แนะปราบเพลี้ยแป้งในมะม่วงหิมพานต์

ช่วงนี้ต้นมะม่วงหิมพานต์เริ่มเข้าสู่ระยะพัฒนาผล กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงหิมพานต์เฝ้าระวังในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน และมีแดดจัดในเวลากลางวัน ให้สังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อน ทำให้เมล็ดและผลปลอมไม่เจริญ แคระแกร็น เมล็ดลีบหรืออาจทำให้ผลอ่อนร่วงหล่นได้

กรณีที่มีเพลี้ยแป้งปริมาณมาก มักพบเพลี้ยแป้งเกาะเป็นกระจุกที่ลำต้น และอยู่ร่วมกันกับมด โดยมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของต้นมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งมดอาศัยน้ำหวานจากเพลี้ยแป้งที่ถ่ายออกมา

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจผลอ่อนมะม่วงหิมพานต์อย่างสม่ำเสมอ หากพบกลุ่มเพลี้ยแป้งเป็นปุยสีขาวเกิดขึ้น ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงพิริมิฟอส–เมทิล 50% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นป้องกันกำจัด 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เพราะตัวอ่อนเพลี้ยแป้งหลบอยู่ใต้ท้องตัวเต็มวัยเพศเมียอาจยังไม่ตายจากการพ่นครั้งแรก หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร

Advertisement