แนะวิธีดูแลผึ้งพันธุ์ในฤดูฝน

ในช่วงฤดูฝน ผึ้งออกไปหาอาหารได้น้อยลง ขณะเดียวกันอาหารในแหล่งธรรมชาติก็มีปริมาณน้อย ซึ่งแหล่งอาหารสำคัญในช่วงนี้ ได้แก่ ข้าวโพด งา ปาล์มน้ำมัน ไมยราบ กระถินนา ฯลฯ กลุ่มพืชเหล่านี้จะให้เกสรเป็นส่วนใหญ่ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญแก่ผึ้ง นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝน หากรังผึ้งใดมีประชากรหนาแน่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคและศัตรูผึ้งเข้าทำลาย ได้แก่ ไรศัตรูผึ้ง

ไรศัตรูผึ้ง

ดังนั้น เกษตรกรควรสำรวจรังผึ้งหลังเก็บน้ำผึ้ง ว่าปริมาณประชากรผึ้งภายในรังมีมากน้อยเพียงใด นางพญาผึ้งมีความสมบูรณ์หรือไม่ หากพบว่าภายในรังไม่มีนางพญาผึ้ง หรือนางพญาผึ้งไม่สมบูรณ์ ประชากรผึ้งงานมีจำนวนน้อย ให้รวมรังผึ้งเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประชากรผึ้งให้เพียงพอสำหรับดูแลรัง หาอาหารป้อนนางพญาและตัวหนอนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำว่า รังผึ้งที่แข็งแรงต้องปราศจากศัตรูมารบกวน เกษตรกรควรหมั่นสำรวจรังผึ้งทุกสัปดาห์ หากพบไรศัตรูผึ้งให้ใช้วิธีกลกำจัด โดยการกระตุ้นให้ผึ้งสร้างหลอดรังที่มีตัวผู้จำนวนมาก ให้เกษตรกรตัดแผ่นรังผึ้งเทียมช่วงล่างออกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ผึ้งงานสร้างหลอดรังผึ้งใหม่

หลังจากนั้น ผึ้งนางพญาจะวางไข่เป็นผึ้งตัวผู้ในหลอดรังผึ้งที่สร้างใหม่ เนื่องจากไรมักชอบไปวางไข่ในหลอดรังของผึ้งตัวผู้ หากพบไรในหลอดรังของผึ้งตัวผู้ ให้เกษตรกรตัดหลอดรังดังกล่าวออกไปทำลายทิ้ง หรือใช้กรดฟอร์มิก กรดแลกติก กรดออกซาลิก หรือกรดอะซิติก กำจัดไรศัตรูผึ้งในช่วงที่มีการระบาด 

 

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2563