ปลูกทุเรียน 3 ขา ลดต้นทุน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ที่ชุมพร

ทุเรียน นับเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ในปัจจุบันเกษตรกรหลายรายหันมาปลูกทุเรียนทดแทนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งนับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพแหล่งใหญ่ของประเทศ

คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ (คุณปาล์ม) เกษตรกรทำสวนทุเรียน นับเป็นอีกหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่กล้าหันหลังให้กับชีวิตอันศิวิไลซ์ในเมืองกรุง กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวดูแลสวนทุเรียนหมอนทอง ภายใต้แนวคิด “ลดต้นทุนการผลิตทุเรียน” อาศัยการนำความรู้ในการทำเกษตรแบบเก่าเข้ามาผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อเป้าหมายลดรายจ่ายทั้งในส่วนของปุ๋ยบำรุงต้น และยารักษาโรค ซึ่งนับเป็นรายจ่ายหลักที่ชาวสวนทุเรียนจะต้องพบเจอ

คุณพงษ์ศักดิ์ บอกเล่าเรื่องราวของตนเองอย่างอารมณ์ดีว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนทุเรียนอย่างเต็มตัวนั้น เดิมทีได้ทำงานอยู่ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ตำแหน่ง IT Support เนื่องจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ภายหลังจากทำงานมาได้ระยะหนึ่งจึงเกิดความเบื่อหน่าย หมดความท้าทายกับการใช้ชีวิตในเมืองกรุง จึงได้ตัดสินใจลาออกกลับมาทำสวนทุเรียนต่อจากบิดา (คุณพนนท์ ผลมรุกต์) ในตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นถิ่นพำนักในปัจจุบันนั่นเอง

คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ (คุณปาล์ม)

โดยสวนทุเรียนแปลงนี้ มีเนื้อที่กว่า 30 ไร่ มีทุเรียนหมอนทอง ประมาณ 250 ต้น ก่อนหน้านี้มีการนำกาแฟพันธุ์โรบัสต้าเข้ามาปลูก แต่ภายหลังราคากาแฟค่อนข้างจะไม่แน่นอน จึงได้มีการนำทุเรียนพันธุ์หมอนทองเข้าไปปลูกร่วมด้วย ผนวกกับในระยะหลังต้นกาแฟเริ่มแก่และทุเรียนมีลำต้นขนาดใหญ่จึงได้ตัดโค่นต้นกาแฟออกทั้งหมดคงเหลือไว้แต่ทุเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับต้นพันธุ์ทุเรียนที่นำมาปลูกจะเลือกใช้ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน (ทุเรียนเมล็ด) อาศัยหาเมล็ดพันธุ์จากสวนทุเรียนภายในท้องถิ่นมาปลูก โดยทุเรียนบ้านนี้มีคุณสมบัติเด่นทนทานต่อโรคและแมลง เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ อีกทั้งยังถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากร้านค้า (ทุเรียนถุง) ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่ากันมาก

ทางด้านกรรมวิธีในการปลูกทุเรียนบ้านนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างออกไปจากการปลูกทุเรียนถุงเท่าไรนัก อีกทั้งผู้ปลูกยังสามารถกำหนดได้ว่า ใน 1 หลุม ต้องการปลูกทุเรียนบ้านจำนวนเท่าไร อาจเลือกปลูก 1-3 ต้น/1 หลุม ในระยะห่างประมาณ 50 เซนติเมตร หรือ ปลูกทุเรียนหมอนทอง 1 ต้น และ ทุเรียนบ้าน 2 ต้น ร่วมอยู่ในหลุมเดียวกัน แล้วจึงคัดต้นพันธุ์อีกครั้งในตอนโต เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากมีทุเรียนต้นใดต้นหนึ่งตายก็ยังคงมีทุเรียนเหลืออีก ไม่ต้องเสียเวลามานับหนึ่งปลูกใหม่กันอีกครั้ง

