สวนเลม่อนทรีฟาร์ม ผลิตพืชอินทรีย์สู่วิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งแรกของหนองบัวลำภู

คุณชัยศักดิ์ ผิวผ่อง เล่าให้ฟังว่า เดิมครอบครัวประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ด้านการรับเหมาออกแบบตกแต่งภายใน สมรสกับ คุณปรัชญาวรรณ สารบัน มีบุตรสาว 2 คน ภรรยาทำธุรกิจเสื้อผ้าส่งออก ครอบครัวอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 15 ปี คุณชัยศักดิ์และภรรยามีความสนใจในด้านการทำการเกษตร เนื่องจากเดิมครอบครัวและบ้านเกิดอยู่ในชนบท และมีแนวคิดอยากกลับไปใช้ชีวิตทำการเกษตรที่บ้านเกิด จึงได้ศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรเสมอมา ต่อมาภรรยาประสบปัญหาเรื่องธุรกิจ เกิดความท้อแท้ใจ อยากหนีความวุ่นวายของเมืองหลวง ประกอบกับบิดาป่วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแนวความคิด ทำให้ตัดสินใจพาครอบครัวกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด บ้านหนองด่าน ตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อพาบิดามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีใกล้ชิดธรรมชาติ อากาศดี ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี และสมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพที่ดี

ปี 2558 ได้เริ่มกลับมาปรับปรุงที่ดินมรดกจากเดิมเป็นแปลงปลูกอ้อย พื้นที่ 62 ไร่ ได้น้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักคิดและแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนชีวิตจากการใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่วุ่นวายมาอยู่ในชนบทที่เรียบง่าย และพอเพียง มุ่งหวังให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุข และมีสุขภาพที่ดี โดยเริ่มจากการปรับพื้นที่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ และเริ่มปลูกมะนาวก่อน เนื่องจากมีญาติทำสวนมะนาวอยู่ก่อนแล้วให้คำแนะนำ จึงเป็นที่มาของชื่อสวนเลมอนทรีฟาร์ม ต่อมาเริ่มทำการเกษตรอินทรีย์ โดยมี คุณพ่อบัวพันธ์ บุญอาจ เป็นคนชักชวนและคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและชี้แนะแนวทางการดำเนินงานตามระบบเกษตรอินทรีย์ จึงมีแนวคิดปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน กินทุกอย่างที่ปลูก ทยอยปลูกพืชหลากหลายชนิด เพราะอยากให้ครอบครัวได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ที่เหลือก็แจกจ่ายญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและทำบุญ

คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กับสมาชิกเกษตรอินทรีย์

ปี 2559 เริ่มขยายพื้นที่การผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีการวางผังแปลงการปลูกพืชให้ชัดเจน เป็นระเบียบ สะดวกในการปฏิบัติงาน และสวยงาม เนื่องจากมีความรู้เรื่องออกแบบตกแต่งอยู่แล้ว หลังจากนั้นเพิ่มจำนวนชนิดพืชที่ปลูกมากขึ้น และเริ่มสนใจขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากมองว่าหากจะทำเกษตรอินทรีย์เพื่อจำหน่ายและเป็นอาชีพอย่างยั่งยืนต้องมีตลาดที่แน่นอนและต้องให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้า จึงได้ติดต่อประสานงานกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ในการยื่นขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ นอกจากนั้น ยังเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภูของจังหวัดหนองบัวลำภู

ปี 2560 ปรับปรุงแปลงตามที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เรื่องการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เริ่มมีผลิตภัณฑ์สู่ชุมชนและตลาดใกล้เคียง

ปี 2561 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ระยะปรับเปลี่ยนและเริ่มทำ MOU กับโรงพยาบาลหนองบัวลำภู และโรงพยาบาลนากลาง นอกจากนั้นร่วมออกบู๊ธจำหน่ายผลิตภัณฑ์กับหน่วยงานราชการ

คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดการอบรมเกษตรกรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ณ สวนเลมอนทรีฟาร์ม อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู

ปี 2562 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน 34 ชนิดพืช เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ตนเองและครอบครัวเลือกทางเดินถูกต้องแล้ว แนวคิดต่อไปคือการพัฒนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนของครอบครัว จากการที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานราชการต่างๆ ได้นำเอาหลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นนโยบายส่งเสริมการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาใช้ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ชื่อวิสาหกิจชุมชนเลมอนทรีฟาร์ม มี คุณชัยศักดิ์ ผิวผ่อง เป็นประธาน และภรรยา คุณปรัชญาวรรณ สารบัน เป็นกรรมการฝ่ายการตลาด มีสมาชิก 13 คน มีสมาชิกที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 ราย อยู่ระหว่างการขอรับรอง 11 ราย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีกิจกรรมการผลิตและการตลาดร่วมกัน ใช้ตลาดนำการผลิต โดยกลุ่มจะรับผิดชอบหาตลาดและวางแผนการผลิตให้กับสมาชิก ตลาดหลักคือ

คุณคมสัน จำรูญพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามและเยี่ยมชมการผลิตเกษตรอินทรีย์ สวนเลม่อนทรีฟาร์ม
  1. โรงพยาบาลอำเภอนากลาง และโรงพยาบาลจังหวัดหนองบัวลำภู
  2. ตลาดเกษตรกรหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
  3. ตลาด OTOP บริเวณสนามนเรศวรมหาราช จังหวัดหนองบัวลำภู และขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มทำข้อตกลง (MOU) กับเทสโก้โลตัส โดยมีแผนการส่งฝรั่งจำหน่ายเป็นผลผลิตชนิดแรก ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้จัดตั้งสหกรณ์ส่งเสริมการตลาดผักผลไม้อินทรีย์หนองบัวลำภู จำกัด มี คุณชัยศักดิ์ ผิวผ่อง เป็นประธาน มีสมาชิกทั้งสิ้น 26 ราย และในปลายปี 2562 มีแผนที่จะเชื่อมโยงการตลาดกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและมีความสนใจในเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเปิดให้บริการเป็นฟาร์มสเตย์ โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู

คุณชัยศักดิ์ และภรรยา ให้ข้อมูลอีกว่า แต่ก่อนประกอบธุรกิจส่วนตัวด้านออกแบบตกแต่งภายในและเสื้อผ้าส่งออก แต่ไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน เมื่อเริ่มต้นจึงใช้วิธีลองผิดลองถูกศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเองจากอินเตอร์เน็ต เอกสารตำรา ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองจากการอบรมจากหน่วยงานราชการ ศึกษาดูงานจากเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ และปราชญ์เกษตรในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เนื่องจากมีความสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์และเริ่มมองเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ โดยมี พ่อบัวพันธ์ บุญอาจ เกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นต้นแบบเพราะเชื่อว่าการเรียนรู้จากผู้ที่สำเร็จแล้วเป็นการเรียนทางลัด โดยเข้าไปคลุกคลีศึกษาเรียนรู้ถึงในแปลงของพ่อบัวพันธ์  ปราชญ์เกษตรอินทรีย์

หลังจากได้ไปเรียนรู้กับพ่อบัวพันธ์ ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์กับสำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้ได้รู้จักกับเกษตรกรคนอื่นๆ ที่ทำเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน จึงเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำความรู้มาพัฒนาต่อยอดการทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงตนเองจนเกิดทักษะความรู้ความชำนาญสะสมประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นจากระยะแรกปลูกมะนาวยังไม่มีรายได้มากนัก จึงเริ่มขยายพื้นที่การทำการเกษตรออกไปเป็น 20 ไร่ ในปี 2559 เริ่มมีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด และขยายเต็มพื้นที่ถือครอง 62 ไร่ ในปี 2561

คุณชัยศักดิ์ ผิวผ่อง กับกลุ่มอารักขาพืช

การประยุกต์และการบริหารจัดการใช้เทคโนโลยี

ในพื้นที่จำนวน 62 ไร่ ซึ่งบิดามารดาได้ยกพื้นที่ให้และได้ทำการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานนั้น ได้นำเอาความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง สถานีพัฒนาที่ดินหนองบัวลำภู มาประยุกต์ใช้ในฟาร์ม ได้แก่

