บึงกาฬแล้ง! นาปรัง 3,000 ไร่ขาดน้ำทหารนำเครื่องสูบน้ำ “พลังงานแสงอาทิตย์” ช่วยเหลือ

DCIM100MEDIADJI_0039.JPG

วันนี้ 14 มี.ค.เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ จ.บึงกาฬ สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่อวิกฤติรุนแรง หลังฝนทิ้งช่วงมานาน ทำให้ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด บวกกับสภาพอากาศร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อ เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่บ้านโพนแก้ว หมู่ที่ 10 และบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ กว่า 3,000 ไร่ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ข้าวที่กำลังจะโต บางพื้นที่กำลังตั้งท้องออกรวงได้รับความเสียหาย ต้นข้าวเริ่มยืนต้นแห้งตาย ชาวนาหลายราย เริ่มถอดใจปล่อยทิ้งข้าวในนาบางส่วนให้แห้งตาย เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้

พล.ต.สมชาติ แน่นอุดร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 หลังได้รับรายงานว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจึงสั่งการให้ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 นำรถสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ ขนาด 1,200 วัตต์ พร้อมกำลังพลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้งด้วยการสูบน้ำจากลำน้ำสงครามขึ้นมาแล้วส่งไปตามคลองส่งน้ำต่างๆในพื้นที่การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวไปตลอดหน้าแล้ง และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับเครื่องสูบน้ำเป็นนโยบายของรัฐบาล ต้องการให้พื้นที่ต่างๆ ในประเทศใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ลดค่าใช้จ่ายค่าการสิ้นเปลืองให้แก่ประชาชน

ด้านนายวรพันธ์ ชำนิยันต์ นายอำเภอพรเจริญ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่พร้อมหน่วยทหารรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัดบึงกาฬ เกษตรอำเภอพรเจริญ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวช้าง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างทั่วถึงไม่ให้มีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น พื้นที่บ้านโพนแก้วแห่งนี้เมื่อถึงฤดูฝนไม่สามารถทำนาปีได้เนื่องจากน้ำได้ท่วมพื้นที่นาทั้งหมด จึงต้องอาศัยทำนาในช่วงหน้าแล้ง แต่มีเกษตรกรทำนาปรังกันเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำจึงมีไม่เพียงพอเกษตรกรจึงได้แจ้งไปยังอำเภอพรเจริญและทหารรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งในเบื้องต้นทหารได้นำรถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาดึงน้ำจากลำห้วยสาขาของแม่น้ำสงครามมาช่วยเหลือเกษตรกร ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานบึงกาฬ นำเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเหลือคาดว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนได้อีกในระดับหนึ่ง

ขณะที่ภาพรวมปัญหาภัยแล้งทั้งจังหวัดปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับมือได้โดยมีจุดเสี่ยงที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องคือบริเวณซึ่งต้องใช้น้ำจากแม่น้ำสงคราม ใน 3 อำเภอประกอบด้วย 1.อำเภอโซ่พิสัย 2.อำเภอพรเจริญ และ 3.อำเภอเซกา เพราะในแม่น้ำดังกล่าวยังไม่มีโครงการชลประทานสำหรับเก็บกักน้ำหากมีการเพาะปลูกในปริมาณที่มากก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง