ผู้ส่งออกทุบราคายางอ้างจีนกดซื้อ ชาวสวน-สหกรณ์จี้รัฐงัดกม.สกัดพ่อค้าป่วนตลาด

ทุบราคายาง ! สัปดาห์เดียวร่วงกราวรูด10 กว่าบาท/กก. พ่อค้ารายย่อย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรสต๊อกยางไว้ขายเจ็บตัวระนาว ขาดทุนยับ ร้องรัฐบาลงัด พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 มาคุมเสถียรภาพราคายาง ด้านผู้ว่าการ กยท.สั่งเลื่อนประมูลขายยางครั้งที่ 4 ออกไปเดือน เม.ย.นี้

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.จะเสนอเลื่อนการประมูลยางงวดที่ 4 ในโกดังที่ภาคใต้ซึ่ง กยท.เช่าเอกชนเก็บประมาณ 1.2 แสนตันสุดท้าย ซึ่งเดิมจะประมูลกลางเดือนมีนาคมนี้ออกไปเป็นเดือนเมษายนนี้ต่อคณะกรรมการบริหาร กยท.ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ว่า จะเปิดประมูลในวันใดของเดือนเมษายน ซึ่งช่วงนั้นเกษตรกรทั่วประเทศหยุดกรีดยางแล้ว

สาเหตุที่ขอเลื่อนการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้กดราคายางลงมาก ทำให้กลุ่ม 5 เสือค้ายางรายใหญ่ของไทยที่ส่งสินค้าให้จีนต้องกดราคารับซื้อ หรือกดราคาประมูลซื้อในไทยอีกต่อหนึ่ง และช่วงนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งอยู่ในระดับ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคายางที่จะรับซื้อจากเกษตรกรต้องลดลงโดยอัตโนมัติด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะเข้าสู่ฤดูแล้งปิดกรีดยางพาราไปเกือบหมดแล้วทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณผลผลิตยางลดลงแต่สถานการณ์ราคายางพาราก็ยังอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนัก โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้นของชาวสวนยาง เพราะผู้ส่งออกได้ไล่ซื้อยางเพื่อส่งมอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และพ่อค้ารายย่อย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ก็หันมาเก็บยางสต๊อกไว้ขายทำกำไรในช่วงปิดกรีด ส่งผลทำให้ราคาพุ่งขึ้นมาจ่อกิโลกรัมละเกือบ 100 บาท แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ราคายางวูบหนัก บางวันดิ่งลงถึง 5-10 บาท/กก.

หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงระดับราคาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 กับวันที่ 31 มกราคม 2560 โดยอ้างอิงราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า ราคายางแผ่นดิบขึ้นไปสูงสุดที่ 93.52 บาท/กก. หลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่ขาลงมาเรื่อย ๆ จนแตะระดับที่ 75.58 บาท/กก. ซึ่งภายในระยะเวลาเดือนเดียวปรับตัวลดลงประมาณ 17.94 บาท แม้แต่ราคาท้องถิ่นก็ลดลงถึง 16.40 บาท

สอดคล้องกับนายสมพร ศรียวง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพรุนายขาว จำกัด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำยางสดที่ผ่านมาราคาขึ้นลงวูบวาบ ไม่มีเสถียรภาพ โดยรอบขาขึ้นจะขึ้นประมาณ 50 สตางค์ และ 1 บาท/กก./วัน และเมื่อถึงรอบขาลงจะลด 3-4 บาท จากราคา 83 บาท/กก. ลงมาอยู่ที่ 65-68 บาท/กก. การซื้อขายยางขณะนี้ถูกจัดตั้งเป็น 2 รอบ คือรอบขาขึ้นและรอบขาลง เมื่อถึงรอบขาลงก็จะลงคราวละ 3 บาทหรือ 4 บาท และบางวันเคยลงถึง 10-12 บาท/กก.

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้นำพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ เพื่อกำกับดูแลราคายางให้มีเสถียรภาพ เพราะราคาขึ้นลงวูบวาบมากเกินไป

“ประเด็นสำคัญยางถูกทุบราคาให้ต่ำลง เพราะยังมีเงื่อนไขการประมูลยางค้างสต๊อกของรัฐบาล เพื่อให้ราคาตลาดต่ำ ก็สามารถเสนอราคาที่จะเข้าประมูลยางของรัฐบาลในราคาที่เหมาะสมกับตลาดที่ราคาต่ำได้” นายสมพรกล่าว

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในฐานะประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ค้ายางมีการทุบราคาให้ต่ำลงแล้วเข้าช้อนซื้อ เมื่อซื้อได้แล้วก็มีการปั่นราคาให้สูงแล้วก็เทขายออกเมื่อเทขายออกหมดแล้วก็ทำการทุบราคาต่อเพื่อซื้อราคาที่ต่ำลงส่วนกรณีที่กยท.ต้องเลื่อนการประมูลออกไปโดยไม่มีกำหนดนั้นไม่ทราบว่ามีผู้เสียหายหรือไม่ เพราะเอกชนที่จะเข้าประมูลยางต้องลงทะเบียน และวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5%