  1. ปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอ โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) และแหนแดง
  2. 2. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ในแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม
  3. ปลูกพืชแบบผสมผสาน หลากหลายชนิด หมุนเวียนตามฤดูกาล เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มแมลงศัตรูธรรมชาติ ตัดวงจรชีวิตแมลงศัตรูพืช และไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคแมลงศัตรูพืช
  4. ปลูกหญ้าแฝกบนคันบ่อ เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
  5. การหมุนเวียนทรัพยากรและปัจจัยการผลิตภายในฟาร์ม ในการผลิตพืชจะมีสิ่งเหลือใช้จากกิจกรรมต่างๆ ก็ได้นำมาแปรสภาพหรือหมุนเวียนใช้ประโยชน์ เช่น ฟางข้าว จากการทำนาและการกำจัดวัชพืชโดยการตัดหญ้า นำฟางข้าวและเศษวัชพืชมาทำปุ๋ยหมัก คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในแปลงผัก เศษใบไม้ กิ่งไม้ ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งไม้ผล นำมาคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในแปลงไม้ผล เศษพืชผักผลไม้จากการคัดแยกผลผลิตก่อนจำหน่ายนำมาใช้เลี้ยงปลากินพืชในสระน้ำ และนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ มีการเลี้ยงไก่ไข่ไว้เป็นอาหารและนำไข่ไก่มาทำน้ำหมักฮอร์โมนไข่ มูลไก่นำมาเป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมัก หน่อกล้วยที่ตัดแต่งออก นำมาทำน้ำหมักหน่อกล้วย หอยเชอรี่ในนาข้าวนำมาทำน้ำหมักหอยเชอรี่
  6. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการสื่อสารมาช่วยในการศึกษาค้นหาข้อมูลการผลิตพืชอินทรีย์ มีการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในการบันทึกข้อมูล ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และเกษตรกรด้วยกันเอง การใช้โซเชี่ยลมีเดียในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่มและกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย ได้แก่ การใช้ Line group Facebook fanpage และมีการจัดทำ QR-code ของสวนเลมอนทรีฟาร์ม
คุณชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นประธานเปิดงานการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนการผลิตฤดูกาลใหม่ ณ สวนเลมอนทรีฟาร์ม

การแก้ไขปัญหาด้านการผลิต

เศรษฐกิจ และสังคม

ในการเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์ของสวนเลมอนทรีฟาร์มนั้น ไม่ได้ราบรื่นและประสบปัญหาหลายประการ เช่น เรื่องดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีแนวคิดเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ว่าจะต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารครบถ้วนสมดุล จะช่วยให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานต่อการระบาดของโรคและแมลง จึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) และปุ๋ยชีวภาพ (จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต,แหนแดง) โดยการผลิตปุ๋ยหมักจะหมุนเวียนเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตพืช เช่น ฟางข้าวและเศษวัชพืชภายในฟาร์มมาทำปุ๋ยหมัก สำหรับวัสดุที่ไม่มีในฟาร์ม เช่น ปุ๋ยคอก (มูลวัว) จะเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยจะขอซื้อจากสมาชิกในกลุ่ม ในเรื่องน้ำในช่วงฤดูแล้ง การทำเกษตรอินทรีย์นอกจากต้องบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้วยังต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอในการทำการเกษตร จึงมีการวางแผนการขุดบ่อน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอตลอดฤดูกาล และได้รับการสนับสนุนบ่อน้ำบาดาลจากกระทรวงพลังงาน ทำให้มีน้ำเพียงพอให้การผลิตพืชตลอดทั้งปี

ในส่วนการผลิตผักในฤดูฝน เกษตรกรส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านโรคและแมลง ทำให้มีผลผลิตผักไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากได้มีการทำข้อตกลง (MOU) กับโรงพยาบาลไว้แล้ว ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ที่ส่งให้กับโรงพยาบาลเป็นพืชผัก ดังนั้น จึงได้วางแผนแก้ไขปัญหาโดยการปลูกผักในโรงเรือน เพื่อให้มีการจัดการโรคแมลง และควบคุมปริมาณน้ำในฤดูฝนได้ง่าย ทำให้สามารถวางแผนการปลูกพืชตามความต้องการของตลาดได้ ส่วนด้านการตลาด มีการแก้ไขปัญหาด้านการตลาดโดยการวางแผนการผลิตพืชให้ตรงตามความต้องการของตลาด มีการจัดทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลอำเภอนากลาง และโรงพยาบาลหนองบัวลำภู เป็นการใช้การตลาดนำการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือผลผลิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกไปจำหน่าย และมีเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตพืชปลอดภัยในจังหวัดหนองบัวลำภู และยังมีการขยายตลาดไปยัง modern trade โดยมีการหารือร่วมกันกับภาคเอกชน ได้แก่ ห้างเทสโก้โลตัส มีแผนส่งฝรั่งให้เทสโก้โลตัส ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำข้อเสนอราคาจัดซื้อ

