เชียงใหม่โชว์ยุทธศาสตร์ มุ่งสู่ศูนย์กลางเที่ยวเชิงสุขภาพ-เมืองสร้างสรรค์

วันที่ 18 มีนาคม 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ณ เรือนแม่แจ่ม สำนักชลประทานที่ 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ว่า ในปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่กำหนดแนวทางการพัฒนาที่เป็นจุดเน้น (Focus) และทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Direction) สำคัญในระยะยาว หวังผลักดันให้เชียงใหม่เป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการสุขภาพ (Tourism and Health Hub) เชื่อมโยงสู่เมืองท่องเที่ยวในภูมิภาค เนื่องจากเชียงใหม่มีความหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ประเพณี  การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและกีฬา  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  และการท่องเที่ยว MICE  และการเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมธุรกิจบริการด้านสุขภาพทั้งการแพทย์ปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกซึ่งจะสามารถรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นถิ่นสู่รูปแบบการบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์โดดเด่น

“จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งของงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ ทั้งงานเครื่องเขิน งานเครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา งานหล่อ และบุดุนโลหะ งานทอผ้า งานแกะสลักและผลิตภัณฑ์จากไม้ งานจักสาน และงานศิลปะกระดาษต่างๆ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน จึงต้องการผลักดันให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Creative City of Crafts and Folk Art) ของ UNESCO  ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำใบสมัครเพื่อจัดส่งให้กับคณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติผ่านไปยัง UNESCO” นายปวิณ กล่าว

นายปวิณกล่าวว่า ในส่วนการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก (World Heritage)  ถือเป็นวาระการพัฒนาที่สำคัญร่วมกันของคนเชียงใหม่ที่ได้มีการวางแผน และกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง ให้สามารถเติบโตโดยยังคงรักษาคุณค่า หรือมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้คงอยู่ ความตื่นตัวและความตั้งใจของภาคส่วนต่างๆ  ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative list) เมื่อปี 2558  จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของคณะทำงานฯ พื้นที่ที่จะมีการกำหนดเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Property) ประกอบด้วย 3 แหล่งมรดกที่มีคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ 1) เวียงเชียงใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่าชั้นในและพื้นที่เมืองเก่าชั้นนอก 2) พื้นที่เวียงสวนดอก และ 3) พระธาตุดอยสุเทพและองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของแต่ละพื้นที่ ภายใต้แนวคิดการขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination)

นายปวิณกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ 2 เมืองท่องเที่ยวระดับโลกของไทย คือ จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ หรือ SMART CITY เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ให้มีความปลอดภัย และสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเป็นตัวนำ จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อน Smart City คือ กินดี อยู่ดี มีสุข โดยมีกลยุทธ์การขับเคลื่อน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตัล โดยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับ และ ลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และหัตถอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการตลาด  และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลในรูปแบบใหม่

2) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วย  รวมถึงการติดตามดูแลผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ 3) ยกระดับความมั่นคง  ด้วยการยกระดับระบบกล้อง CCTV ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย  และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการป้องกันและเตือนภัยด้านภัยพิบัติต่างๆ  ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม  ปัญหาหมอกควัน ปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ  4) รวมถึงการพัฒนาการบริหารและการบริการภาครัฐ  เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและบริการประชาชน การพัฒนาบุคลากรให้สอดรับการบริบทการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

“ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร เพราะมีศักยภาพทั้งเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปรรูป พืชผักเมืองหนาว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย คือ การเป็น Northern Food Valley  โดยหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพสูงที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องการยกระดับเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ก็คือ กาแฟ ด้วยเหตุนี้ จึงได้กำหนดให้การเป็น Coffee Hub เป็น flagship project ของจังหวัด เพราะเรามีแหล่งกาแฟดี มีกลิ่นเฉพาะถิ่นที่หายาก เช่น อมก๋อย ดอยสะเก้ด และแม่แตง โดยกำหนดกิจกรรมการขับเคลื่อนในลักษณะ value chain ตั้งแต่ การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม วิจัยและนวัตกรรม และการส่งเสริมการตลาด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 97 ล้านบาท” นายปวิณ กล่าวอีก

ทั้งนี้ นายปวิณกล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน คนเชียงใหม่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอเพียงทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง การสร้างเมืองเชียงใหม่ให้ก้าวหน้าควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ ก็ทำได้ไม่ยาก