สงขลา ปลูกพืชผสมผสานยาง มีรายได้ทุกวัน กว่า 1,000 บาท

แม้ไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารา อันดับ 1 ของโลก แต่ไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญความผันผวนของราคายางพาราตลอดเวลา เกษตรกรหลายรายตัดสินใจปรับลดพื้นที่ปลูกยางพาราบางส่วนเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นแซมในสวนยาง โดยเริ่มจากทดลองปลูกพืชในแปลงขนาดเล็กก่อน ทำสำเร็จจึงค่อยขยายผลไปสู่แปลงขนาดใหญ่ การปรับตัวเช่นนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวแล้ว ยังเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เสริมหมุนเวียนเข้ากระเป๋าได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

ปลูกพืชผสมผสานในสวนยางพารา สร้างรายได้หมุนเวียนทั้งปี

คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ภาคใต้ ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวปลูกพืชผสมผสานยาง ในระบบเกษตรอินทรีย์ เน้นปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น ผักกูด กล้วยหอม กล้วยหิน กล้วยเล็บมือนาง ลองกอง ทุเรียน หมาก พริก พริกไทย ฯลฯ ทำให้มีลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อสินค้าโดยตรงถึงสวน คุณนิวัฒน์เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกวัน แต่ละวันจะมีรายได้เข้ากระเป๋ากว่า 1,000 บาท

คุณนิวัฒน์ ได้น้อมนำเอาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการดำรงชีวิต และใช้แก้ปัญหาทางการเกษตรจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกรทั่วไป ทำให้คุณนิวัฒน์ได้รับรางวัลหมอดินอาสาดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2562 จากกรมพัฒนาที่ดิน และได้รางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่น ในระดับเขต ประจำปี 2562 จากกรมส่งเสริมการเกษตร

โชว์ผลผลิตกล้วยหอมทองอินทรีย์สงขลา

เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตร

ปัจจุบัน คุณนิวัฒน์ เปิดบ้านเลขที่ 89/2 หมู่ที่ 7 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 087-390-7426 และ 099-080-2555 เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอหาดใหญ่ มีเกษตรกรและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสานยางในพื้นที่แห่งนี้ตลอดทั้งปี

เกษตรกรที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้จะได้เรียนรู้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ประยุกต์การใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างคุ้มค่า ในสัดส่วน 30:30:30:10 จากใน 100 ส่วน ที่นี่มีพื้นที่ปลูกยางพารา ขุดสระน้ำ เลี้ยงปลา สร้างที่อยู่อาศัย เรียนรู้เทคนิคการทำปุ๋ยน้ำหมัก เพื่อนำไปใช้ทาหน้ายางเพื่อยืดอายุการกรีดยางพารา และช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้อีกทางหนึ่ง

กล้วยหอมทองอินทรีย์สงขลา ขายหวีละ 60 บาท

จุดเริ่มต้นปลูกพืชผสมยาง

เดิมที คุณนิวัฒน์ ปลูกยางพาราเต็มพื้นที่ ต่อมาเจอปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และต้นยางไม่สามารถผลิตน้ำยางได้ตามที่ต้องการ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพดินที่ไม่เหมาะสม คุณนิวัฒน์จึงสมัครเข้าอบรมเป็นหมอดินอาสา กับสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ก็ได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพารา เป็นปลูกพืชผสมผสานยาง จะสร้างรายได้เพิ่มได้ดีกว่าปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว

คุณนิวัฒน์ ตัดสินใจ โค่นต้นยางเล็กอายุ 4 ปี จำนวนหนึ่ง เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกพืชผสมยาง สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ทุกวัน ปัจจุบัน คุณนิวัฒน์มีพื้นที่ทำกินทั้งหมด 13 ไร่ มีการปลูกพืชผักไม้ผลประเภท กล้วย ผักกูด หมาก มะละกอ แตงกวา บวบ ลองกอง ทุเรียน มะนาว ฯลฯ ปลูกไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ปีก (เป็ด ไก่บ้าน ไก่ป่า) และสัตว์น้ำ (ปลาดุก ปลาหมอ กุ้ง) การเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงหมู ทำปุ๋ยใช้เอง ปรากฏว่า คุณนิวัฒน์ลดพื้นที่ปลูกยางพาราทำเกษตรผสมผสาน ทำรายได้มากกว่าสวนยาง 7 เท่า

ฉีดปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพในสวนพืชผสมผสาน

การปลูกผักกูด

คุณนิวัฒน์ มีรายได้หลักจากผักกูด ทั้งการขายยอดผักกูดและต้นพันธุ์ผักกูด ผักกูดปลูกดูแลง่าย ลงทุนปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอด คุณนิวัฒน์มีพื้นที่ปลูกผักกูดประมาณ 5 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตขายส่ง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 50 บาท สร้างรายได้มากกว่าเดือนละ 30,000 บาท

หากใครสนใจปลูกผักกูด คุณนิวัฒน์ให้คำแนะนำว่า การเตรียมดิน ให้ขุดหลุมลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุม ปลูกผักกูดในระยะห่าง 30×30 เซนติเมตร ปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์ที่แตกหน่อจากต้นแม่ ประมาณ 3-4 ใบ ลงปลูก ควรให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ในแปลงปลูกผักกูดให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ

ปลูกหมาก เป็นพืชร่วมแปลงในสวนยางพารา

โดยธรรมชาติแล้ว ต้นผักกูด ไม่ชอบแสงแดดจัด เงาพรางแสง ตั้งแต่ 60-80% ของต้นกล้วยและไม้ผลยืนต้น เช่น ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ ผักกูด ไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลง ไม่มีการใช้สารเคมี จึงเหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชผักปลอดสารพิษ ด้านการดูแลรักษา คุณนิวัฒน์ บอกว่า ต้องคอยถอนวัชพืชที่มีอยู่ในแปลงเป็นระยะ เมื่อต้นผักกูดเจริญเติบโตได้เต็มพื้นที่แล้ว จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้กับกล้วยเช่นกัน

หลังปลูกประมาณ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยคอก ไร่ละ 30 กระสอบ ใส่ปุ๋ยคอก เดือนละ 1 ครั้ง หลังปลูกประมาณ 6 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยการเด็ดยอดด้วยมือ เก็บผลผลิตออกขายได้ วันละ 60-70 กิโลกรัม จะมีรายได้จากการขายผักกูดไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ต่อวัน เลยทีเดียว ต้นผักกูดยิ่งถอนออก ยิ่งแพร่พันธุ์ ต้นพันธุ์ผักกูดปลูกง่าย จำหน่ายได้ตลอดทั้งปีทุกฤดูกาล

รวบรวมหมากสดส่งขายตลาดในพื้นที่ภาคใต้

“ต้นพันธุ์ผักกูดจากสวนของผมมีคุณภาพดี ลูกค้าเชื่อถือ ท้องตลาดทั่วไปขายต้นพันธุ์ในราคา ต้นละ 2 บาท ลูกค้า​ก็ไม่เอา​ อยากซื้อสินค้าจากสวนผม ที่ขาย ต้นละ 3 บาท​ เพราะผักกูดสวนของผมคัดแต่พันธุ์ผักกูดต้นใหญ่​ให้ลูกค้า เมื่อนำไปปลูกจะมีอัตราการรอด 100% เต็ม แถมใช้เวลาปลูกสั้นๆ ก็เก็บยอดผักกูดออกขายได้แล้ว ขณะที่ท้องตลาดทั่วไปนิยมขายพันธุ์ผักกูดต้นเล็ก เมื่อนำไปปลูก ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน จึงจะสามารถเก็บยอดผักกูดออกขายได้ ซึ่งเป็นการเสียเวลามากไป ลูกค้าไม่ชอบ​” คุณนิวัฒน์ กล่าว

ปลูกกล้วย รายได้ดี

ลองกอง ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ รสชาติอร่อยมาก

ในสวนแห่งนี้ คุณนิวัฒน์ ปลูกกล้วยนานาสายพันธุ์ เช่น กล้วยหอมทอง กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหิน และกล้วยน้ำว้า เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกวัน ข้อดีของการปลูกกล้วยคือ ตลาดต้องการตลอดทั้งปี สามารถแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ แทบไม่มีศัตรูรบกวนและไม่ต้องดูแลอะไรมาก ขายได้ราคาดี ตลาดต้องการสูง สามารถปลูกแซมร่วมกับพืชอื่น หรือปลูกรวมกันเป็นแปลงเดียวก็ได้