สำหรับผลผลิตล้นตลาดในบางช่วงเวลามีการแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดในบางช่วงเวลา โดยการแปรรูปผลผลิต ในกรณีที่ผลผลิตมีมากเกินคำสั่งซื้อจะมีการแปรรูปผลผลิต ได้แก่ กล้วยฉาบ น้ำมะนาวขวดพร้อมดื่ม เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและแก้ปัญหาผลลิตล้นตลาด

คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช มอบผลิตภัณฑ์สารชีวภัณฑ์ แก่สมาชิกตำบลด่านช้าง

การผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพพืชอินทรีย์

  1. การจัดการสุขลักษณะ ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรสวนเลมอนทรีฟาร์มเป็นที่ราบสลับที่เนิน ดินเป็นดินร่วนไม่อยู่ใกล้แหล่งชุมชนที่จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนไปสู่แหล่งผลิตได้ มีการวางแผนผังฟาร์มชัดเจนแบ่งพื้นที่ในการผลิต แหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัย ที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิต เป็นสัดส่วน มีการดูแลสุขลักษณะภายในแปลง เช่น ที่ทิ้งขยะ ห้องน้ำ และมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียง โดยการปลูกพืชเพื่อเป็นแนวกันชนทางอากาศ ขุดร่องน้ำเพื่อเป็นแนวกันชนทางดิน และได้ชักชวนเกษตรกรแปลงข้างเคียงให้งดใช้สารเคมีและปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์
  2. การจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นให้เพียงพอต่อการใช้งาน มีมาตรการปฏิบัติการป้องกันการปนเปื้อนที่ชัดเจน มีโรงเก็บเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรและปัจจัยการผลิต และจัดเก็บไว้ในโรงเก็บวัสดุเป็นหมวดหมู่ สะดวกในการใช้งาน มีการทำความสะอาดและซ่อมบำรุงหลังการใช้งานทุกครั้ง เพื่อให้เครื่องมืออุปกรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และจะใช้เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรสำหรับแปลงเกษตรอินทรีย์เท่านั้น หากมีการใช้อุปกรณ์จากภายนอกฟาร์ม เช่น รถไถขนาดใหญ่ จะมีการทำความสะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  3. การจัดการปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ในระยะเริ่มต้นใช้เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ทั่วไปที่ขายตามท้องตลาด ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการคลุกสารเคมี และมีการนำเมล็ดพันธุ์มาล้างเพื่อป้องกันการปนเปื้อนก่อนการนำมาเพาะปลูก ในระยะต่อมาเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักไว้ใช้เองและแจกจ่ายให้กับสมาชิกในกลุ่ม ได้แก่ ผักสลัด หอมแบ่ง ผักชี แตงกวา ถั่วฝักยาว บวบหอม บวบเหลี่ยม นอกจากนี้ ยังมีการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ไว้ใช้ปลูกและไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ส่วนการใช้ปุ๋ยคอก (มูลวัว) นำมาจากสมาชิกในกลุ่มที่มีการเลี้ยงวัว และเศษวัชพืชจากการกำจัดวัชพืชภายในแปลง ฟางข้าว จากแปลงนาอินทรีย์ และมีการทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ได้แก่ น้ำหมักสมุนไพร น้ำหมักฮอร์โมนไข่ น้ำหมักหน่อกล้วย น้ำหมักหอยเชอรี่
  4. การใช้ชีวภัณฑ์ มีการผลิตชีวภัณฑ์ใช้เองในฟาร์มและแจกจ่ายให้สมาชิกในกลุ่ม ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย เมตาไรเซียม และได้รับสนับสนุนจากกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู และกลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ หัวเชื้อไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต แหนแดง ปุ๋ยชีวภาพ PGPR2
  5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อพืชมีคุณภาพพร้อมเก็บเกี่ยวและตามความต้องการของตลาดด้วยความระมัดระวัง คัดแยกผลผลิตที่เสียหายและไม่ได้คุณภาพออกก่อนจำหน่าย พืชบางชนิดมีการล้างผลผลิตด้วยน้ำสะอาดก่อนบรรจุถุงพลาสติกส่งจำหน่าย โดยสวนเลมอนทรีฟาร์มจัดให้มีโรงล้างผักผลไม้ที่ถูกสุขลักษณะ
  6. การบันทึกและควบคุมเอกสาร มีการบันทึกข้อมูลการผลิต การปฏิบัติงานภายในแปลงอย่างละเอียด ได้แก่ แผนการผลิตพืช การใช้ปัจจัยการผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจำหน่าย และรายรับรายจ่าย โดยบันทึกข้อมูลมีความต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน สามารถทวนสอบย้อนกลับได้ และมีการจัดเก็บบันทึกไว้เพื่อการทวนสอบ

