“ ศักรินทร์ สมัยสง ” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2563 ต้นแบบเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน ต้นทุนต่ำ กำไรสูง

“ ศักรินทร์  สมัยสง ” บันฑิตหนุ่มสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่สนใจ อาชีพมนุษย์เงินเดือน  หวนกลับคืนบ้านเกิดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำอาชีพเกษตรตามรอยพ่อแม่ อย่างมีความสุขในวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง บนที่ดินมรดก 47 ไร่

ในวันนี้ เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบ  Smart Farmer  เป็นกูรูด้านเลี้ยงแพะแกะในสวนปาล์มน้ำมัน ให้แก่เพื่อนเกษตรกรจำนวนมาก ด้วยผลงานที่โดดเด่นตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกจากกรมปศุสัตว์ให้เป็น “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563

ใช้ “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาอาชีพ

เมื่อปี พ.ศ. 2549 ศักรินทร์เริ่มต้นการเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสมแองโกลนูเบียน พื้นเมือง จำนวน 12 ตัว (เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 11 ตัว) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำมูลแพะมาใช้เป็นปุ๋ยในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมี เน้นการจัดการฟาร์มและสวนให้เกื้อกูลกัน สามารถนำทุกอย่างในฟาร์มมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทำให้ครอบครัว มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ธุรกิจฟาร์มแพะมีพ่อแม่และน้องชายช่วยกันดูแล เขาน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9    ช่วงปลายปี 2555 เขาตัดสินใจซื้อแพะเนื้อเพิ่มอีก จำนวน 8 ตัว (สายพันธุ์บอร์ เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 3 ตัว สายพันธุ์คาราฮารี เรด เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว) โดยเน้นคัดเลือกแพะสายพันธุ์ดีเข้ามาใช้ปรับปรุงพันธุ์แพะ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีปศุสัตว์อำเภอร่อนพิบูลย์เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเทคนิคการเลี้ยง การป้องกันรักษาโรค และการจัดการด้านต่างๆ ภายในฟาร์ม

เน้นพัฒนาสายพันธุ์แพะ

ศักรินทร์ใส่ใจพัฒนาสายพันธุ์แพะโดยคัดเลือกแพะที่มีลักษณะดีเก็บไว้ทำพ่อ-แม่พันธุ์ แพะตัวไหนมีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ก็คัดออกเพื่อขาย ปัจจุบันเขามีพ่อ-แม่พันธุ์แพะที่มีระดับสายเลือดสูงของตนเองและได้ปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพเนื้อดี โตเร็ว รวมทั้งได้คิดสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงแพะขึ้นมาใช้เองในฟาร์ม พร้อมทั้งได้รับการเข้าฝึกอบรมและศึกษาดูงานจากที่ต่างๆ จากหน่วยงานกรมปศุสัตว์

ในปี 2555 ศักรินทร์ได้ชักชวนเกษตรกรภายในหมู่บ้านรวมตัวกัน จำนวน 12 คน จัดตั้งกลุ่ม “กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตำบลควนพัง” จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตำบลควันพัง” ปี2555 ขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มเลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ และขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นและพื้นที่อื่นๆ ที่มีความสนใจ ปัจจุบันเขาได้ขยายผลการเรียนรู้ไปถึงสถาบันการศึกษา โดยมีนักศึกษาจากหลายสถาบันมาศึกษาเรียนรู้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง

ปี 2556 ศักรินทร์เริ่มนำแพะเข้าสนามประกวดต่างๆ ได้รับรางวัลมากมายสามารถบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของแพะในฟาร์ม เป็นที่รู้จักของสังคมคนเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาหาความรู้เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคแพะที่เจริญเติบโตช้า มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้แพะที่โตเร็วและแข็งแรง

แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ด้านการตลาด สืบเนื่องจากการเกษตรกรหันมาเลี้ยงแพะมากขึ้น การตลาดมีการผันแปรอยู่ตลอดเวลา จึงได้ปรึกษากับสมาชิกในกลุ่มและในพื้นที่ใกล้เคียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราชก็ประสบปัญหาเรื่องการตลาดแพะเช่นกัน จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการตลาดอย่างเร่งด่วน โดยผันตัวเข้าร่วมประชุมกับชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นกระบอกเสียงหนึ่งของคนเลี้ยงแพะตำบลควนพัง จึงได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องการตลาดกับคณะกรรมการชมรมและสมาชิกผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักและและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมเพิ่มมากขึ้น

ปี 2557  ศักรินทร์ รับตำแหน่งประธานชมรมผู้เลี้ยงแพะนครศรีธรรมราช จนหมดวาระ และ ปี 2561 สมาชิกแปลงใหญ่แพะลุ่มน้ำปากพนัง ลงมติให้  ศักรินทร์  เป็นประธานแปลงใหญ่แพะลุ่มน้ำปากพนังจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา  ศักรินทร์ได้พยายามปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์แพะและได้จัดส่งแพะเข้าประกวดทุกครั้งที่มีกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ภาคกลาง โดยเห็นผลสำเร็จจากการพัฒนาสายพันธุ์ ได้จากโล่รางวัล ถ้วยรางวัล และประกาศเกียรติบัตรมากมาย เป็นสิ่งช่วยการันตีในความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเลี้ยงแพะ

