ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ขับเคลื่อน กศน.กทม. สู่ “กศน. WOW” ครบเครื่องเรื่องการศึกษา-อาชีพ

“สำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร” (สำนักงาน กศน.กทม.) เป็นเลิศในการส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานให้สถานศึกษา กศน. และภาคีเครือข่าย จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานครได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา

วิถีชีวิตคนเมืองกรุง เต็มไปด้วยสังคมแห่งการแข่งขัน ที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการทำงานเพื่อการศึกษา ของ สำนักงาน กศน.กทม. ภายใต้การนำของ ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร (สำนักงาน กศน.กทม.) ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทสังคมเมืองกรุง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนได้ทั่วถึง ทุกที่ ทุกเวลา

ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.กทม.

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กศน.กทม. มุ่งทำงานส่งเสริมและสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ นโยบายพิเศษของรัฐบาล และทำงานให้สอดคล้องกับนโยบาย มาตรฐานการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพองค์กร สู่ กศน. WOW (6G) ในที่สุด

พัฒนาหลักสูตร “กัญชาและกัญชงศึกษา”

กระแสความสนใจเรื่องกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มาแรงต่อเนื่องในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและประโยชน์ รวมทั้งวิธีใช้กัญชาอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เสมา 3) มอบหมายให้ ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.กทม. จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาหลักสูตร “กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยา อย่างชาญฉลาด” ประกอบด้วย นักวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 เภสัชกร ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ กศน.เขต 7 แห่งประกอบด้วย ได้แก่ กศน.บางรัก บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ ประเวศ คลองสามวา บางบอน และจอมทอง

กศน.กทม. มอบหลักสูตรกัญชาและกัญชงศึกษา ให้เสมา 3

สำหรับหลักสูตร “กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยา อย่างชาญฉลาด” ถูกนำไปใช้ครั้งแรกในภาคเรียนในภาคการศึกษา 1/2563 กับนักศึกษา กศน. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียนรู้ โทษและประโยชน์ ของกัญชา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง กัญชาและกัญชงกับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กัญชาและกัญชงกับแพทย์แผนปัจจุบัน และวิธีการใช้กัญชาและกัญชงเป็นยาอย่างรู้คุณค่าและชาญฉลาด เป็นต้น

สู้ฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสโคโรนา “โควิด-19”

ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญภัยคุกคามจากปัญหา เชื้อไวรัสโคโรนา “โควิด-19” (Covid-19) และ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ทำให้หน้ากากอนามัยและเจอล้างมือซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันโรคประสบปัญหาขาดตลาดอย่างหนัก ดร.กนกวรรณ ได้สั่งการให้สำนักงาน กศน.กทม.จัดอบรมความรู้ครู กศน.เรื่องการทำเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย เพื่อส่งผ่านความรู้สู่ชุมชน ให้สามารถผลิตเจลล้างมือได้เอง เป็นการส่งเสริมด้านสุขภาพพลานามัยคนไทย พร้อมติดอาวุธทางปัญญา ให้ผู้สนใจนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างอาชีพ ผลิตเจลล้างมือออกขายในอนาคต

ที่ผ่านมา ดร.ปรเมศวร์ ให้ความสำคัญกับกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพ ป้องกันจากฝุ่นพิษ PM 2.5 และเชื้อไวรัสโคโรนา โดยสำนักงาน กศน.กทม. ได้จัดทำคู่มือ “ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ห่างไกลฝุ่นจิ๋ว PM 2.5” เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา กศน. ในทุกระดับชั้น ได้เรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพให้ปลอดจากฝุ่น PM 2.5 วิธีลดมลพิษทางอากาศ วิธีสร้างอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สังคม

กศน.เขตบางขุนเทียน ส่งเสริมเรียนรู้การจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า ณ เซ็นทรัล พลาซา พระราม2

นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.กทม. ได้มอบหมายให้ ครู กศน. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และวิธีดูแลสุขภาวะป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ทางสำนักงาน กศน.กทม. ได้เชิญวิทยากรจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาอบรมครู กศน. เรื่องการทำเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เอกมัย เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ประชาชนในพื้นที่ กทม. มีความรู้ ความสามารถ พึ่งพาตนเองได้ ทำเจลล้างมือได้ด้วยตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส

ร่วมกิจกรรมเดินการกุศล กับ ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.

