5 อันดับ อาชีพด้านเกษตรกรรมที่คาดการณ์ไว้ในปี 2020

แนวโน้มเทคโนโลยีเกษตร ปี 2020

สำหรับนิตยสารฉบับส่งท้ายปี เป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีการพูดถึงเรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า

แต่ก่อนจะเล่าถึงแนวโน้มที่มีการคาดการณ์ไว้นั้น ผู้เขียนขอแจ้งข่าวให้ทราบว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 เห็นชอบรายงานและข้อเสนอของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมี ในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร” ยืนยันการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิด (เลื่อนการแบนสารเคมี เป็น 1 มิถุนายน 2563) และเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

“กำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน ได้แก่ เพิ่มและขยายพื้นที่เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 100 ในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งสอดคล้องกับปีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การสร้างเครื่องมือและปฏิบัติการทางนโยบายที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย คือ การยกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง การจัดทำระบบเฝ้าระวังสารพิษตกค้างที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดประสานกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การใช้มาตรการทางภาษี โดยยกระดับให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นเดียวกับการเก็บภาษีทั่วไป หรือเพิ่มระดับภาษีของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระดับสูง การสนับสนุนภาษี งบประมาณ และตลาดเพื่อเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน การสนับสนุนนวัตกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประกอบด้วย การเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีวิธีการหลัก การใช้เครื่องจักรการเกษตรจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ระบบ Agriculture Digital Marketing ในระบบการเกษตรของไทย การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ตลอดจนผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. … และผลักดันร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. …”

(รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร)

จากปรากฏการณ์ข้างต้น ผู้เขียนมองว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะมีผลกระทบไม่เฉพาะต่อเกษตรกรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนบุคคลทั่วไปทั้งหมดด้วย เพราะนี่คือทิศทางรูปแบบเกษตรกรรมที่ควรจะเป็น สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ผู้เขียนขอสรุปเรื่องราวในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรเห็นภาพอีกครั้งว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาไม่นานนับจากนี้

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อการทำฟาร์ม เกษตรกรกำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และมีการค้นพบวิธีใหม่ๆ เพื่อช่วยการทำงาน เกษตรกรสามารถใช้แอปหลายชนิดเพื่อตรวจสอบพืชผลในแต่ละวัน

ราคาโดรนเริ่มไม่แพงเกินเอื้อม สามารถส่งผลิตภัณฑ์ได้ทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ การเข้าถึงและใช้โดรนทางการเกษตรง่ายขึ้น และข้อมูลที่ได้รับก็ไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ โดรนสามารถตอบสนองได้ดีแม้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีการเสนอข้อมูลที่เป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจง ตอนนี้สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศในพื้นที่ได้ละเอียดยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้ว่าควรปลูกอะไรในกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงควรเก็บเกี่ยวพืชผลเมื่อสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตน

ความปลอดภัยของอาหารเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนขณะทำงานในพื้นที่ และเมื่อผลผลิตถูกขนส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ควรใส่ใจ การทำเช่นนี้สามารถช่วยขจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนทุกรูปแบบ เพราะค่าใช้จ่ายในการป้องกันถูกกว่าการแก้ไขเมื่อมีปัญหา เกษตรกรจะต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่มีส่วนร่วมในการทำฟาร์มจะต้องตระหนักถึงกฎระเบียบที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิธีการทำฟาร์มในปัจจุบัน

การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงานและเจ้าของธุรกิจทุกคน เกษตรกรสามารถสร้างเว็บไซต์เพื่อช่วยให้ลูกค้ารู้จักอย่างกว้างขวาง และควรเข้าใจถึงความต้องการจากการพูดคุยกับผู้บริโภคโดยตรง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็จะทำให้กระบวนการนี้ง่ายขึ้น ตัวอย่าง เช่น เฟชบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) อินสตาแกรม (Instagram) เพื่อเชื่อมต่อผู้ผลิตกับผู้คนในท้องถิ่นและทั่วโลก

ใน 1 ปี ที่ผ่านมา มีการพูดถึงความปั่นป่วนจากเทคโนโลยี (Digital Disruption) ที่มีการพัฒนาจนทำให้เกิดนวัตกรรมมากมาย ปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำเกษตรกรรม มีความต้องการบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเกษตรมากกว่าในปัจจุบัน

5 อันดับ อาชีพด้านเกษตรกรรมที่คาดการณ์ไว้ในปี 20201

  1. นักเทคโนโลยีโดรน เพื่อแสดงวิธีการเพิ่มผลผลิตและลดความเสียหายกับพืช โดยใช้เซ็นเซอร์ (Sensors) หุ่นยนต์ (Robotics) และภาพถ่ายทางอากาศ
  2. นักอุทกวิทยา เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืน รวมถึงช่วยจัดหาน้ำที่สะอาดและปลอดภัย
  3. นักสื่อสารทางการเกษตร เพื่อแบ่งปันเรื่องราวด้านการเกษตร และทำให้ประชาชนเข้าใจดียิ่งขึ้น อุตสาหกรรมการเกษตรจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าเดิม
  4. นักวิทยาศาสตร์อาหาร เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์
  5. นักเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ เพื่อสอนเกษตรกรถึงวิธีการทำงานที่ดีและง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน

ผู้เขียน ขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่ติดตามอ่านบทความ ทั้งทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและสื่อสังคมออนไลน์ ปีหน้ายังคงมีความคืบหน้าทางเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่จะนำมาบอกกล่าว เปรียบเสมือนล้อมวงนั่งคุยกันฉันพี่น้องด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดให้นำไปต่อยอดสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

 

อ้างอิง : 1.   https://www.ffa.org/career-success/predictions-top-5-agriculture-careers-in-2020/ National FFA Organization. The letters “FFA” stand for Future Farmers of America.