ขยายผล สามารถเผยแพร่และเป็นแบบอย่างของส่วนรวมและเครือข่ายได้

จากประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาทำให้ คุณชัยศักดิ์และภรรยาตระหนักว่า ไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวหรือครอบครัวเดียวได้ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับเกษตรกรรายอื่นเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงได้นำแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ผลิตพืชปลอดภัยเพื่อเป็นอาหารให้คนในครอบครัวมีสุขภาพที่ดีถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ขยายไปสู่เพื่อนบ้านใกล้เคียงและญาติมิตร โดยเริ่มต้นจากการแบ่งปันแจกจ่ายผลผลิตให้แก่เพื่อนบ้านและญาติๆ ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา

โดยใช้พื้นที่ดำเนินกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และหลังจากได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ได้รู้จักกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีความสนใจการผลิตพืชปลอดภัยเหมือนกัน จึงได้ริเริ่มจัดตั้งเป็นกลุ่ม มีสมาชิก 13 ราย ภายใต้ชื่อกลุ่ม “เลมอนทรีฟาร์ม” และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ให้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เลมอนทรีฟาร์ม โดยมี คุณชัยศักดิ์ ผิวผ่อง เป็นประธานกลุ่ม มีการประชุมประจำเดือน ทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อปรึกษาหารือ แนวทางการพัฒนาผลผลิต ด้านการตลาด และการวางแผนการผลิตในแต่ละเดือน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสัญจรเยี่ยมสวนสมาชิกทุกเดือน

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ส่งเสริมการตลาดผักผลไม้อินทรีย์หนองบัวลำภู จำกัด มีวัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมผลผลิตที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาด ยกระดับราคาสินค้า ผลิตสินค้าส่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง มีสมาชิก 26 ราย และยังมีกลุ่มเครือข่ายในจังหวัดหนองบัวลำภูอีก 9 กลุ่ม ดังนี้

  1. นนท์ฟาร์ม สมาชิก 10 ราย ผลิตพืชผัก ไม้ผล
  2. สวนลุงดำ ลำพะเนียง สมาชิก 5 ราย ผลิตพืชผัก ไม้ผล
  3. กลุ่มพ่อบัวพันธ์ บุญอาจ สมาชิก 10 ราย ผลิตพืชผัก Organic
  4. กลุ่มโนนม่วงใต้ สมาชิก 10 ราย ผลิตพืชผัก ไม้ผล ฝรั่ง กล้วย
  5. กลุ่มโนนเมือง สมาชิก 10 ราย ผลิตไม้ผล ฝรั่ง กล้วย ไผ่บงหวาน ไผ่เลี้ยง
  6. วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์สวนนายพันธ์ สมาชิก 10 ราย ผลิตพืชผัก ไม้ผล
  7. กลุ่มป่าแดงงาม สมาชิก 10 ราย พืชผัก มะนาว แตงโม แตงไทย
  8. กลุ่มหนองบัวคำแสน สมาชิก 10 ราย ผลิตพืชผัก แตงไทย แตงโม ไม้ผล กล้วย ฝรั่ง มะม่วง
  9. ศูนย์ป่ารักษ์น้ำ สมาชิก 7 ราย ผลิตพืชผัก ไม้ผล

คุณชัยศักดิ์ เล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกจากส่วนราชการให้ดำรงตำแหน่งทางการ ดังนี้

  1. ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เลมอนทรีฟาร์ม
  2. 2. ประธานสหกรณ์ส่งเสริมการตลาดผักผลไม้อินทรีย์หนองบัวลำภู จำกัด
  3. ประธานศูนย์ ศพก. เครือข่าย ตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
  4. คณะกรรมการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน
  5. คณะกรรมการโครงการเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย
  6. คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอ
  7. คณะกรรมการ (การตลาด) บริษัท เกษตรอินทรีย์หนองบัวลำภู
  8. 8. คณะกรรมการกลุ่มผู้ปลูกป่า อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
  9. ตัวแทนกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดหนองบัวลำภู

สำหรับ สวนเลมอนทรีฟาร์ม ยังได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานราชการ

  1. 1. ศูนย์กลางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสวนเลมอนทรีฟาร์ม
  2. ศูนย์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. เครือข่าย)
  3. ศูนย์จัดการกำจัดศัตรูพืชชุมชนตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
  4. สถานที่ศึกษาดูงาน มีหน่วยงานราชการ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา เข้าเยี่ยมชมฟาร์ม ในปี 2562 จำนวน 600 ราย
  5. เป็นฟาร์มสเตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อรับรองนักท่องเที่ยว
  6. 6. เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับหน่วยงานราชการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายเลมอนทรีฟาร์ม นอกจากนั้น คุณชัยศักดิ์และภรรยายังเสียสละเวลาเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมอยู่เสมอ เช่น การใช้สวนเลมอนทรีฟาร์มเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมของบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมในจังหวัดภาคอีสาน ปี 2562 ทำให้เป็นที่ยอมรับจากคนในชุมชน

“ผมมีความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งได้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ผู้ป่วยและผู้บริโภคได้รับประทานอาหารปลอดสารพิษ โดยได้รับการรับรอง แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ พื้นที่ 21.02 ไร่ ชนิดพืชผสมผสาน 34 ชนิดพืช ได้แก่ กะเพรา ข่า ขึ้นฉ่าย ตะไคร้ แมงลัก ผักชี ผักชีลาว โหระพา กระเจี๊ยบเขียว กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ฟักทอง แตงร้าน ถั่วฝักยาว บวบหอม บวบเหลี่ยม ผักกาดขาว ผักกาดหอม พริก ฟักเขียว มะเขือเปราะ มะเขือพวง เรดโอ๊ค หอมแบ่ง กรีนโอ๊ค เรดคอส กรีนคอส ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ฝรั่งกิมจู มะละกอฮอลแลนด์ มะนาวพิจิตร 1 บร็อกโคลี่ มะนาวตาฮิติ กล้วยน้ำว้า” เจ้าของบอก

คุณกมล โสพัฒน์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า สำหรับ สวนเลม่อนทรีฟาร์ม เป็นแปลงผลิตอินทรีย์ที่สำคัญของจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นภาคีกับทุกส่วนราชการ เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรในการซื้อขายสินค้าการเกษตรระหว่างสมาชิก ได้จัดตั้งสหกรณ์ส่งเสริมการตลาดผักผลไม้อินทรีย์หนองบัวลำภู จำกัด เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าการเกษตร (ศพก.) เครือข่าย และจัดตั้งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ในอนาคตมีแผนที่จะเชื่อมโยงการตลาดกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและมีความสนใจในเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเปิดให้บริการเป็นฟาร์มสเตย์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู และสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู

การทำเกษตรอินทรีย์ของเลมอนทรีฟาร์ม หลังจากได้รับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 แล้ว ทำให้มีความมั่นใจในการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้เป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสินค้าชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เลมอนทรีฟาร์ม” การวางแผนการตลาด มีการวางแผนการผลิตโดยเอาตลาดนำการผลิต มุ่งเน้นการผลิตพืชหลากหลายให้มีสินค้าส่งขายตลาดอย่างต่อเนื่องและตรงความต้องการของตลาด ทำให้มีตลาดที่แน่นอน มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต มีการรวมกลุ่มกันขายผลผลิต และสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าปลอดภัยและมีเป้าหมายในการพัฒนาให้สมาชิกในกลุ่มได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบัน สวนเลมอนทรีฟาร์ม เป็นจุดศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้าจากสมาชิกและกลุ่มเครือข่ายเพื่อจัดจำหน่ายให้กับโรงพยาบาล และทางกลุ่มมีแผนการขยายช่องทางการตลาด ส่งขายให้กับ Modern trade เพื่อยกระดับราคาสินค้า อยู่ระหว่างการทำข้อตกลง (MOU) กับเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสินค้าเทสโก้โลตัส ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนของสมาชิกวิสาหกิจชุมชน และจะทำข้อตกลงในการรับซื้อฝรั่ง เป็นผลผลิตชนิดแรก นอกจากนั้น ยังมีแผนการพัฒนาสวนเป็นฟาร์มสเตย์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างที่พัก ห้องน้ำ เพื่อรองรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยมีโครงการร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู และองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู เริ่มให้บริการพี่พักในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการรับรองที่พักคณะเข้าชมฟาร์มแล้ว 3 คณะ จำนวน 100 คน

หากเกษตรกรท่านสนใจ อยากมาศึกษาดูงานและท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 062-461-4668 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง โทร. 042-359-137