กล้วยหอมทองของที่นี่ รสชาติอร่อยมาก เป็นที่นิยมของตลาด ผลสุกมีสีเหลืองทองแบบทองแดงเข้มๆ หวีใหญ่ ผลสุกงอมยิ่งอร่อยมาก หากแขวนไว้ผลสุกจะร่วงทีละลูก แม้เปลือกเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่เนื้อกล้วยไม่ช้ำไม่เละ กล้วยหอมสงขลากินอร่อยกว่ากล้วยหอมทองทั่วไป คุณนิวัฒน์ตั้งราคาขายปลีกกล้วยหอมทองในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ก็มีคนซื้อ กล้วยอีกชนิดที่ขายดีคือ กล้วยหิน นิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงนกกรงหัวจุก ขายได้ราคาดี ตกหวีละ 35-50 บาท หยวกกล้วยหิน เป็นหยวกกล้วยที่อร่อยที่สุดในบรรดาหยวกกล้วยทุกชนิด แถมขายได้ราคาดี ถึงกิโลกรัมละ 30 บาท หยวกกล้วยหินต้นเดียวขายได้หลายร้อยบาท

เล้าเป็ด แบบเคลื่อนที่

เป็ดเนื้อเป็ดไข่ที่เลี้ยงภายในสวนยาง

หากใครแวะมาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ ต้องแวะไปเรียนรู้เทคนิคการทำโรงเรือน หรือ “เล้าเป็ดแบบเคลื่อนที่” ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคุณนิวัฒน์ เขาใช้ซาแรนกั้นบริเวณเลี้ยงเป็ด ภายในมีคอกเล็กๆ ที่ทำจากโครงเหล็กสูงสัก  1 เมตร ใช้ไม้วางพาดเป็นร่มเงาให้เป็ดใช้เป็นที่อาศัยหลับนอน เล้าเป็ดของที่นี่ เปิดโล่งตามธรรมชาติ ถ่ายเทอากาศได้ดี มีพื้นที่กว้างขวางให้เป็ดเดินเล่นและหากินแบบไม่เครียด ทำให้เป็ดอารมณ์ดี ไข่ดกมากๆ

เมื่อต้องการย้ายเล้าเป็ดไปยังพื้นที่อื่นๆ ในสวน คุณนิวัฒน์จะเก็บซาแรนที่ใช้กั้นบริเวณพื้นที่เลี้ยงเป็ดออก ย้ายคอก (รังนอนของเป็ด) ไปตั้งในพื้นที่ใหม่ที่ต้องการ เป็ดก็จะเดินตามคอก (รังนอน) ไปยังพื้นที่แห่งใหม่โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้น คุณนิวัฒน์ จึงใช้ซาแรนกั้นบริเวณเล้าเป็ดแห่งใหม่ ก็ถือว่าเสร็จขั้นตอน หากเป็นคอกขนาดเล็ก คุณนิวัฒน์จะย้ายพื้นที่เลี้ยงเป็ดทุกๆ 1 สัปดาห์ ส่วนคอกขนาดใหญ่จะย้ายพื้นที่ใหม่ทุกๆ 1 เดือน

คุณนิวัฒน์ บอกถึงข้อดีของเล้าเป็ดแบบเคลื่อนที่ว่า จะทำให้เป็ดมีแหล่งอาหารใหม่อยู่ตลอดเวลา วัชพืช แมลง หอย ที่อยู่ในบริเวณที่กั้นคอกจะกลายเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดตามธรรมชาติแล้ว คุณนิวัฒน์ยังทำอาหารเสริมสำหรับเลี้ยงเป็ด โดยใช้เศษปลา เศษกุ้ง ที่ซื้อมาจากตลาด มาต้มให้สุก มาใช้เลี้ยงเป็ดในแต่ละสัปดาห์ ทำให้เป็ดเติบโตแข็งแรงให้ไข่ดกมาก ข้อดีประการต่อมาของเล้าเป็ดแบบเคลื่อนที่คือ มูลเป็ด กลายเป็นปุ๋ยคอกชั้นดีในการบำรุงต้นไม้ภายในสวน

เลี้ยงเป็ดในสวนยางพาราได้ทั้งปุ๋ยคอก ได้ขายไข่เป็ด-พันธุ์เป็ด

นอกจากนี้ คุณนิวัฒน์ ยังนำความรู้ที่ได้จากการเป็นหมอดินมาประยุกต์การทำปุ๋ยหมัก โดยการนำมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ที่ได้จากสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา เพื่อเก็บไว้ใช้ดูแลผลผลิต นอกจากปุ๋ยหมักแล้ว คุณนิวัฒน์ยังมีน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากเศษผักผลไม้เหลือใช้ในพื้นที่มาใช้ในแปลงเพาะปลูกด้วย เรียกว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่มีอยู่รอบตัวมาใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ช่วยสร้างผลผลิตที่ปลอดภัย ทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต แถมได้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพอีกต่างหาก

หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามคุณนิวัฒน์ได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 087-390-7426 และ 099-080-2555 คุณนิวัฒน์ ยินดีแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่เพื่อนเกษตรกรทุกท่าน