ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | กัลยดา ชุ่มอินทรจักร |
เผยแพร่ |
ละมุด เป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย และเขตร้อน ท่านทราบบ้างมั้ยว่า ละมุด ดั้งเดิมมาจากไหน ละมุดมีทั้ง ละมุดป่า ละมุดสีดา ละมุดกลม และรี หรือละมุดยักษ์
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป เศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด ผู้คนตกงาน แต่อาชีพที่ยั่งยืนคือ การทำเกษตร หรือกลับมาสู่ธรรมชาติ หนีทั้งความแออัดในเมือง ถ้าคุณรีบหันหลังกลับสู่ความเป็นธรรมชาติได้เร็ว ก็จะประสบความสำเร็จเร็ว ภาวะวิฤตและการถดถอยของเศรษฐกิจ ทำให้คนมากมายตกงานโดยไม่รู้ตัว
การเกษตรเป็นวิถีแห่งทางเลือกอีกทางหนึ่งที่สร้างรายได้ ความเป็นธรรมชาติ และทำให้สุขภาพดี การปลูกละมุด ก็เป็นทางเลือกทางหนึ่ง นอกจากปลูกแล้วการศึกษาเรียนรู้ถึงการแปรรูป เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งจะแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด ถ้ารู้เท่าทันกลไกต่างๆ ก็จะไม่เสียผลประโยชน์หรือประสบภาวะการขาดทุน จึงอยากจะแนะนำการปลูกละมุด และการแปรรูป สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน จะกล่าวถึง ละมุดยักษ์ทูอินวัน เป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ยั่งยืน
รู้จักที่มาของ ละมุด ทางพฤกษศาสตร์
ชื่อสามัญ Sapodilla ละมุด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Manilkara zapota (L.) P.Royen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Manilkara achras (Mill.) Fosberg)
จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)
ละมุด มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ละมุดฝรั่ง (ภาคกลาง), ชวานิลอ (ปัตตานี, มลายู, ยะลา), สวา เป็นต้น
ต้นละมุด มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน แถวๆ ประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง และอินเดียตะวันตก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง พุ่มทึบ มีกิ่งก้านแตกออกเป็นชั้นๆ รอบๆ ลำต้น แหล่งที่ปลูกละมุดในบ้านเรา ก็ที่ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยสายพันธุ์ละมุดที่นิยมปลูกนั้น ก็จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด นั่นก็คือ ละมุดไทย (ละมุดสีดา) และละมุดฝรั่ง
ใบละมุด ใบเป็นใบเดี่ยว มักออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ท้องใบมีสีน้ำตาลอมเขียว
ดอกละมุด ลักษณะของดอกละมุดเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามง่ามกิ่ง มีกลีบรองดอกเรียงกัน 2 ชั้น กลีบดอกจะเชื่อมกันและยกตั้งขึ้น มี 6 กลีบ สีเหลืองนวล
ผลละมุด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ หรือมีปลายแหลม ผิวมีสีน้ำตาล ผลดิบจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ในยางมีสารที่ชื่อว่า กัตโต (Gutto) รสฝาด แข็ง ส่วนผลสุกจะนิ่ม มีรสหวาน ไม่มียาง ข้างในผลมีเมล็ดรูปยาวรีสีดำฝังอยู่ในเนื้อ ใน 1 ผล จะมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด
คุณค่าทางยา และประโยชน์ของละมุด
ละมุด มีวิตามินซีสูง จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันหวัดได้ เมล็ด ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
การรับประทานละมุด จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
เปลือกของลำต้นละมุด นำมาต้มปรุงเป็นยาแก้บิด (ประเทศฟิลิปปินส์) ยาง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง
ละมุด เป็นผลไม้ที่มีเส้นใยมาก จึงช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำไวน์ หรือนำมาทำน้ำละมุด
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, thaihealth (สสส.), rspg
วิธีการปลูกละมุด
ขุดหลุมกว้าง และลึก 30 เซนติเมตร ปลูกระยะห่าง 6 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกและขุยมะพร้าวหรือเปลือกถั่ว แล้วก็กลบโดยทำโคนต้นให้นูน เพื่อไม่ให้น้ำขัง และพรวนดินรอบๆ เพื่อความชุ่มชื้นของดินบริเวณพื้นที่ปลูก
ละมุดทูอินวัน ปลูกแล้วได้ราคา กิโลกรัมละ 40-60 บาท ถือว่าเป็นละมุดที่ราคาดี เป็นเพราะสายพันธุ์และผลออกมาสีสวย ขนาดของผล และความหวานเป็นที่ชื่นชอบของตลาด สังเกตง่ายๆ ถึงความแก่จัดที่จะพอเก็บได้ โดยลูกค้ามารับซื้อถึงสวน ประหยัดค่าขนส่งและแรงงาน เพราะลำต้นไม่สูงมาก บังคับความสูงได้ดี
ความหวานของละมุดถ้าเปรียบเทียบ เป็นมาตรวัดความหวานแล้วอยู่ที่ 16-18 บริกซ์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์หวานจัด
จากการสอบถามผู้ที่ปลูกละมุดที่มีประสบการณ์ตรงมาหลายปี ท่านคือ อาจารย์วิเชียร บุญเกิด ผู้ที่ปลูกละมุดพันธุ์ทูอินวัน แห่งสวนสุวรรณี ปรางทอง อยู่เลขที่ 161/2 หมู่ที่ 1 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ทำไม ถึงชื่อ ละมุดทูอินวัน
อาจารย์ได้มาอย่างไร
“ผมได้ต้นแม่พันธุ์มาจากเวียดนามครับ จากการไปดูงานเกษตรที่เวียดนาม ไปเจอต้นละมุดที่เขาเอามาโชว์ในงาน ทั้งต้น พร้อมมีลูกละมุด ซึ่งก็มี 2 ลักษณะผล คือ กลม กับรี อยู่ในต้นเดียวกัน และทางเวียดนามเขาก็เรียกว่า ทูอินวัน
ผมซื้อต้นพันธุ์มา ซึ่งเป็นกิ่งตอน แล้วนำมาขยายพันธุ์ และคิดว่าต้องการให้มีรากแก้วเพื่อกันต้นล้มเวลาหน้าลมแรง และอีกอย่างหนึ่งกลัวว่าต้นพันธุ์จะตาย เพราะอากาศที่แตกต่างกัน เวียดนามอุณหภูมิเย็นกว่าบ้านเรา ก็ลองเอาต้นพันธุ์พื้นเมืองที่เพาะจากเมล็ดเป็นต้นตอ แล้วเสียบยอดละมุดทูอินวันเข้าไป ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด เจริญงอกงามดี ให้ผลภายในปีที่สาม
จึงขยายพันธุ์ต่อ ปลูกในสวนผมเอง ตอนนี้มี 200 ต้น โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ความสำเร็จในการต่อยอดการขยายพันธุ์ละมุดทูอินวันของผม จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น ทางด้านเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้ดีเด่น จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ ศ. 2554 จนปัจจุบันนี้ มีคนแวะมาชมสวนผมเกือบทุกวันครับ”
วิธีการแปรรูป
1. การแปรรูปเป็นละมุดกวน ละมุดสุกงอม 1 กิโลกรัม แป้งกวนไส้ 1 ขีด น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา โดยปั่นละมุดให้ละเอียด เติมมะนาว และแป้งกวนไส้ กวนจนงวด ก็จะได้ละมุดกวนเก็บไว้รับประทานได้นานครับ ผมชิมดูแล้วก็อร่อยมากครับ
2. นำมาบดเก็บไว้ในช่องแข็งของตู้เย็น เวลารับประทานก็นำมาปั่นกับน้ำแข็ง โดยไม่ต้องเติมน้ำตาล หรือนำมาเทใส่พิมพ์ไอศกรีม แช่ช่องแข็ง จะได้ไอศกรีมละมุด หรือหวานเย็นละมุด
3. ทำไวน์ละมุด ทำง่ายๆ แบบข้าวหมาก หรือเหล้าขาวพื้นบ้านได้เลย โดยไม่ต้องเติมน้ำตาล เพราะความหวานของละมุดมีมาก ทำให้ได้รสชาติดี โดยการนำละมุดสุกงอมมาคั้นน้ำ ใส่เชื้อหมักลงไป อีก 3-4 วัน ก็ดื่มได้ แต่ภาชนะต้องสะอาด ฆ่าเชื้อภาชนะด้วยการนึ่ง ถึงจะนำมาบรรจุขวดได้ เก็บใส่ตู้เย็น
4. การทำละมุดอบแห้ง หรือละมุดตากแห้ง เป็นวิธีทำแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำคล้ายๆ กล้วยตาก วิธีนี้ยิ่งทำให้กลิ่นหอมของละมุดยังคงเดิม ต้องใช้ละมุดที่สุกงอม โดยไม่มีความฝาดอยู่ นำมาปอกเปลือก หั่นชิ้นไม่ต้องหนา เพราะถ้าหั่นหนา ก็จะแห้งช้า อาจจะต้องตากหลายแดดหรือซื้อเครื่องอบแห้งมาอบ