ปัจจุบัน  ศักรินทร์  ดำเนินกิจการฟาร์มปศุสัตว์ภายใต้ชื่อ “พรประคองฟาร์ม” หรือ PK FARM ซึ่งที่นี่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ได้แก่ แพะเนื้อ จำนวน 275 ตัว แกะ จำนวน 9 ตัว โคเนื้อ จำนวน 8 ตัว ไก่พื้นเมือง จำนวน 24 ตัว ห่าน จำนวน 2 ตัว และม้า จำนวน 2 ตัว

ใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพสัตว์

ศักรินทร์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้ในฟาร์ม มูลสัตว์ เก็บรวบรวมจากฟาร์มเดือนละครั้ง นำไปทำปุ๋ยหมัก สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 30 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ เขายังใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  นำพืชสมุนไพรในธรรมชาติมาใช้รักษาสัตว์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เขาผลิตอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กากปาล์ม ฟักทอง มันเทศตากแห้ง สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ จากอาหารข้นที่นำมาขุนแพะ  นอกจากนี้ยังใช้น้ำหมักชีวภาพภายในฟาร์ม แทนการใช้สารเคมี และนำบอระเพ็ด มาสับเป็นชิ้นๆ ให้แพะกินสด ทุกๆ 3 เดือนเป็นยาถ่ายพยาธิให้กับแพะ ทำให้แพะกินอาหารได้มากขึ้น

พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศักรินทร์ไม่หยุดนิ่ง ในการเรียนรู้พัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ เขา  เริ่มต้นศึกษาหาดูงานปศุสัตว์ จากโครงการหลวงฯ ฟาร์มต้นแบบ เข้ารับการฝึกอบรมและรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ภายในฟาร์มของตนเองจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบด้านการเลี้ยงแพะ ให้เกษตรกรรายย่อย โดยการจัดการฟาร์ม ดังนี้

1.ด้านพันธุ์และการผลิตสายพันธุ์แพะ

ปัจจุบันศักรินทร์เน้นการพัฒนาสายพันธุ์แพะเนื้อเป็นหลัก และผสมด้วยสายพันธุ์แพะนม

  1. ด้านการจัดการพืชอาหารสัตว์

ศักรินทร์มีระบบการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์และการจัดการอาหารข้น โดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่น

  1. ด้านการตลาด

ศักรินทร์เน้นบริหารจัดการงานด้านตลาดในฟาร์มเครือข่ายสมาชิก และแนวทางในการทำตลาดแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช

  1. พัฒนาเครือข่าย

ศักรินทร์บริหารจัดการเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายแพะ ชมรมผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช จากความสำเร็จการเลี้ยงแพะและสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะมีมากมาย อาทิ เช่น  มีสมาชิกอยู่ภายใต้วิสาหกิจชุมชน จำนวน 28 วิสาหกิจชุมชน  และมีสมาชิกอยู่ภายใต้แปลงใหญ่แพะ จำนวน 3 แปลง เกษตรกร จำนวน 975 ราย มีแม่พันธุ์ จำนวน 34,570 ตัว สามารถผลิตแพะขุนคุณภาพ จำนวน 620 ตัว/เดือน และสามารถผลิตแพะสายพันธุ์ จำนวน 310 ตัว/เดือน ส่งตลาดทั่วประเทศ

ทำงานเพื่อสังคม

ศักรินทร์   ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเป็นผู้นำและมีความเสียสละ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทั้งเกษตรกรด้วยกันเอง ประชาชนในท้องถิ่นและหน่วยงานราชการต่างๆ จะเห็นได้ดังนี้  ปี  2556 – ปัจจุบัน กรรมการสมาคมแพะ-แกะ แห่งประเทศไทย ปี2557 – ปัจจุบัน อาสาปศุสัตว์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ปี 2558 – ปัจจุบัน ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลควนพัง ปี 2558 – ปัจจุบัน ประธานชมรมผู้เลี้ยงแพะจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2558 – ปัจจุบัน รองประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะ ระดับเขต 8 ปี 2559 – ปัจจุบัน ที่ปรึกษาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลควนพัง  ปี  2559 – ปัจจุบัน กรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว “ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงแพะ”

ตั้งแต่ปี  2558 จนถึงปัจจุบัน ศักรินทร์ เปิดบ้าน “พรประคองฟาร์ม” หรือ PK FARM ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 19/1 หมูที่ 2 ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ประเภทผสมผสาน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจแวะเข้าเยี่ยมชมกิจการทุกวัน ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 098 075 8462

 ………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่