“สวนรุ้งตะวัน” สงขลา นำร่องชาวบ้านปลูกพืชระยะสั้นแบบครบวงจร

คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร อยู่บ้านเลขที่ 25/1 หมู่ที่ 4 ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  โทรศัพท์ (061) 190-1887 เริ่มทำเกษตรกรรมในพื้นที่ 6 ไร่ เป็นเกษตรกรทำสวนไม้ผลระยะสั้นแบบผสมจนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมจำนวน 33 ไร่ ในนาม “สวนรุ้งตะวัน” และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสาน แล้วยังได้รางวัลผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนพืชระยะสั้น

นำผลผลิตขายตามสถานที่ต่างๆ

คุณรุ้งตะวันตั้งใจนำความสำเร็จสร้างเป็นต้นแบบเพื่อถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง ดังนั้น ในปี 2559 จึงเริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมชาวบ้านปลูกพืชระยะสั้น หวังให้ชาวบ้านทุกคนทำเกษตรกรรมแบบครบวงจรด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มปลูก จัดเก็บ ขนส่ง ไปจนถึงการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่มาใช้ติดต่อขายสินค้าเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว

เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกัน ยังช่วยหาตลาด รวมทั้งยังช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแต่ละชุมชนว่าควรปลูกพืชระยะสั้นประเภทใดที่เหมาะกับสภาพดิน น้ำ และความต้องการของตลาด โดยมีพืชระยะสั้นหลักๆ ได้แก่ แคนตาลูป มะเขือเทศรับประทานสด และฝรั่งกิมจู เพื่อนำผลผลิตเหล่านั้นไปขายยังตลาดที่แนะนำ ทั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. และกรมพัฒนาชุมชน พร้อมจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านหัวถิน

ผักสวนครัว

ชาวบ้านที่สนใจเป็นสมาชิกเครือข่ายได้รับสิทธิในการยืมเมล็ดพันธุ์พืชจากธนาคารเมล็ดพันธุ์ไปปลูกก่อนแล้วค่อยนำเงินค่าเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวคืนเมื่อเก็บผลผลิตขายเรียบร้อยหรือเมื่อครบเวลา 60 วัน นอกจากนั้น ยังมีธนาคารปุ๋ยไว้บริการให้สมาชิกโดยใช้หลักการเดียวกัน

ฝรั่งแป้น

คุณรุ้งตะวัน ชี้ว่า การเลือกปลูกพืชอายุสั้นจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ มิใช่ว่าทุกแห่งจะปลูกทุกอย่างได้ผล เพราะมีความต่างกันทางทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งดิน น้ำ อีกทั้งยังต้องดูความต้องการของตลาดผู้บริโภค และต้นทุนควบคู่ไปด้วย

เด็กน้อยมีรายได้จากการคัดแยกมะเขือเทศ

“อย่างมะเขือเทศเชอร์รี่เป็นพืชที่รับประทานสด มีความต้องการของตลาดผู้สูงวัย แล้วต้นทุนไม่สูง จึงสามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้กับรายได้ทั่วไป ปลูกแล้วไม่เสี่ยง เพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านไปปลูกพืชตามกระแสที่ต้องแข่งขันจนราคาต่ำ”

สมาชิกกลุ่มนี้ปลูกไม้ดอก

ภายหลังสมาชิกเก็บผลผลิตแล้วจะนำไปขายเองตามแหล่งต่างๆ ที่แนะนำ สินค้าที่ถูกนำขายต้องผ่านกระบวนการรับรองจากหน่วยงานราชการมาแล้ว เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และหากขายไม่หมดทางกลุ่มยินดีรับซื้อในราคาที่พอใจ อย่างมะเขือเทศราคากิโลกรัมละ 70 บาท ส่วนแคนตาลูปกิโลกรัมละ 35 บาท ดังนั้น สมาชิกทุกรายจึงไม่ต้องกังวลว่าปลูกแล้วขายไม่ได้

ชมพู่ทับทิมจันทร์ที่ได้คุณภาพ

ทุกวันนี้สมาชิกจำนวน 25 รายล้วนประสบความสำเร็จ สามารถปลูกพืชได้ตามมาตรฐานที่กำหนด มีตลาดขาย มีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งวิธีคิดการทำเกษตรกรรมแบบเก่ามาสู่แนวทางใหม่ มีการวางแผนล่วงหน้า ศึกษาตลาดเอง ใช้เทคโนโลยีขายสินค้าเอง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้รับความสนใจจากชุมชนอื่นเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงาน

สมาชิกกลุ่มเข้าอบรมปลูกพืชระยะสั้นแบบผสมผสาน

สำหรับผลผลิตใดที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ไม่สามารถขายได้ ทางกลุ่มของคุณรุ้งตะวันจะเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้บริสุทธิ์เข้มข้นที่ไม่เจือปนสารอื่นๆ

คุณรุ้งตะวัน ช้างสาร

“แนวทางนี้นอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างงานให้เกิดในชุมชนต่างๆ ช่วยให้การว่างงานลดลง ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลารองานหรือตระเวนหางานนอกพื้นที่ ทำให้ทุกคนมีงานทำอยู่กับบ้านตัวเอง อยู่กับครอบครัว ลดปัญหาทางสังคม นอกจากนั้น ยังเป็นการเสริมสร้าง เพิ่มพูนศักยภาพให้แก่ชาวบ้าน ทั้งการผลิต การจัดส่ง และการขายการตลาดไปพร้อมกัน” คุณรุ้งตะวัน กล่าว