แนวโน้มการปลูกละมุดเป็นอย่างไร
“ละมุด ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก ที่สวนผมไม่พอขาย เป็นไม้ผลที่น่าปลูกที่สุด หากท่านพอมีที่ปลูก เป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาตอนนี้” อาจารย์วิเชียร กล่าว
ผลผลิตละมุดต่อต้น หลังจาก 3 ปีขึ้นไป สำหรับละมุดพันธุ์ทูอินวัน จะมีขนาด 3-4 ลูก ต่อกิโลกรัม ใน 1 ต้น จะได้ 100 กิโลกรัม ยิ่ง 10 ปีขึ้นไป ยิ่งได้ผลผลิตมาก
ละมุด ยังเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตทั้งปี พอเก็บเกี่ยวรุ่นนี้ไป ก็จะเห็นดอกและผลอ่อนออกมาอีกต่อเนื่องกันไป
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โรคระบาด ผู้คนตกงาน การเกษตรเป็นอาชีพที่ยั่งยืน และยังทำให้ไม่เครียด ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ยังทำให้สุขภาพดี การรับอากาศธรรมชาติดีกว่าอยู่แต่ห้องทำงานห้องแอร์ และอยู่ในที่แออัด ในที่ทำงาน
“ผมมีลูกค้ามาเยี่ยมชมที่สวน แต่ละท่านก็สนใจที่จะปลูกละมุด บางท่านมีที่มากบ้างน้อยบ้าง บางท่านก็ปลูก 1 ต้น หรือ 2 ต้น แต่ก็ส่งรูปภาพมาให้ดู แต่ละท่านก็ให้ผลดกมาก ในเวลา 4 ปี เช่น คุณวาสนา อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้ปลูกไว้หลังบ้านติดกับที่นา โดยแบ่งที่ไว้ปลูก 2 ต้น ให้ผลดกมาก ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อต้น เพราะ 3-4 ลูก ต่อกิโลกรัม เก็บได้ 200 ลูก ต่อต้น ขายเอง กิโลกรัมละ 60 บาท ไม่พอขาย มี 2 ต้น ได้ 100 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 6,000 บาท เพราะคุณวาสนาไม่มีที่ดินมาก เพียงแต่ปลูกที่ว่างหลังบ้าน ละมุดแทบจะไม่มีค่าปุ๋ย ค่ายา เพราะกิ่งพันธุ์ผมใช้พันธุ์พื้นเมืองมาเสียบยอด บำรุงต้นก็ใช้ปุ๋ยคอก จะมีศัตรูพืชก็หนอนเจาะโคนต้น สังเกตง่ายๆ ดูที่โคนต้น จะมีขุยๆ ของต้นละมุดอยู่ ก็เปิดปากแผลให้กว้าง แล้วใช้ยาเส้นยัดเข้าไปตามรูที่หนอนเจาะ แค่นี้ก็ตายแล้วครับ”อาจารย์วิเชียร บอก และกล่าวอีกว่า
“ผมแนะนำจากประสบการณ์ตรงของผมที่คร่ำหวอดอยู่กับละมุดมานาน ยังคงเป็นพืชที่ทำเงินให้ผมมากมายในแต่ละปี และผมตามข้อมูลจากลูกค้าที่ซื้อต้นพันธุ์จากผมไป แต่ละคนก็บอกว่าขายลูกไม่พอขาย ยังมาถามซื้อลูกละมุดเพิ่มเติมจากผม เพื่อเอาไปขายอีกครับ…กลางเดือนมีนาคม ผมก็เก็บเกี่ยวละมุดจากสวน ที่สวนผมมีละมุดอยู่ 200 ต้น มีอายุตั้งแต่ 5-12 ปี เฉลี่ยต่อต้น 50-70 กิโลกรัม มีต้นใหญ่ที่เก็บได้ 50-70 กิโลกรัม 150 ต้น ใช้เวลาเก็บรุ่นกลางเดือนมีนาคม จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม เป็นรายได้เฉลี่ยทั้งหมด 450,000-630,000 บาท เป็นราคาขายส่ง โดยมีคนมารับที่สวน ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ถือว่าเป็นรายได้ค่อนข้างดี สำหรับผมนะครับ”
ปลูกละมุดพันธุ์ยักษ์ทูอินวัน ถือว่าคุ้มค่าในการปลูก เพราะรสชาติความหวานและความฉ่ำมีมาก ละมุดลูกใหญ่หลายท่านที่ยังเข้าใจผิดว่า จะไม่หวานและมีเสี้ยนหรือเส้นใยเยอะ ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริง มาชมของจริงได้ที่สวนเลยครับ ละมุดลูกใหญ่นอกจากความหวานฉ่ำแล้ว ยังเป็นที่นิยมของตลาดอีกด้วย
อาจารย์วิเชียร แนะนำตอนท้ายว่า ท่านที่ออกจากงานคิดจะหางาน หรือคิดจะทำการเกษตร ขอแนะนำให้ปลูกละมุดยักษ์ทูอินวัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 085-244-1699
เผยแพร่ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ.2563