วว.โชว์บทบาทองค์กรด้านการวิจัยพัฒนา “กัญชง-กัญชา” ในงานสัมมนาวิชาการ “The International Cannabis-based  Medicine Industry  2019”

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วโลก ดังนั้น เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และทราบถึงความก้าวหน้าทางการวิจัย รวมถึงประโยชน์จากการในการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยวิจัยต่างๆ ทั้งในประเทศและในระดับสากล วว. จึงร่วมกับ บริษัท GH Medical ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อันดับต้นๆ ของโลก จัดการสัมมนาวิชาการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมสัมมนา หัวข้อเรื่อง “The international Cannabis-based Medicine Industry 2019” ขึ้น โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ร่วมบรรยายถึงศักยภาพงานวิจัย วว. และผู้บริหาร พนักงาน รวมทั้งผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 150 คน ร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin  วว. เทคโนธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

การสัมมนาดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลพื้นฐาน ประวัติความเป็นมา กฎระเบียบสากล และกรอบแนวคิดของข้อกฎหมายของการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ โดยวิทยากรจาก บริษัท GH Medical ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อห้ามในประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐคองโก และสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล รวมถึงข้อคิดเห็นในการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ในประเทศไทย และการบรรยายเกี่ยวกับการใช้ Artificial Intelligence (AI) และ blockchain technology ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชา

“…วว. เป็นหน่วยงานวิจัยชั้นนำในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืน มีองค์ความรู้ครบวงจรที่พร้อมวิจัยและพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ของสมุนไพร ดังเช่น กัญชงและกัญชา ทั้งด้านความเชี่ยวชาญของบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือ ในกรอบมิติต่างๆ ดังนี้ 1. ด้านการเพาะปลูก ได้แก่ วิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นบ้านและพืชเศรษฐกิจใหม่ การปรับปรุงพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช 2. ด้านการสกัดและวิเคราะห์สารสำคัญ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านสกัดสาระสำคัญจากสมุนไพรศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยา การบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านเคมีของยาและเครื่องสำอาง และ 3. ด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าสมุนไพร ในรูปแบบเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็นต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ของ วว. ดังกล่าวและแขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยส่งเสริม ขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกในอนาคต…” ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปถึงบทบาทขององค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชา

Dr. Joost Heeroma, GH Medical กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อห้ามในประเทศต่างๆ รวมถึงข้อคิดเห็นในการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ในประเทศไทย “Sharing experiences : Cannabis activities around the globe” และ “CBM for healthcare professionals and disease showcase” ว่า ระบบกัญชาในร่างกาย หรือ Endocannabinoid system เป็นระบบทางสรีรวิทยาที่พบทั่วไปในร่างกาย ทั้งในระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทโดยรวม มีบทบาทสำคัญต่อระบบสำคัญในร่างกาย ทั้งในด้านระบบเซลล์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญ และระบบสมอง โดยปกติร่างกายของมนุษย์สามารถผลิต endocannabinoids หรือ endogenous cannabinoids ได้ ปัจจุบัน โรคหลายๆ โรคเกิดจากการทำงานของระบบ Endocannabinoid ที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การใช้สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) จากพืช เช่นในกัญชา สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบดังกล่าวได้

หลักการทำงานโดยทั่วไปของสารแคนนาบินอยด์ คือสารแคนนาบินอยด์จะจับกับตัวรับสารในร่างกาย เพื่อก่อให้เกิดผลทางเคมีในแต่ละประเภท การใช้สารแคนนาบินอยด์จากภายนอก สามารถทำได้หลายทาง ได้แก่ การรับประทาน การสูดหายใจ การให้ผ่านทางผิวหนัง การให้ทางตา การให้ทางเลือด การให้ทางลำไส้  เป็นต้น ทั้งนี้วิธีการใช้ที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของสารแคนนาบินอยด์ และจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการของคนไข้

Mr. Christopher Smith, GH Medical กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยี AI และระบบโครงข่ายสำหรับอุตสาหกรรมยาที่ใช้กัญชา “AI and Blockchain technology for cannabis-based medicine industry” ว่า การเรียนรู้ของเครื่องจักรกล หรือ Machine learning สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบหลัก คือ Supervised learning หรือการเรียนรู้แบบควบคุม และ Unsupervised learning หรือการเรียนรู้แบบไม่ได้ควบคุม สำหรับในส่วนของงานวิจัยด้านกัญชา สามารถนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประเมินผลผลิตกัญชา ผลที่ได้รับจากการใช้กัญชา ผลกระทบต่อร่างกาย รวมถึงการประเมินทางการตลาด จากการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม ข้อมูลการเพาะปลูก ข้อมูลการใช้กัญชา และข้อมูลทางการตลาด เป็นต้น ในส่วนของ Blockchain สามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมตลาดการขายกัญชาให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นได้