ส่วนระยะปลูกในแปลงนี้ เนื่องจากเป็นสวนทุเรียนเก่า จึงใช้ระยะปลูกอยู่ที่ประมาณ 8 เมตร แต่ในปัจจุบันมีการเสริมต้นทุเรียนเข้าไป อยู่ในระยะห่าง 4 เมตร/ต้น เรียกว่า “ปลูกระยะชิด” เมื่อยอดทุเรียนมาชนกัน จึงตัดแต่งออกซึ่งข้อดีของการปลูกในระยะชิดนี้จะช่วยให้ปลูกทุเรียนได้ในจำนวนมาก ส่วนพื้นที่ตรงกลางระหว่างแถวก็เว้นไว้เพื่อให้สามารถนำเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการให้ปุ๋ย หรือจัดการสิ่งต่างๆ ภายในแปลงได้

Advertisement
ทุเรียนหมอนทองเสียบยอดในแปลง อายุ 6 ปี

เสริมขา เพิ่มความแกร่งให้กับทุเรียนเล็ก

คุณพงษ์ศักดิ์ เลือกใช้วิธีเสริมขาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหาอาหารให้แก่ต้นทุเรียนเล็ก โดยการทาบกิ่งในลักษณะนี้ภาษาชาวสวนจะเรียกกันว่า ทุเรียน 3 ขา มีข้อดี คือ ต้นทุเรียนบ้านทั้ง 2 ต้น ที่มีความแข็งแรงจะช่วยในการหาอาหารเสริมให้แก่ทุเรียนหมอนทอง 1 ต้น จนส่งผลให้ลำต้นมีความสมบูรณ์และต้านทานโรคได้มากกว่าทุเรียนหมอนทองที่มีการเพาะเสียบยอดในถุง

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับต้นทุเรียนบ้านและทุเรียนหมอนทองที่เหมาะแก่การเสริมขานั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ความสูงโดยเฉลี่ยควรอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรือสูงไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ส่วนกรรมวิธีในการเสริมขาก็ไม่ได้ยากเท่าไรนัก ให้โน้มกิ่งทุเรียนบ้านเข้าหาต้นทุเรียนหมอนทองก่อนจะปาดผิวในบริเวณที่ต้องการทาบ แล้วจึงรวบเข้าหากัน ใช้สก๊อตเทปใสพันโดยรอบเอาไว้ ในขณะที่ทาบกิ่ง มีดที่ใช้จะต้องสะอาดปลอดจากเชื้อโรคที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราขึ้นตามมาได้

Advertisement

นอกจากวิธีการเสริมขาต้นทุเรียนแล้ว เกษตรกรยังสามารถเลี่ยงมาใช้วิธีการปลูกทุเรียนบ้านเพียงต้นเดียวก่อนปล่อยไว้ให้มีอายุอยู่ในระหว่างช่วง 2-3 ปี แล้วจึงเสียบด้วยยอดทุเรียนหมอนทองได้อีกเช่นกัน โดยที่สวนจะเลือกใช้วิธีการเสียบด้านข้างแทนที่การเสียบยอดจากด้านบน ซึ่งข้อดีของการเลือกใช้วิธีการนี้ จะทำให้สามารถเลือกเสียบยอดพันธุ์ทุเรียนได้หลายสายพันธุ์ตามความต้องการของผู้ปลูก อย่างไรก็ตาม การเลือกวันเสียบยอดทุเรียนภายในแปลงจะต้องเลือกวันที่ท้องฟ้าปิด อากาศมืดครึ้ม ไม่ร้อนมากจนเกินไป จะส่งผลให้มีโอกาสที่จะเสียบยอดติดมากกว่าในวันที่มีอากาศร้อนจัด

ทุเรียนบ้านเสียบข้างด้วยยอดทุเรียนหมอนทอง

สำหรับวิธีการเสียบด้านข้าง ให้กรีดควั่นเปลือกบริเวณด้านข้างของลำต้นทุเรียนบ้านด้านใดด้านหนึ่งออก แล้วจึงกรีดให้มีลักษณะเป็นรอยบาก ก่อนจะนำยอดทุเรียนหมอนทองที่มีลักษณะอวบอ้วนสมบูรณ์นำมาปาดให้เป็นลิ่มเสียบข้างเข้ากับต้นทุเรียนบ้าน แล้วจึงใช้สก๊อตเทปใสพันบริเวณที่เสียบ จากด้านล่างขึ้นมาด้านบน โดยเว้นระยะห่างจากด้านล่างสุดที่เสียบยอดเอาไว้ ขึ้นมาประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อระบายอากาศและไอน้ำ เนื่องจากบริเวณที่พันสก๊อตเทปจะเกิดการควบแน่นและคายน้ำออกมา หากพันปิดทึบทั้งหมดยอดที่เสียบอาจเน่าได้

ภายหลังจากการเสียบยอด ต้องปล่อยทิ้งไว้อีกประมาณ 15-20 วัน ยอดของทุเรียนจึงเริ่มติดเป็นเนื้อเดียวกัน หากพบว่ายอดที่เสียบติดดีแล้ว ให้กรีดสก๊อตเทปที่พันออก โดยให้กรีดในด้านตรงกันข้ามกับด้านที่เสียบยอดเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดที่เสียบได้รับความเสียหายจากคมมีด และปล่อยไว้ให้คลี่ออกทีละน้อย จนได้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะพบว่า ยอดที่เสียบไว้จะเริ่มแตกใบอ่อน ให้ตัดยอดต้นทุเรียนบ้านด้านบนทิ้ง โดยเว้นระยะห่างเหนือยอดหมอนทองที่เสียบเอาไว้ ประมาณ 30 เซนติเมตร หลังจากนั้น ต้นทุเรียนจะโตขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้ไม้ดาม คอยช่วยพยุงลำต้นให้อยู่ในลักษณะตรง ซึ่งจะกินระยะเวลาอยู่ประมาณ 1 ปี เมื่อครบกำหนดจึงตัดยอดต้นตอทุเรียนบ้านที่เหลืออยู่ออกทั้งหมด เพราะเมื่อต้นพันธุ์ที่เสียบไว้โต เนื้อไม้จะเข้าไปห่อหุ้มปิดส่วนปลายสุดของต้นตอทั้งหมดเอง

 

เผยเทคนิคป้องกันเชื้อราภายในสวนทุเรียน

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 1-2 ปีแรก ให้เน้นใส่ปุ๋ยสูตรที่มีตัวหน้าสูง เพื่อเร่งให้ต้นทุเรียนโต จำพวก 18-4-5 ใส่ปีละ 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสานกับการฉีดปุ๋ยทางใบ สูตรที่มีตัวหน้าสูง 30-20-10 ฉีดควบคู่กันไปกับยาเชื้อรา และยาฆ่าแมลงอย่างน้อย เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งจะพบการระบาดมาก ส่วนในกรณีที่ต้องการใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกใส่ทุเรียนเล็ก ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ และควรใส่ในวงนอกรัศมีใบ หากใส่มากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการที่ทุเรียนยืนต้นตายได้ ด้านการให้น้ำก็ต้องอาศัยการสังเกตที่ใบและโคนต้น หากแล้งมากก็จะให้น้ำมาก 3 วัน/ครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ไม่ได้มีการกำหนดอย่างตายตัว

เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ขณะทุเรียนมีการแตกใบอ่อน อาจมีการเพิ่มปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 ใส่ครั้งละประมาณ 2 กำมือ ผสานกับการฉีดปุ๋ยทางใบร่วมด้วย สลับกับการให้น้ำตามปกติ แต่จะเน้นหนักไปที่การนำเชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้ามาปรับใช้ช่วยในการป้องกันเชื้อราภายในสวน ซึ่งจะมีมากในช่วงหน้าฝน โดยระยะเวลาในการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา จะกินระยะเวลาประมาณ 7 วัน ชาวสวนจะต้องคอยฟังการพยากรณ์อากาศว่า ในช่วงใดที่ฝนตกหนักแล้วผลิตก่อนหน้านั้นเพื่อใช้ราดให้ทันในช่วงฝนตก

