“กรมชลฯ”วอนเกษตรลุ่มเจ้าพระยางดทำนาปรัง-แจงล่าสุดต้องดึงน้ำส่วนอื่นช่วย

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,573 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 62% ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,753 ล้านลบ.ม.วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ รวม 17,661 ล้านลบ.ม. สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,218 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 53% ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,522 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 36%ของปริมาณน้ำใช้การ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง รวม 5,950 ล้านลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวว่าผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 71%ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 77% ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 รวม 435 ล้านลบ.ม. ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.33 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ถึง 2.65 ล้านไร่

“จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วเกือบ 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง หรือนาปรังรอบที่ 2 พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย” นายทองเปลว กล่าว