สร้างนวัตกรรมหลักสูตรท้องถิ่น

ตั้งแต่ภาคเรียน 2/2561 เป็นต้นมา สำนักงาน กศน.กทม. ได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและพัฒนาความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ ร่วมกับสถานศึกษาในสังกัด กศน.กทม. จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย “หลักสูตร วัดราชโอรสงดงาม นามกระเดื่อง เคียงคู่จอมทอง” ของ กศน.เขตจอมทอง “หลักสูตร ท้าวมหาพรหมบรมเทพเขตปทุมวัน” ของ กศน.เขตปทุมวัน “หลักสูตร วัดคู่บ้านย่านราษฎร์บูรณะ” ของ กศน.เขตราษฎร์บูรณะ “หลักสูตร พระราชวังเดิมพระเจ้าตากมากคุณค่า สร้างฟ้าวัดอรุณ” ของ กศน.เขตบางกอกใหญ่ “หลักสูตร บางรักศึกษาน่าเรียนรู้” ของ กศน.เขตบางรัก “หลักสูตร คลองสามวาน่าเรียนรู้” ของ กศน.เขตคลองสามวา “หลักสูตร บางบอนแดนดินถิ่นน่ารู้” ของ กศน.เขตบางบอน และ “หลักสูตร แหล่งเรียนรู้คู่ประเวศ” ของ กศน.เขตประเวศ

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กศน.แขวงท่าข้าม

นวัตกรรมหลักสูตรท้องถิ่น ดังกล่าว ตอบสนองนโยบายการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2561 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้จัดการศึกษาตลอดชีวิตและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตามปรัชญา “คิดเป็น” เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสังคม ที่มีการบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรม มุ่งสร้างพื้นฐานการเป็นสมาชิกของครอบครัว ชุมชน สังคม และพัฒนาความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ขณะเดียวกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียนอย่างยิ่ง

จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

สืบเนื่องจากนโยบายของ ดร.กนกวรรณ ที่มอบหมายให้ กศน. จัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้พิการ เด็กเร่ร่อน และคนในสถานพินิจ อย่างทั่วถึง เพราะ กศน. จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ที่ผ่านมา กศน. ได้สำรวจความต้องการของผู้พิการทุกประเภทที่ต้องการมาเรียนกับ กศน. เพื่อจะได้ตอบสนองการเรียนของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่ง ดร.ปรเมศวร์ เป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนแผนการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส คนเร่ร่อน และคนพิการ ภายใต้การนำของ ดร.พะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (เสมา 3) เพื่อยกร่างแผนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับผู้ด้อยโอกาส (เด็กเร่ร่อน และคนพิการ) ก่อนนำไปใช้ในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ ดร.กนกวรรณ เปิดโอกาสให้ครูเกษียณอายุราชการ ผู้สนใจ ตลอดจนองค์กร และหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “จิตอาสา พาเด็กเร่ร่อนกลับเข้าระบบการศึกษา” เพื่อถ่ายทอดความรู้ เสริมทักษะอาชีพ หรือทักษะความรู้ต่างๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อน ได้มีวิชาความรู้ มีทักษะอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ โทร. (02) 282-1770 หรือ www.nfe.go.th

สำนักงาน กศน.กทม. พัฒนาสู่ กศน. WOW (6 G)

พัฒนาสู่ กศน. WOW (6G)

ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สำนักงาน กศน.กทม. ได้สนับสนุนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องยกระดับการศึกษาไทยโดยนำเทคโนโลยีดิจิตอล และแอปพลิเคชั่น เพื่อการศึกษา (G-Suite for Education) มาประยุกต์ใช้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างสมบูรณ์ พร้อมสนับสนุนการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา กศน.กทม. ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล หรือ กูเกิลคลาสรูม (Google classroom) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน และอำนวยความสะดวก ซึ่งสามารถลดข้อจำกัดด้านระยะทาง และระยะเวลา ในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานและผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

กศน.กทม. ร่วมกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ในวันพ่อแห่งชาติ 2562
ร่วมงานแข่งขันกีฬา กศน.เกมส์ ครั้งที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี

ขณะเดียวกัน กศน.กทม. มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพองค์กรให้เป็น กศน. WOW ภายใต้ 6 แนวทาง (6 G) ประกอบด้วย Good Teacher, Good Place, Good Activities, Good Partnership, Good Innovation, Good Learning Center โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย พัฒนาสมรรถนะครู กศน. อย่างต่อเนื่อง พัฒนาสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาให้สะอาด สวยงาม และทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทำงานใกล้ชิดกับเครือข่ายต่างๆ ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ ในแต่ละท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้ทันสมัยเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