ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ปี 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ลักษณะอากาศประเทศไทยจะเผชิญกับฝนแล้งตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน 2563 โดยปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและประชาชนเตรียมการรับมือ และใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยขอให้พี่น้องเกษตรกรปรับตัวตระหนักถึงเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ปลูกพืชฤดูแล้งเกินแผนที่กำหนด พร้อมดูแลรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืช สร้างแหล่งน้ำในไร่นา หรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตร โดยใช้แนวทางตามศาสตร์พระราชาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เป็นต้น
โดยเฉพาะขณะนี้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยทั่วไปร้อนและแห้งแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้สำรวจและประเมินเบื้องต้น คาดว่าพื้นที่ไม้ผลเสี่ยงนอกเขตชลประทานมี 30 จังหวัด 207 อำเภอ 1,068 ตำบล พื้นที่รวมทั้งสิ้น 374,978 ไร่ ซึ่งตรงกับฤดูกาลของผลไม้ภาคตะวันออกและภาคเหนือ คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลิ้นจี่ ลำไย หากไม้ผลได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตมีขนาดเล็กคุณภาพต่ำ ส่งผลกระทบต่อไม้ผลทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องมีการดูแลสวนไม้ผลเป็นพิเศษ โดยในช่วงภัยแล้งจำเป็นต้องจัดการสวนของตนเองให้ต้นไม้อยู่รอดผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะต้นไม้ผลใช้เวลานานหลายปีกว่าจะออกดอก ติดผล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ “เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563” สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้แก่เกษตรกรในทุกด้านเพื่อเตรียมรับมือและดูแลผลผลิตช่วงภัยแล้ง โดยมีข้อแนะนำการดูแลไม้ผล ดังนี้
1. การให้น้ำ ควรคำนึงถึงการให้น้ำแบบประหยัดที่สุด คือ ให้น้ำต้นไม้ผล ภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มเท่านั้น อย่าให้น้ำมากจนไหลแฉะไปทั่วสวน ควรให้น้ำแบบระบบน้ำหยดหรือหัวเหวี่ยงขนาดเล็กจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำให้น้ำครั้งน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำเปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา
2. การใช้วัสดุคลุมดิน โดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ผล ใบตองแห้ง ทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อยๆ ผุฝังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง หากต้นยังเล็กจะต้องพรางแสงช่วยด้วย
3. การตัดแต่งกิ่ง ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับไม้ผลบางชนิด เช่น ทุเรียน หากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงการติดผล อาจทำให้ต้นโทรมและถึงตายได้ หรือมังคุดที่ติดผลแล้ว หากขาดแคลนน้ำผลจะมีขนาดเล็ก ก้นผลจีบ คุณภาพไม่ดี จะต้องรีบตัดทิ้งให้หมด และหาน้ำจากแหล่งอื่นมารดอย่างประหยัดที่สุด
4. การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง และใช้เศษวัสดุที่แห้งแล้วมาคลุมโคนต้นไม้ผล แต่ในระยะที่ขาดแคลนน้ำมากๆ ไม่ควรกำจัดวัชพืช หรือไถพรวนดิน เพราะจะทำให้ผิวดินแห้งเร็วมากขึ้นอีก
5. การจัดหาแหล่งน้ำ ควรปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้ สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้ทะเล จำเป็นต้องกักน้ำจืดไว้ เพื่อป้องกันน้ำเค็มที่จะเข้ามาในสวน หมั่นตรวจสอบระบบส่งน้ำ ควบคุมอย่าให้น้ำรั่วไหล หากมีผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย อยู่ในท้องร่องสวนเป็นจำนวนมาก ควรนำขึ้นมาคลุมบริเวณโคนต้นไม้ผลเพื่อรักษาความชื้นได้
6. ไม่ควรใสปุ๋ยในช่วงแล้งหากน้ำไม่เพียงพอ เพราะจะเป็นการไปกระตุ้นการเจริญเติบโตให้แตกใบอ่อนในช่วงแล้งน้ำน้อย จะทำให้พืชมีน้ำไม่พอใช้มากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและตายได้
7. การทำแนวกันไฟรอบสวน ควรกำจัดวัชพืชภายในบริเวณสวนไม้ผลให้โล่งเตียนทันทีหลังหมดสิ้นฤดูฝน เก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้ง ออกจากแปลงปลูกเอาไปคลุมดินรอบโคน ตัดใต้บริเวณทรงพุ่มไม้ผล เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อม และเก็บไว้ในที่เฉพาะสามารถนำมาใช้งานได้ทันที ฝึกซ้อมคนงานเพื่อการดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฤดูแล้งอากาศร้อนจัดและมีใบไม้แห้งมากมีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ในพื้นที่