สวก. ตั้งเป้าขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)สร้างสุขภาพที่ดีด้วยไข่ไก่

จากการพัฒนาอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกที่ผ่าน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโลกและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ได้มีการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาทั้งในระดับชาติและสากล ที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายประเทศ และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนา องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่เน้นไปที่การพัฒนามิติต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความเชื่อมโยงกัน จนได้มาเป็น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่ปี 2558 ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายเหล่านั้นคือ การขจัดความหิวโหย หรือ Zero Hunger (SDGs 2)

ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger Challenge : ZHC) โดยร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) อย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้ กษ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานโดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน เพื่อขจัดความหิวโหยและการขาดแคลนอาหารให้บรรลุเป้าหมายภายใน พ.ศ. 2568

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการ ผลการรับประทานไข่ไก่กับผลต่อโภชนศาสตร์ระดับโมเลกุลรายบุคคลในเด็กประถมศึกษา (The Effect of Continuous Egg Supplement on Personalized Nutri-Omics in Primary School Children – SI-EGG Study) ซึ่งมี นายแพทย์กรภัทร มยุระสาคร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

นายแพทย์กรภัทร มยุระสาคร

เนื่องจากประเทศไทยที่มีเด็กขาดสารอาหารสูงถึง 500,000 คน เกิดภาวะขาดโปรตีนและพลังงาน (protein-energy malnutrition ; PEM) ดัชนีชี้วัดที่สำคัญของภาวะสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและเจริญเติบโตในเด็ก จากการสำรวจของ The Multiple Indicator Cluster (MICS) ที่รัฐบาลไทยทำการศึกษาร่วมกับ UNICEF พบว่า ภาวะเตี้ย ขาดธาตุอาหาร เช่น วิตามินเอ เหล็ก และซีดในเด็กไทย โดยเฉพาะในเขตชนบท

คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก ตลอดจนการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเมตาโบโลมิกส์ การเปลี่ยนแปลงของโปรตีน และคอเลสเตอรอลในเลือด รวมทั้งรูปแบบของขนาดคอเลสเตอรอล และวัดการเจริญเติบโตหลังจากการรับประทานไข่ไก่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมหลายแห่งในประเทศไทย โดยจะดำเนินการทดลองโดยให้อาสาสมัครรับประทานไข่ไก่ต้มจำนวน 3 ฟอง ต่อสัปดาห์ หรือ 10 ฟอง ต่อสัปดาห์ ต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ เสริมไปกับมื้ออาหารกลางวันของเด็กนักเรียนวัย 8-14 ปี ในโรงเรียนเขตชนบท จำนวน 400 คน

จากผลการศึกษาพบว่า ก่อนการทดลอง เด็กนักเรียนมีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 56.2 และระดับพรีอัลบูมิน (pre-albumin) ในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 29.1 แต่หลังจากการทดลอง 12 สัปดาห์ ระดับโปรตีนในเลือดของเด็กมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนมีระดับปกติอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นอกจากนี้ การรับประทานไข่ไก่ทำให้มี HDL เพิ่มปริมาณมากขึ้น ในขณะที่ LDL มีปริมาณลดลง เป็นข้อบ่งชี้ว่า การรับประทานไข่ไก่ นอกจากจะช่วยเพิ่มระดับโปรตีนในร่างกายและยังแก้ไขภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดผิดปกติได้อีกด้วย

ไข่ไก่

ผลจากการศึกษาดังกล่าว ทำให้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคไข่ไก่ เนื่องจากไข่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย เหมาะสมกับทุกวัย หากเทียบกับแหล่งโปรตีนชนิดอื่นที่มีราคาสูงกว่า ซึ่งจะช่วยลดการเกิดภาวะทุพโภชนาการ และแก้ไขปัญหาด้านการขาดสารอาหารที่สำคัญของวัยเด็กได้เป็นอย่างดี