ต้นตอทุเรียนบ้านเชื่อมต่อกับทุเรียนหมอนทอง

ที่สวนทุเรียนแห่งนี้ จะมีการนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) ที่ผ่านกรรมวิธีบ่มเชื้อเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1 กิโลกรัม มาละลายน้ำแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้เหลือแต่น้ำเชื้อราเพียงอย่างเดียว ก่อนจะนำน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ได้มาผสมเข้ากับน้ำสะอาด ปริมาณ 200 ลิตร คนให้เข้ากันก่อน ใช้ฉีดพ่นให้ชุ่มทั่วโคนทุเรียน เพื่อป้องกันโรครากเน่า โคนเน่า (ไฟทอปทอร่า) โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน เพราะฉะนั้นหลังผลิตเสร็จควรใช้งานทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาแบบน้ำพร้อมใช้บรรจุขวด ขวดละ 1 ลิตร มาให้เลือกใช้ตามความสะดวก ส่วนในช่วงปีที่ 4 ที่สวนยังคงเน้นใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ใส่ปีละ 2-3 ครั้ง สลับกับปุ๋ยเคมี สูตร 18-4-5 เพิ่มขึ้น ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม/ต้น พร้อมกับฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ในทุกๆ 15 วัน ควบคู่กันไปด้วย

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปีที่ 5 ทุเรียนบางต้นที่มีความสมบูรณ์พร้อมออกดอกให้เริ่มเตรียมต้นด้วยกรรมวิธีตัดแต่งกิ่งเพื่อทำยอด ทั้งนี้ควรเลือกตัดแต่งกิ่งแขนงที่ไม่ได้ไว้ลูก หรือกิ่งที่ไม่ได้สัดส่วนออกไป คงเหลือไว้แต่กิ่งที่เหมาะสำหรับการติดลูกแต่เพียงเท่านั้น โดยการตัดแต่งกิ่งนี้ควรเว้นระยะในการตัดกิ่ง ประมาณ 2-3 กิ่ง ต่อการตัด 1 ครั้ง เพื่อให้แสงแดดสามารถที่จะส่องลงมาถึงพื้นด้านล่างได้ และช่วยให้ไม่เกิดเชื้อราต่างๆ เสริมด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 ต้นละประมาณ 1 กิโลกรัม หากเลือกใช้ปุ๋ยคอก จำพวกขี้ไก่ ขี้วัว หรือขี้หมู จะต้องใส่ประมาณ 1 กระสอบ/ต้น ไม่ควรใส่มากไปกว่านี้ เนื่องจากจะทำให้ต้นอวบและเสี่ยงต่อการเน่าได้ เพราะได้รับไนโตรเจนสูงจนเกินไป

 

“โชยสาร” เพิ่มอัตราการติดดอก

เมื่อเข้าสู่ปีที่ 6 เกษตรกรบางรายอาจเริ่มต้นการผลิตทุเรียนนอกฤดู (ทุเรียนทะวาย) ด้วยเหตุผลด้านราคาจำหน่ายที่สูงกว่าการทำทุเรียนตามฤดูกาล แต่คุณพงษ์ศักดิ์ยังคงเลือกที่จะผลิตทุเรียนนอกฤดูเมื่อทุเรียนมีอายุครบ 7 ปี โดยเลือกทำเพียงแค่บางต้นที่มีความสมบูรณ์เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการที่ทุเรียนยืนต้นตาย

