ร้อนแล้ง แนะวิธีป้องกันหนอนเจาะดอกมะลิ

ก้าวเข้าสู่ช่วงภาวะอากาศร้อน แห้งแล้ง และมีลมพัดแรงเป็นระยะ เสี่ยงเจอปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนเจาะดอกมะลิ ที่มักเข้าทำลายต้นมะลิที่กำลังผลิดอก จะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามบริเวณกลีบดอก ก้านกลีบเลี้ยง ใต้ใบ หรือรอยยอดอ่อน เมื่อตัวอ่อนหนอนฟักออกมาจากไข่จะเข้าทำลายดอกมะลิในระยะดอกตูมที่มีขนาดเล็ก

หนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในดอกมะลิ สังเกตได้จากดอกมะลิเป็นรอยช้ำ เห็นมูลของหนอนเป็นขุยๆ อยู่ภายใต้ดอก สีของดอกมะลิจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง สีน้ำตาลแห้ง เหี่ยวแห้ง และร่วงหล่น หากต้นมะลิไม่มีดอก หนอนจะกัดกินใบอ่อนหรือยอดอ่อน หากมีการระบาดรุนแรงจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บดอกมะลิขายได้เลย

หากเกษตรกรผู้ปลูกมะลิเจอปัญหาลักษณะนี้ กรมวิชาการเกษตรแนะนำวิธีป้องกันและกำจัดหนอนเจาะดอกมะลิ โดยพ่นสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากพบการระบาดของหนอนเจาะดอกมะลิ ให้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงทุกๆ 4 วัน ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง เพราะเสี่ยงให้หนอนเจาะดอกมะลิสร้างภูมิต้านทานยาฆ่าแมลงชนิดนั้นได้รวดเร็ว

หากเกิดกรณีหนอนเจาะดอกมะลิเกิดภูมิต้านทาน แนะนำให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงในอัตราส่วนที่สูงขึ้น และเลือกใช้ยาฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะดอกมะลิไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหาย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564