หวั่นหลังสงกรานต์ “เรือจอด 50%” สมาคมการประมงร้องนายกฯแก้แรงงานขาดหนัก

หวั่นหลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ขาดแคลนแรงงานประมงหนัก เรือมีสิทธิจอดตายออกหาปลาไม่ได้เกินครึ่งของเรือประมงพาณิชย์ ส่งผลกระทบปลาขาดแคลนและราคาสูงลิ่ว สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหา พร้อมเสนอทางออกให้อธิบดีกรมประมงเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีกรอบแทนกระทรวงแรงงาน

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานทำประมงว่า จากการสำรวจของสมาคมประมงจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 21 จังหวัดถึงจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่สามารถออกทำการประมงได้ และจำนวนแรงงานที่ขาดแคลนที่ส่งตัวเลขมาที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในช่วงวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าเรือประมงขาดแคลนแรงงาน 50,995 คน มีจำนวนเรือประมงที่จอดแล้ว 1,836 ลำ และคาดว่าจะจอดเพิ่มอีก 1,907 ลำ หากภาครัฐไม่มีการแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน เพราะมีเรืออีกจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน แต่ยังพอเอาเรือออกทำการประมงได้ เช่น ต้องการ 30 คนต่อลำ แต่มี 22 คนต่อลำก็พอเอาเรือออกได้ ดังนั้น หากไม่มีการแก้ไข เรือประมงพาณิชย์จะไม่สามารถออกทำการประมงได้อีกมากจังหวัดที่มีเรือประมงจอดมากที่สุดในขณะนี้คือ จ.ปัตตานี มีทั้งสิ้น 500 ลำ ขาดแคลนแรงงาน 9,000 คน จ.ตราด เรือจอด 370 ลำ ขาดแคลนแรงงาน 2,655 คน ทั้งที่อยู่ติดกับประเทศกัมพูชา จ.สงขลา เรือจอดแล้ว 120 ลำ ขาดแคลนแรงงาน 2,815 คน คาดว่าเรือจะจอดเพิ่มอีก 532 ลำ จ.ระยอง เรือจอดแล้ว 214 ลำ เพราะขาดแคลนแรงงาน 9,354 คน คาดว่าเรือจะจอดเพิ่มอีก 200 ลำ จ.สมุทรปราการ เรือจอดแล้ว 50 ลำ เพราะขาดแคลนแรงงาน 4,000 คน คาดว่าเรือจะจอดเพิ่มอีก 100 ลำ จ.สมุทรสาคร เรือจอดแล้ว 80 ลำ ขาดแคลนแรงงาน 2,000 คน เป็นต้น

ในเร็ว ๆ นี้ทางผู้บริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและตัวแทนจากสมาคมประมงจังหวัดต่าง ๆ จะเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงโดยด่วน เพราะขณะนี้เรือประมงไม่สามารถออกทำการประมงถึง 20-30% หากไม่มีการแก้ไข แรงงานประมงต่างด้าวที่กลับประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจไม่กลับมาทำประมงอีก ซึ่งอาจจะขาดแคลนแรงงานหนัก เรือจะไม่สามารถออกทำการประมงได้เป็น 50-60% ของเรือประมงพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตทำการประมง 1.1 หมื่นลำ และถึงสิ้นปีหากไม่มีการแก้ไขตัวเลขเรือจอดอาจถึง 80% ซึ่งจะโกลาหลทั้งประเทศ ส่งผลต่อผู้บริโภคที่จะซื้อปลาในราคาสูงลิ่วหรืออาจขาดแคลน

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานบอกว่าแรงงานประมงขาดแคลนเพียง 10,000 กว่าคน และพยายามจะทำบันทึกความเข้าใจหรือ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาแรงงานใหม่เข้ามาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมาย แต่ก็ทำได้เพียงประเทศกัมพูชากับเวียดนาม และมีแรงงานใหม่ป้อนเรือประมงได้เพียงเล็กน้อย ความหวังที่จะดึงแรงงานจากประเทศเมียนมาที่มีค่อนข้างมาก กระทรวงแรงงานยังไม่สามารถทำ MOU กับประเทศนี้ได้ ทางออกในเรื่องนี้ ภาครัฐต้องให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่อยู่ในไทยประเภทบัตรขาดอายุและจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งไม่ขัดกับกฎหมายแรงงาน ถ้าลูกจ้างจะย้ายนายจ้างที่เป็นเรือประมงด้วยกันก็ไม่มีปัญหา

หากไปให้กระทรวงแรงงานดำเนินการเอาแรงงานผิดกฎหมายในไทยมาขึ้นทะเบียน (ผ่อนผันให้บัตรสีชมพู) อาจจะเข้าวงจรเดิมที่เปลี่ยนนายจ้างบ่อย ที่ผ่านมามักจะย้ายไปทำงานบนบกกันมาก ทำให้แรงงานประมงขาดแคลนอีก นายมงคลกล่าว

ขณะที่นายภูเบศ จันทนิมิ อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำ MOU ดึงแรงงานใหม่จากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานประมง ค่อนข้างมีน้อย เพราะประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ดังนั้น ภาครัฐควรผ่อนผันดึงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในไทยมาขึ้นทะเบียนใหม่อีกรอบ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์