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่สวนแห่งนี้เน้นการผลิตทุเรียนนอกฤดู ซึ่งหากมีการปล่อยให้ทุเรียนออกดอกตามฤดูกาลอาจมีการติดดอกประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ในกรณีที่ใช้วิธีการโชยสารเข้าช่วยอาจส่งผลให้ต้นทุเรียนมีการติดดอกได้ในอัตราที่มาก 80-90 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นในกรณีที่ต้องการทำสารเมื่อทุเรียนมีอายุ 6 ปี ก็สามารถที่จะทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องเลือกฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลในปริมาณที่น้อยให้เหมาะสมกับทุเรียนในช่วงอายุประมาณ 6 ปี โดยตามปกติแล้ว อาจมีการใช้ในปริมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ลดลงมาเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ไม่ได้เน้นฉีดเต็มที่เหมือนการผลิตทุเรียนนอกฤดูเมื่ออายุต้นทุเรียนครบ 7 ปี

ทั้งนี้ วิธีการโชยสารนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับกรรมวิธีผลิตทุเรียนนอกฤดู แต่จะเน้นหนักไปที่การฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลในปริมาณที่น้อยและการตัดแต่งกิ่งเตรียมต้นทุเรียนให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยเลือกแต่งกิ่งแขนงขนาดเล็ก และแขนงน้ำค้างออก เพื่อให้แสงแดดส่องถึง รวมถึงฉีดล้างต้น เนื่องจากอาจมีเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ไปฝังอยู่ภายในเนื้อไม้ พร้อมทั้งฉีดสารกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ในช่วงระยะนี้

ต้นทุเรียนบ้าน (ทุเรียนเมล็ด)

เมื่อฉีดล้างต้นเสร็จ จึงใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมี นำมาใส่เพื่อเร่งยอด อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง แล้วให้สังเกตยอดของทุเรียนที่จะเริ่มแตกออกมา ซึ่งในแต่ละยอดจะกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ต่อ 1 ยอด โดยจะเริ่มฉีดสารแพคโคลบิวทราโซล เมื่อยอดที่ 2 เริ่มแก่ (ใบเพสลาด) ด้วยวิธีการฉีดภายใต้ทรงพุ่ม และนอกทรงพุ่มของใบทุเรียน ภายหลังจากฉีดสารเสร็จแล้วจึงงดให้น้ำอีก ประมาณ 15-20 วัน เพื่อให้ใบเฉาเต็มที่ เปรียบเสมือนการสร้างบรรยากาศให้คล้ายคลึงกับในช่วงหน้าหนาวมากที่สุด เมื่อสังเกตเห็นว่าเริ่มมีตาดอกออกมาแล้ว จึงเริ่มให้น้ำอีกครั้ง และฉีดยาฆ่าเชื้อราบนต้นทุเรียนเพื่อรักษาดอกผสานกับการฉีดธาตุอาหารเสริมเพื่อบำรุงต้นทุเรียน

เมื่อดอกทุเรียนมีการพัฒนาไปเป็นผลที่มีขนาดโตเท่าไข่ไก่แล้ว จึงเริ่มแต่งลูก คัดเฉพาะลูกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งทุเรียนอายุต้น 6-7 ปี ไม่ควรเอาลูกไว้เกิน 70-80 ลูก/ต้น โดยเว้นระยะห่าง 1 ฟุต/1 ลูก เฉลี่ยแล้วใน 1 กิ่งจะมีประมาณ 5 ลูก หรือขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แต่งลูก ในระหว่างนี้ควรฉีดธาตุอาหารเสริมเพื่อบำรุงลูกทุเรียน อาทิ ปุ๋ยทางดิน สูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 ผสานกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ 25-5-30 ควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนด 110 วัน นับตั้งแต่ทุเรียนออกดอกบานไปจนถึงทุเรียนแก่ตามขั้นตอนการผลิตทุเรียนนอกฤดูแล้ว เกษตรกรก็สามารถที่จะตัดลูกเพื่อจำหน่ายได้โดยเน้นตัดเมื่อผลทุเรียนแก่ได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ปล่อยให้ทุเรียนสุกจนเต็มที่ เพื่อป้องกันทุเรียนเน่าเสียในระหว่างการขนส่ง ส่วนราคาเฉลี่ยของทุเรียนที่ตัดได้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในช่วงราคาประมาณ กิโลกรัมละ 100 บาท ขึ้นไป ซึ่งน่าพอใจเป็นอย่างมาก”

