัวหน้าทริปที่พามา บอกชื่อนกที่โฉบมาให้เห็นตามนี้ เหยี่ยว​ดำ แร้งหิมาลัย​สีน้ำตาล อินทรีสเต็ป อินทรีดำ อินทรีเล็ก นกเขนน้อยสีทอง นกเขนสีฟ้าท้ายสีน้้ำตาล นกปรอดดำ นกกระรางลาย นกกระรางคอขาว นกเดินดงอกดำ ที่มากที่สุด เห็นจะเป็นเหยี่ยวดำ และ อีกา เพียงเท่านี้ ก็ทำให้อกฟูไปตามๆ กัน

นกอีโก้ง
นกยางโทนน้อย

ในบรรดานักดูนกที่เดินทางมาด้วยกันทั้งหมดนี้ ไม่ขอเอ่ยชื่อเสียงเรียงนาม เพราะเป็นบุคคลระดับแถวหน้าทั้งนั้น ซึ่งผู้เขียนเองไม่ได้มีประสบการณ์การดูนกมาก่อน ต้องคอยเงี่ยหูฟังการเรียกชื่อ การขนานนาม และจับเทคนิคการถ่ายภาพนก ลักษณะนิสัยของนกแต่ละชนิดจากการพูดคุยของมือโปรทั้งหลาย เพื่อนำมาเป็นประสบการณ์ในการถ่ายทอดเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นและเก็บบันทึกไว้ในความทรงจำ เพราะอาจมีวันหนึ่งวันใดที่มีโอกาสนำออกมาใช้ก็ได้

จะว่าไป 3 วัน ที่ค้างแรม มี 1 วัน ที่โชคร้าย ฟ้าไม่เปิดเท่าที่ควร อีกวันพอทำเนา แต่โชคดีในวันสุดท้ายที่ได้เห็นท้องฟ้าโล่ง โปร่ง สีฟ้าสะอาดสด เทือกเขาหิมาลัยด้านหิมาลัยตะวันตก เปิดให้เห็นยอดที่ถูกสาดด้วยแสงอาทิตย์ยามเช้า ลองนึกภาพที่หิมะปกคลุมเทือกเขาหิมาลัย แต่มีแสงอาทิตย์สาดไล่จากยอดลงมา มีความประกายและสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก การบันทึกภาพด้วยกล้อง จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยเก็บความทรงจำไว้ได้

เป็ดดำหัวสีน้ำตาล
แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

ถึงเวลาเก็บกระเป๋าเดินเท้าลงจากเขา เส้นทางตามเดิม แค่ต้องร่ำลาบรรยากาศและความรู้สึกที่นอนเคียงเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตกตลอด 3 คืน เท่านั้น

เวลาที่เหลืออีก 2 วัน ก่อนเดินทางกลับ เรายกให้กับการเดินทางไปสถานีวิจัยแร้งของเนปาล ซึ่งชี้เป้าให้เราไปบริเวณที่ทิ้งซากให้แร้งกิน หรือที่เรียกว่า ภัตตาคารแร้ง JATAYU อยู่ห่างออกไปจากชุมชนราว 50 นาที ตามเส้นทางเลาะเขา ผ่านหมู่บ้าน ท้องนา เลาะริมแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ซากที่เอ่ยถึงเป็นซากที่อยู่ในภัตตาคารแร้งแห่งนั้น แล้วปล่อยให้ตายเอง ไม่ได้ฆ่าแล้วนำซากมาทิ้ง ทำให้เราเก็บภาพแร้งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้จำนวนหนึ่ง

ถัดมาเป็น “กองขยะ” ทำไมต้องมากองขยะ สาเหตุเพราะบริเวณกองขยะแห่งนี้ เพราะที่นี่เป็นที่ทิ้งขยะแหล่งใหญ่ของเมืองโพคารา ห่างจากตัวเมืองพอสมควร ขยะประเภทหนึ่งคือ ขยะสด ที่เป็นเศษอาหาร ซากของเสีย ก็เป็นอาหารอันโอชะของนกด้วยเช่นกัน การเข้ามาที่นี้จึงทำให้พบกับแร้งอียิปต์วัยต่างๆ และพญาแร้ง

แร้งอียิปต์ พบที่หน้าผา บริเวณกองขยะ
ทางเดินเลียบแม่น้ำไปยังภัตตาคารแร้ง JATAYU

เราจบทริปด้วยความจำเป็น ที่ทะเลสาบฟีวา (Phewa Tal หรือ Fewa Lake) บรรยากาศการถ่ายภาพนกเปลี่ยนไป แต่นักดูนกก็กระปรี้กระเปร่ามากกว่าภัตตาคารแร้งที่ผ่านมา เพราะได้พบกับ เหยี่ยวออสเปรย์ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล เป็ดโปชาด​ เป็ดพม่า​ กาน้ำใหญ่​ กระสาดำ​ กระสาคอขาว​ ซึ่งทั้งกระสาดำและกระสาคอขาว พบได้ยากมากในบ้านเรา

โดยสรุปรวม ถือเป็นทริปสุดยอดของนักปักษี และคาดว่าจะมีทริปต่อไปอีก โดยยืดระยะเวลาจาก 7 วัน เป็น 9 วัน เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในจุดที่ขาดหายไป ใครติดใจหรืออยากลองประสบการณ์ใหม่ ตีตั๋วรอปีหน้าได้เลย