หญ้าแฝก กำแพงมีชีวิต ช่วยป้องกันการพังทลายของดิน

“…ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ดำเนินการขยายพันธุ์ ทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝก ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝกและแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เพียงพอ…”, “ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝกและแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เพียงพอ…”

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546

ในภาวะปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่า อุบัติภัยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ แต่อุบัติภัยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและมีโอกาสเกิดขึ้นทุกปี นั่นคือ การเกิดภาวะน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก เกิดการพังทลายของดิน บ้านเรือนถูกกระแสน้ำพัดพา รวมถึงการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหากมีการป้องกันได้หรือลดการสูญเสียให้น้อยลง

นอกเหนือจากห้ามการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อนดินขนาดเล็กชั่วคราวหรือฝายแม้ว และที่สำคัญเป็นการป้องกันดินถล่มหรือลดการชะล้างของดินด้วยการปลูกหญ้าแฝก ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

หญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่ขึ้นเป็นกอหนาแน่นอยู่ตามธรรมชาติ ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ตั้งแต่ที่ลุ่มจนถึงที่ดอน หญ้าแฝกมีลักษณะพิเศษหลายประการ ได้แก่ หญ้าแฝกมีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง การแตกหน่อและใบใหม่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ลำต้นมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้หน่อและขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ลักษณะของใบยาว ตัดและแต่งง่าย แข็งแรงและทนทานต่อการย่อยสลาย ระบบรากยาวสานกันแน่น ช่วยในการอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ สามารถทนทานต่อสภาพต่างๆ หรือทนแล้งได้ดี ไม่มีโรคและแมลงรบกวน รากจะประสานติดต่อกันหนาแน่นเปรียบเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน สามารถเก็บกักน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี ระบบรากหยั่งลึก 1.5-3 เมตร และรากแผ่ขยายกว้างรอบกอเพียง 50 เซนติเมตร ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง

วิธีการปลูกหญ้าแฝก
การปลูกหญ้าแฝกสามารถปลูกได้หลายวิธีตามวัตถุประสงค์ของผู้ปลูก ได้แก่ ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน
ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวในแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน

ปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำ
วิธีนี้ใช้กล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีไปปลูกในร่องน้ำเป็นแนวตรง หรือเป็นแนวลูกศรชี้ย้อนศรไปทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหินช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวระยะการปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแนวปลูกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้ง หลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำแล้ว จะปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินเดิมแยกไปสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

ปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้
ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ปลูกในระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนลงไม้ผล โดยปลูกหญ้าแฝกขนานไปกับแนวปลูกไม้ผล หรือปลูกในแนวครึ่งวงกลม ห่างจากแนวโคนไม้ผล 2.5 เมตร เมื่อไม้ผลยังเล็กสามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นและจะกลายเป็นอินทรียวัตถุต่อไป

ปลูกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ 
เป็นวิธีการปลูกในที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดหลุมตามแนวระดับ ถ้าหากกล้าหญ้าแฝกเพาะชำในถุง จะใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้าหญ้าแฝกรากเปลือย จะใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน

ปลูกหญ้าแฝกในที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม
ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่ปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบพื้นที่หรือปลูกขอบแปลงยกร่อง หญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้

ปลูกรอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน
ควรปลูกตามแนวระดับที่น้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนว เหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความลึกของสระน้ำ ระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่าลงสระ ตะกอนดินที่พัดพามากับน้ำจะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระ ระบบรากหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินรอบๆ ขอบสระให้แน่น ไม่เกิดการพังทลาย

วิธีการขยายพันธุ์หญ้าแฝก 
หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่นเดียวกับพืชตระกูลข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ที่พบกระจายอยู่ทั่วไป จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลก ประมาณ 12 ชนิด พันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทย แบ่งออกเป็นพันธุ์ที่ปลูกในที่ลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 พันธุ์ที่ปลูกในที่ลุ่ม ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และพันธุ์เลย หญ้าแฝกทุกพันธุ์เกษตรกรสามารถขยายพันธุ์หญ้าแฝกได้ด้วยตนเอง ด้วยการนำพันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาเพิ่มขยาย เพิ่มปริมาณทั้งการปลูกลงดินหรือปลูกลงถุงขนาดใหญ่ ส่วนการขยายพันธุ์หญ้าแฝก คือการนำหน่อที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำเพื่อนำไปปลูก