ไทยยูเนี่ยน นำร่องโครงการ ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ด้วยระบบดิจิทัล

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สานต่อตามกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ด้วยการเปิดตัวโครงการนำร่องทดสอบแพลทฟอร์มเพื่อใช้กับระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและข้อมูลการจับปลาแบบอิเล็กทรอนิกซึ่งจะใช้การเชื่อมต่อของแอพพลิเคชั่นบนมือถือและสัญญาณแซทเทิลไลท์ในการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ตั้งแต่การจับปลา รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือที่ให้แรงงานที่ทำงานในท้องทะเลได้แสดงความคิดเห็นซึ่งจะแสดงถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านแรงงานอย่างยุติธรรมในการประมงของไทยการขับเคลื่อนของบริษัท ไทยยูเนี่ยนคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการรายงานการจับปลา การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ การสื่อสารเชิงธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการ

โครงการนี้มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพของการบันทึกข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งรับรองโดยผู้จัดการการประมงรวมทั้งเปิดโอกาสให้แรงงานได้แสดงความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างถูกกฎหมายและยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมุ่งแสดงถึงความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบอิเล็กทรอนิกครบวงจร และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานซึ่งเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างๆ อาทิเช่นในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งมีความกังวลในเรื่องการประมงแบบ IUU และประเด็นด้านแรงงานในอุตสาหกรรมการประมง

ไทยยูเนี่ยน เชื่อว่าความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นหลักสำคัญของความยั่งยืน โดยบริษัทมีส่วนร่วมในโครงการอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น โครงการนำร่องนี้ ซึ่งติดตามผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การจับปลาไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภค การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบมีความสำคัญยิ่งต่อโครงการจัดหาแหล่งวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบของบริษัทซึ่งทำให้ไทยยูเนี่ยนสามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของบริษัทได้รับการจัดหามาอย่างถูกกฎหมายและอย่างมีจริยธรรมรวมทั้งมีการส่งเสริมให้แรงงานทั้งที่ทำงานอยู่ในท้องทะเลและที่โรงงานสามารถแสดงความเห็นได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

ปัจจุบัน ระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะติดตามและจัดการการประมงแบบ IUU จากห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบเหล่านี้เป็นการบันทึกลงเอกสาร จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ดังนั้น ไทยยูเนี่ยนจึงได้วางระบบการตรวจสอบย้อนกลับแบบระบบดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงานระหว่างไทยยูเนี่ยน อุตสาหกรรมอื่น และหน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านความร่วมมือทางท้องทะเลและการประมง(U.S. Agency for International Development’s Oceans and Fisheries Partnership: USAID Oceans)

ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “ช่วงแรกของโครงการจะพิจารณาเรือเพื่อช่วยในห่วงโซ่อุปทาน และนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกันในทะเล ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งจะรายงานการสื่อสารระหว่างลูกเรือ และกิจกรรมของเรือขณะออกเดินเรือ”

ไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบสื่อสาร “Fleet One” ของ Inmarsat บนเรือประมง ในขณะที่ลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือได้รับการอบรมการใช้งานแอพพลิเคชั่นการสื่อสาร “Fish Talk” ซึ่งพัฒนาโดย Xsense ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนได้ทั่วโลกในขณะที่อยู่ในทะเล นับเป็นครั้งแรกของวงการการประมงไทย นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่น eLogbook หรือบันทึกกิจกรรมเดินเรือแบบดิจิตอล และแอพพลิเคชั่นการจัดการเรือ โดยโครงการนี้ยังมีแผนจะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประมงและผู้นำสังคมทั้งหลายมาร่วมหาแนวทางที่เป็นไปได้การขับเคลื่อน และแรงจูงใจเพื่อให้การประมงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบอิเล็กทรอนิก

“เราเห็นว่าระบบนี้สามารถสร้างประสิทธิภาพได้ในหลายรูปแบบไม่เพียงแต่เพื่อการสื่อสารระหว่างลูกเรือในท้องทะเลและการทำงานระหว่างกัปตันและเจ้าของเรือระหว่างการเดินเรือเท่านั้นแต่ยังช่วยลดขั้นตอนการกรอกรายงานการจับปลาแบบเดิมที่จะดำเนินการ ณ  ท่าเรือ” ดร.แมคเบน กล่าวและย้ำว่า “ไทยยูเนี่ยนมีความมุ่งมั่นในการแสดงถึงความโปร่งใสและการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในห่วงโซ่อุปทานของเราและโครงการนำร่องนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไทยยูเนี่ยนเดินหน้าทำงานอย่างแข็งขันในการผลักดันให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์