ผลิตก๊าซชีวภาพแบบบอลลูน ใช้ในฟาร์มเห็ด วัสดุหาง่าย ต้นทุนหลักพัน

“พลังงาน” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ในยุคนี้ และนับวันจะมีราคาแพงขึ้น และการใช้ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์จึงเป็นพลังงานทดแทนที่น่าสนใจ เช่น คุณสุภีร์ ดาหาร ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโข่ย หมู่ที่ 19 ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ผู้ใหญ่สุภีร์ เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ทำฟาร์มเห็ดเป็นหลัก โดยผลิตก้อนเชื้อเห็ดหลากหลายชนิดออกจำหน่าย ได้แก่ เห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) ก้อนละ 12 บาท เห็ดบด เห็ดขอนขาว และเห็ดเป๋าฮื้อ ก้อนละ 8 บาท เห็ดนางฟ้า-นางรม ก้อนละ 7 บาท ส่วนดอกเห็ดโคนญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 200 บาท เห็ดบด กิโลกรัมละ 100 บาท เห็ดขอนขาวและเห็ดเป๋าฮื้อ กิโลกรัมละ 80 บาท เห็ดนางฟ้า-นางรม กิโลกรัมละ 60 บาท นอกจากนี้ ยังทำกิจกรรมลักษณะไร่นาสวนผสม ได้แก่ ปลูกมะม่วง ไผ่ ชะอม มะละกอ เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากก้อนเชื้อเห็ด มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี

ที่ฟาร์มแห่งนี้ ใช้เป็นที่ทำการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าพระ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเห็ด การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งแต่ละเดือนจะมีการจัดอบรมเกษตรกรและเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และยังจัดประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้าอบรมและศึกษาดูงานอีกด้วย ซึ่งต้องใช้ก๊าซในการหุงต้มเดือนละประมาณ 1 ถัง ประกอบกับในการทำก้อนเชื้อเห็ดต้องนึ่งฆ่าเชื้อวันละหลายชั่วโมง หมดก๊าซเดือนละประมาณ 8 ถัง รวม 9 ถัง ต่อเดือน คิดเป็นเงินประมาณ 2,700 บาท

จากปัญหาดังกล่าว จึงคิดจะลดต้นทุนโดยการผลิตก๊าซชีวภาพแบบบอลลูนใช้ในฟาร์ม เนื่องจากทำง่ายและประหยัด มูลค่าวัสดุและค่าก่อสร้างรวมประมาณ 5,500 บาท ทำได้ ดังนี้

ภาพจากศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การเตรียมสถานที่/ก่อสร้าง

1. เตรียมสถานที่ กว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร มุงหลังคาด้วยตาข่ายพรางแสง (ซาแรน)

2. ขุดหลุม ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร นำดินที่ขุดขึ้นมาทำเป็นคันดินรอบขอบบ่อ

3. นำถุงพลาสติกสีดำขนาดใหญ่วางลงหลุมในแนวนอนตามความยาวของหลุม ด้านปากถุงเป็นทางเข้าของมูลสัตว์หรือวัสดุหมัก โดยทำถังซีเมนต์ต่อกับท่อพีวีซี มัดปากถุงให้แน่นสนิท ส่วนด้านก้นถุงต่อท่อพีวีซีมัดกับถุงดำ พร้อมกับขุดหลุมฝังท่อซีเมนต์เพื่อรองรับมูลสัตว์ที่ผ่านการหมักแล้ว ซึ่งเมื่อวางถังหมักแบบบอลลูนแล้วจะเห็นถุงดำหรือถังหมักโผล่พ้นดิน ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนด้านบนของถังหมักให้เจาะรูแล้วใส่ท่อเพื่อลำเลียงก๊าซไปยังครัวหรือสถานที่ที่จะหุงต้ม

การปฏิบัติและการใช้งาน

1. เติมมูลสัตว์ครั้งแรกประมาณ 1,000 ก.ก. โดยผสมน้ำอัตราเท่าๆ กัน ใส่ลงในท่อซีเมนต์ ซึ่งมูลสัตว์จะไหลลงถังหมัก ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ก็เกิดก๊าซ สามารถใช้หุงต้มได้

2. หลังจากนั้น ให้เติมมูลสัตว์ 2 วัน/ครั้ง ครั้งละ 1 ถังสี โดยผสมน้ำเท่ากันเทลงในถัง หรือหากไม่มีมูลสัตว์ก็ใช้เศษอาหารที่เหลือจากการประกอบเลี้ยงผู้เข้าอบรมก็ได้ โดยผสมน้ำ อัตรา 1:1 คนให้เข้ากันแล้วเทใส่ลงไป

การปรับใช้กับการนึ่งก้อนเชื้อเห็ด จะต้องนึ่งประมาณ 3 ชั่วโมง โดยชั่วโมงแรกจะใช้ก๊าซถัง เพราะต้องใช้กำลังไฟค่อนข้างสูง แต่หลังจากอุณหภูมิได้ที่แล้ว (ประมาณ 90 องศาเซลเซียส) ปรับมาใช้ก๊าซชีวภาพแทน

ท่านใดสนใจอยากจะเยี่ยมชมผลงานหรือสอบถามการเพาะเห็ด หรือการผลิตก๊าซชีวภาพ ติดต่อได้ที่ คุณสุภีร์ ดาหาร โทร. 081-975-2612, 043-261-835