 

เลี้ยงหมูป่า ผลิตปุ๋ยหมัก

นอกจากการผลิตทุเรียนคุณภาพแล้ว คุณพงษ์ศักดิ์ ยังนำวิธีการลดต้นทุนเข้ามาปรับใช้ ด้วยการเลี้ยงหมูป่า (หมูเถื่อน) เพื่อเป็นตัวช่วยในการกำจัดของเสียภายในสวน ซึ่งจะมีทั้งกล้วยหอมและผลทุเรียนที่เน่าเสียจะต้องกำจัดทิ้ง หากปล่อยไว้จะเป็นตัวการให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า หรือเชื้อราขึ้นได้

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า มีการเลี้ยงหมูป่าเอาไว้ในคอก จำนวน 25-30 ตัว เพื่อเอาไว้กินของเสียภายในสวน ไม่ได้มีการจำหน่ายแต่อย่างใด ซึ่งจะให้อาหารหมู วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เลือกให้กล้วย หรือทุเรียนในช่วงเช้า แล้วให้อาหารเม็ดในตอนเย็น ภายในคอกหมูจะใช้วัสดุรองพื้น เช่น แกลบข้าว ทะลายปาล์มเหลือทิ้งจากโรงเพาะเห็ดและใบทุเรียนนำมารองพื้นคอก เมื่อหมูขับถ่ายของเสียแล้วเหยียบย่ำมูลหมูก็จะไปผสมกับวัสดุรองพื้นที่เตรียมเอาไว้ส่งผลให้ในทุกๆ ปี จะได้ปุ๋ยหมักจากมูลหมูอยู่เป็นประจำ ช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีบำรุงต้นทุเรียนไปได้อีกช่องทางหนึ่ง

โดยการเก็บมูลหมูจะเก็บในทุกๆ 6 เดือน หรือเมื่อสังเกตเห็นว่ามีจำนวนมูลหมูภายในคอกมากจึงตักออก เมื่อตักมูลหมูออกมาแล้ว จะต้องนำมาวางพักทิ้งไว้ก่อนประมาณ 1 เดือน เพื่อให้แห้ง จึงสามารถนำไปใช้ได้ ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วมูลหมูภายในคอกเมื่อตักออกจะได้ปุ๋ยหมักจากมูลหมูอยู่ที่ประมาณ 100 กระสอบ ซึ่งจะนำไปใส่ทั้งทุเรียน ลองกอง ปาล์ม และกล้วย เป็นลำดับต่อไป

หมูป่ากับผลทุเรียนแสนอร่อย

นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบัน คุณพงษ์ศักดิ์ ยังได้มีการจัดทำหมายเลขไว้ที่ต้นทุเรียน เพื่อให้ง่ายต่อการสั่งงาน เพียงแค่ระบุหมายเลขต้น คนงานก็สามารถเข้าไปจัดการได้ภายในทันที ไม่ต้องเสียเวลาให้เจ้าของสวนนำไปแต่อย่างใด อีกทั้งยังสะดวกต่อการจัดเก็บข้อมูลว่าในแต่ละต้นมีการให้ผลผลิตในปริมาณเท่าไร มีความสมบูรณ์มากเพียงใด รวมถึงประวัติการเกิดโรคต่างๆ อีกด้วย

คุณพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้สนใจปลูกทุเรียนว่า สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกทุเรียน ปัจจุบันมีสื่อและเทคโนโลยีให้ศึกษาข้อมูลอยู่มาก และสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตทุเรียนที่ค่อนข้างสูงอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปลูกพืชชนิดอื่นภายในแปลงเพื่อช่วยหมุนเวียนเสริมรายได้ แทนที่การรอผลผลิตทุเรียน ซึ่งจะได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น

ติดต่อเกษตรกร คุณพงษ์ศักดิ์ ผลมรุกต์ (คุณปาล์ม) บ้านเลขที่ 1/94 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86190 โทร. 083-972-2375, 088-451-5762