โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม สอนทักษะทางการเกษตรโดดเด่น นักเรียนนำไปปฏิบัติได้จริง ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน

หากจะเอ่ยว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมคงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่ทศวรรษ ประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาการทำเกษตรอยู่เสมอ พร้อมทั้งมีการพัฒนาให้ได้คุณภาพและส่งเป็นสินค้าส่งออก ทำให้สินค้าทางการเกษตรของไทยมีมูลค่ามากขึ้น ทำให้ในหลายประเทศมีความต้องการสินค้าเกษตรของไทย ส่งผลให้ในหลายภูมิภาคของประเทศไทยมีการทำเกษตรกรรมที่แตกต่างกันไป ตามสภาพภูมิอากาศและสภาพของพื้นที่

แปลงผักชุมชน

ด้วยเหตุนี้เองงานเกษตรกรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย โดยตั้งแต่เล็กจนโตแต่ละคนก็จะได้สัมผัสวิถีทางการเกษตรที่ได้พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่งผลให้แม้บางครัวเรือนที่ครอบครัวไม่ได้ทำการเกษตรเป็นหลัก แต่ด้วยวิถีของงานเกษตรต่างๆ ที่ได้สัมผัส จึงทำให้พอได้ทราบเรื่องราวอยู่บ้างว่าประเทศไทยมีการทำเกษตรอย่างไร

วิชาทางการเกษตรจึงถูกเข้าไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรของวิชาเรียน โดยแต่ละโรงเรียนทั่วประเทศไทยจะได้สอนวิชาทางการเกษตรในหลากหลายมิติ โดยยึดโยงให้เข้ากับวิถีของชุมชนนั้นๆ ส่งผลให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากในชั้นเรียนไปช่วยเหลืองานของครอบครัวได้

อย่างเช่น โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาทางการเกษตรที่เข้มแข็ง โดยจัดศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่เกิดประโยชน์นำมายึดโยงให้เข้ากับวิถีของชุมชน จึงทำให้นักเรียนที่ผ่านการเรียนการสอนในวิชาทางการเกษตรเกิดประสบการณ์ความรู้และสามารถนำองค์ความรู้ไปช่วยงานของครอบครัวได้ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การผสมดินใช้เอง

คุณสุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม

คุณสุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ให้ข้อมูลว่า สถานศึกษาแห่งนี้มีการจัดการบริหารอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานวิชาการ กลุ่มบริหารงานทั่วไป และกลุ่มบริหารงานงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกิจการนักเรียน ซึ่งการทำงานของแต่ละกลุ่มฝ่ายก็จะมีการบริหารงานที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งอย่างวิชาการงานอาชีพเป็นอีกหนึ่งวิชาที่โรงเรียนแห่งนี้มีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบ โดยมีการให้นักเรียนนำไปใช้ได้จริงให้เข้ากับชีวิตประจำวัน อย่างเช่น วิชาการงานเกษตร เพราะนักเรียนสามารถนำทักษะที่ได้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน นั้นก็คือ การปลูกพืชผักสวนครัวของครอบครัว

การทำปุ๋ยจำหน่าย

“การมีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริงๆ ไปแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ โดยโรงเรียนของเราได้จัดศูนย์การเรียนรู้เกษตรที่มีประโยชน์ แบ่งออกเป็นหลายๆ ฐานการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ผักพืชบ้าน การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ จึงทำให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างแท้จริง และนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี” คุณสุจินต์ กล่าว

ดร.วัฒนะ สะดวก ครูผู้รับผิดชอบงานสอนวิชาทางการเกษตร

ดร. วัฒนะ สะดวก ครูผู้รับผิดชอบงานสอนวิชาทางการเกษตร เล่าว่า ได้รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนวิชาทางการเกษตรมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกๆ โรงเรียนแห่งนี้ยังไม่มีศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ มากนัก จึงได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ให้สอดคล้องกับการทำเกษตรของชุมชน เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปปรับใช้กับการทำงานเกษตรของครอบครัวได้ ส่งผลให้นักเรียนมีประสบการณ์และเกิดการจัดการชีวิตได้อย่างดี โดยนำวิชาทางการเกษตรไปปรับใช้ ช่วยเหลืองานครอบครัว ทำให้เกิดรายได้เสริมเป็นค่าใช้จ่ายของตนเอง

นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง

“งานเกษตรของโรงเรียน เรามีการบูรณาการสอนอย่างเต็มที่ เพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้ และลงมือปฏิบัติจริง พร้อมทั้งเรายังเอาวิชาทางการเกษตรไปปรับให้เข้ากับงานวิชาการอื่นๆ เช่น การงานช่าง ก็จะฝึกให้นักเรียนสามารถฝึกการทำงานช่างได้จริง อย่างเช่น การทำเสียม ทำจอบ และอุปกรณ์ทางการเกษตรเอง เรียกได้ว่าตอนนี้วิชาการเกษตรของเรามีการเรียนรู้ที่ค่อนข้างครบ และทุกคนสามารถทำจริง เกิดประสบการณ์อย่างเห็นผล ก็อยากจะบอกทุกคนว่า ทุกอย่างหากได้ลงมือทำ และสร้างเจตคติที่ดีต่อเด็กๆ ก็จะช่วยให้งานเกษตรเป็นวิชาที่ไม่น่าเบื่อ และนักเรียนเกิดความสนุกและเรียนได้จากประสบการณ์จริง” ดร. วัฒนะ กล่าว

นายชัยภัทร เสาวัง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม

นายชัยภัทร เสาวัง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม เป็นนักเรียนตัวอย่างที่ได้นำความรู้จากวิชาทางการเกษตรของโรงเรียนไปปรับใช้กับการปลูกพืชผักสวนครัวของครอบครัว โดยในทุกช่วงเช้าและเย็น ก่อนไปและหลังกลับจากโรงเรียน เขาจะมาช่วยงานแปลงปลูกผักของครอบครัวเสียก่อน เช่น การปลูกผัก รดน้ำ พรวนดิน ซึ่งแปลงเกษตรเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนทำกันอย่างเข้มแข็ง สร้างรายได้มาโดยตลอด ส่งผลให้ลูกหลานที่ผ่านการเรียนการสอนวิชาทางการเกษตร เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้ว ก็สามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง

ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน

ซึ่งคุณแม่ของนายชัยภัทรถึงกับเอ่ยปากชมว่า การส่งเสริมทักษะทางการเกษตรทำให้ลูกชายมีประสบการณ์ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะไม่ได้เรียนแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

นายชัยภัทร เสาวัง และคุณแม่

“ภูมิใจมากที่ลูกเอาความรู้ทางการเกษตรมาปรับใช้ อย่างเช่น การปลูกผักต่างๆ ในทุกๆ วัน เขาก็จะมาช่วยรดน้ำผัก และจัดการแปลงผักต่างๆ ทำให้ความรู้ทางการเกษตรที่เขามีสามารถแบ่งเบาภาระการช่วยงานในครอบครัวลงได้ เราก็สามารถไปทำอย่างอื่นแทน แปลงผักก็ให้เขาช่วยดูแลไป ทำให้เกิดรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ลูกได้ทำอย่างตั้งใจจริง และมีประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากโรงเรียนมาปรับใช้กับที่บ้าน” คุณแม่ของชัยภัทร กล่าว

จากองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ที่โรงเรียนไพรบึงวิทยาคมได้เสริมสร้างประสบการณ์จริง จากการทำงานทางการเกษตรนั้น ส่งผลให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาทางการเกษตร โดยไม่มองว่าเป็นวิชาที่เหน็ดเหนื่อย ทำให้สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลไปยังอนาคตที่นักเรียนจะมีการเลือกเรียนวิชาทางการเกษตรมากขึ้น ช่วยกันสร้างการเกษตรไทยให้มีความเข้มแข็ง เป็นอาชีพที่ยั่งยืนไม่ต้องเข้าเมืองใหญ่เพื่อไปทำงาน แต่สามารถใช้เวลาลงมือทำอาชีพทางการเกษตรบนที่ดินของตนเอง ได้ส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น