นักวิจัยชี้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สามารถใช้คาดการณ์ผลของมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ได้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า นักวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ ของ วช. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พบว่า การคาดการณ์ว่ามาตรการต่างๆ ที่จะควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศอังกฤษ จะมีผลอย่างไร โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากน้อยเท่าไร และในสัปดาห์ไหน แล้วเอามาเทียบกับจำนวนเตียงของ ไอซียู ที่จะเอามารักษาผู้ป่วยหนักได้ ว่าจะเพียงพอหรือไม่อย่างไร

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ได้รายงานในวารสาร Science พบว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ระบาดอย่างรวดเร็วไปเรื่อยๆ สถานการณ์จะเลวร้ายที่สุด (worst case scenario) จำนวนผู้ป่วยหนักในอังกฤษจะเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าจำนวนเตียงของ ICU ที่มีอยู่ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน และจะขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน โดยในตอนนั้นจะเกินกำลังของ ICU 30 เท่า (แปลว่า ผู้ป่วยหนัก 30 คน อาจจะเข้า ICU ได้แค่คนเดียว) สถานการณ์แบบนี้จะเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นในอิตาลีที่ระบาดเร็วมาก คนไข้จำนวนมากป่วยในเวลาเดียวกัน จึงเจ็บหนัก เสียหายหนัก

แต่ถ้าใช้มาตรการควบคุม เช่น แยกผู้ป่วย เก็บตัวผู้ที่สัมผัสไว้ที่บ้าน เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัย เป็นต้น จะช่วยชะลอการระบาดและลดจำนวนผู้ป่วยได้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้า ICU ลดลง ลดภาระของโรงพยาบาล ยืดเวลาและความเร็วในการระบาดให้ช้าลงได้ โดยแต่ละมาตรการให้ผลที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม มาตรการเดี่ยวๆ แต่ละอย่าง จะได้ผลไม่มากนัก จำเป็นจะต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน จึงจะบรรเทาความรุนแรงของการระบาดลงได้

วิเคราะห์และประมวลข้อมูล โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