ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สุพจน์ สอนสมนึก |
เผยแพร่ |
ครั้งนี้ได้รับการเชิญชวนจาก คุณนพรัตน์ ไชยอิ่นคำ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร ไปชม สำนักงานสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร ที่ยึดและขับเคลื่อนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยการเดินทางมี คุณกรวิภา คงอิ่ม สหกรณ์จังหวัดสกลนคร ร่วมเดินทางและเยี่ยมชมด้วย
นัดแนะกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด รวมตัวขึ้นรถพร้อมกัน เป็นรถของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร จัดให้ที่บริเวณหน้าอาคารภูพานเพลซ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เวลาเก้าโมงเช้า
มุ่งหน้าไปตาม ถนนสกลนคร-อุดรธานี ใช้เวลา 45 นาที ถึงอำเภอพังโคน สภาพบรรยากาศสองข้างทางยามนี้ มองแล้วหดหู่หัวใจแทนพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากสภาพความแห้งแล้ง ปลายเดือนมีนาคม ย่างเข้าสู่เดือนเมษายน
เลี้ยวขวาตรงสี่แยกพังโคนไปตาม ถนนสายพังโคน-บึงกาฬ ผ่านอำเภอวานรนิวาส ผ่านมาถึงสามแยกบ้านนาบัว เขตอำเภอวานรนิวาส ก่อนถึงแยกเข้าอำเภอบ้านม่วง จะพบกับตลาดริมทางบ้านนาบัว ที่นี่จะพบรถทั้งขนาดใหญ่และเล็กจอดเรียงรายเปิดไฟกะพริบ จอดลงมาซื้อหาสินค้าที่นี่เป็นแบบดั้งเดิมพื้นเมือง เช่น ฝักบัว ข้าวเม่า ที่ตลาดนาบัว สินค้าหลักเป็นฝักบัว จนมีหลายคนบอกว่า นี่คือ ที่มาของชื่อบ้าน “นาบัว” ด้วย
เลยมาอีกราว 10 กม. เข้าเขตอำเภอคำตากล้า ก่อนเข้าถึงตัวอำเภอพบกับร้านขายสินค้าริมทาง วางแผงเรียงราย จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน เช่น กระติบข้าว และของใช้ในครัวเรือนแบบคนอีสานที่ใช้ ตลอดจนของกิน ของแซ่บ ไข่มดแดง ผักหวานป่า เห็ดอีกหลากหลาย
แม่ค้าในเพิงขายของเอ่ยเชิญชวนลูกค้า บอกสรรพคุณและราคา พร้อมบอกว่า เป็นของหายาก บางชนิดกว่าจะถึงฤดูไม่ได้หากินได้ง่าย อย่าต่อรองราคาเลย
ถึงสำนักงานสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า เป็นเวลาเที่ยงพอดี สภาพอากาศร้อนจ้า หลังจากทักทายแนะนำตัวกันแล้ว ไปดูการทำ “ปุ๋ย” จากมูลสัตว์อัดเม็ด แต่ไม่เรียกว่า ปุ๋ย เพราะยังไม่ได้ผ่านการรับรองอะไร แต่ชาวบ้านนำไปใช้ กับผลผลิตแล้วแนะนำว่าดีกว่าปุ๋ยเคมี แถมยังราคาถูกกว่าด้วย
การทำ “มูลสัตว์อัดเม็ด” มี คุณสุริยา บุญเค้า ประธานสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า และ คุณพงษ์สวัสดิ์ ศรีสุราช ตำแหน่งเจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์อาวุโส กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 4 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และคุณลำไย บึงแก้ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า เป็นผู้นำเยี่ยมชมและให้ข้อมูล
คุณกรวิภา คงอิ่ม สหกรณ์จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เริ่มดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักสหกรณ์มีส่วนที่สอดคล้องกัน เนื่องจากปลายทางของหลักเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักสหกรณ์คือให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสันติสุข สามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนครได้คัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
– สหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด ซึ่งเคยเข้าโครงการ เมื่อปี 2555 และ ปี 2558
– สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงโคกระบือสร้างดู่ จำกัด ซึ่งเคยเข้าโครงการ เมื่อปี 2558
– กลุ่มเกษตรกรทำสวนขัวขอนแคน
– กลุ่มเกษตรกรทำนานาเพียง
– กลุ่มเกษตรกรทำนาวัฒนา
ในส่วนของกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 คัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม แนะนำ ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่เคยเข้าร่วมโครงการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551-2556 โครงการขับเคลื่อน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน และขยายผลสู่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้นำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแพร่หลาย
กิจกรรม 2 ประสานงาน แนะนำ และส่งเสริมการดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
วัตถุประสงค์ เพื่อให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีกิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารจัดการธุรกิจหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับองค์กรและระดับสมาชิก
แนวปฏิบัติ
– ส่งเสริมการดำเนินงานในระดับองค์กร
– ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมในระดับสมาชิก
ระดับองค์กร ให้การแนะนำ ส่งเสริมให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งดำเนินงานตามแผนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
ระดับสมาชิก ให้การแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในระดับสมาชิก และส่งเสริมการจัดทำแผนครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมที่ 3 อบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการและสมาชิก
วัตถุประสงค์ เพื่อให้มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงานของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และในชีวิตประจำวันของสมาชิก เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ พร้อมทั้งมีแผนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แผนครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมที่ 4 การจัดทำแผนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรและแผนครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางในการดำเนินการและกิจกรรม รวมถึงการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและดำเนินการตามแผนการประเมินการดำเนินงานสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
กิจกรรมที่ 5 การติดตามและรายงานผลการดำเนินโครงการ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ในระดับองค์กรและระดับสมาชิก ติดตามการดำเนินการตามแผนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ติดตามการดำเนินแผนครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียงของสมาชิก
ข้อมูลทั่วไปของสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด
สหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด เป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2522 มีสมาชิก 1,555 คน ทุนดำเนินงาน ประมาณ 98,085,793.17 บาท เป็นทุนของสหกรณ์ 40,305,638 บาท คิดเป็น ร้อยละ41.09 เงินรับฝาก 50,559,900.58 บาท คิดเป็น ร้อยละ 51.55 ธุรกิจหลักประกอบด้วย การจ่ายเงินกู้ 37,971,324 บาท จัดหาสินค้ามาจำหน่าย 3,046,110 บาท ประกอบด้วย ปุ๋ย อาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น
จากผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา สหกรณ์มีผลประกอบการ โดยมีกำไรสุทธิ 3,439,317.08 บาท นอกเหนือจากการดำเนินในธุรกิจหลักดังกล่าวข้างต้น สหกรณ์ได้นำเงินอุดหนุนที่ได้รับจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตามโครงการลดภาระหนี้เกษตรกรรายย่อย เพื่อนำไปฟื้นฟูอาชีพของสมาชิก ประมาณ 1.9 ล้านบาท โดยนำไปผลิตมูลสัตว์อัดเม็ด จำนวน 1,370 กระสอบ มูลค่า 383,600 บาท โดยจำหน่ายราคากระสอบละ 280 บาท ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดใช้ปุ๋ยเคมีและลดต้นทุนการผลิตแก่สมาชิก โดยมีวัตถุดิบหลักคือ ปุ๋ยคอก ซึ่งรับซื้อจากสมาชิก
ในส่วนของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสหกรณ์ ได้มีการจัดทำโครงการที่สำคัญมารองรับ ประกอบด้วย
– โครงการจัดชั้นสมาชิก โดยแบ่งสมาชิกเป็น 4 ชั้น คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามระดับชั้นสมาชิก
– โครงการให้การศึกษาอบรม
ประชุมกลุ่มให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์แก่สมาชิก ปีละ 2 ครั้ง/กลุ่ม
เข้าร่วมการศึกษาอบรมตามหน่วยงานต่างๆ
การส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก
– สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ร่วมกับ 4 สหกรณ์ ในพื้นที่ใกล้เคียง
– สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด
– โครงการเอื้ออาทรสมาชิก ครอบครัว ผู้ยากไร้และผู้พิการ
– โครงการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก เช่น การเลี้ยงโคคุณภาพ การเลี้ยงปลา การเกษตรผสมผสาน เป็นต้น
จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระดับองค์กร โดยการให้การแนะนำ ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งดำเนินงานตามแผนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานของสหกรณ์ลดลง จากร้อยละ 46.99 เป็นร้อยละ 41.51 และมีกำไรเพิ่มขึ้นจาก 2.17 ล้านบาท เป็น 3.43 ล้านบาท
ส่วนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับระดับสมาชิก ได้ให้การแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงในระดับสมาชิก และส่งเสริมการจัดทำแผนครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการอยู่ดีกินดี มีสันติสุข สามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้
คุณพงษ์สวัสดิ์ ศรีสุราช ตำแหน่งเจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์อาวุโส กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 4 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการทำ “มูลสัตว์อัดเม็ด” ของสหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด มีส่วนผสมของมูลสัตว์อัดเม็ด ดังนี้
อัดเม็ดคุณสมบัติ และส่วนประกอบ
- 1. มูลสัตว์ หรือกากอ้อย 38 กิโลกรัม ให้ความโปร่ง ดินร่วนซุย เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน
- 2. แกลบดิบ 1 กิโลกรัม ให้ความโปร่ง ดินร่วนซุย
- 3. แกลบดำ 3 กิโลกรัม ให้ความร้อนในการหมัก
- 4. ดิน 3 กิโลกรัม เปลี่ยนแปลงน้ำจากร้อนให้เย็น เพิ่มน้ำหนัก
- 5. รำอ่อน 0.5 กิโลกรัม เป็นอาหารเชื้อจุลินทรีย์
- 6. กรดซีลีคอน 0.5 กิโลกรัมปรับสภาพให้เป็นกรดอ่อนๆ
- 7. น้ำหมัก 2 กิโลกรัม หัวเชื้อจุลินทรีย์/ปุ๋ยน้ำ
รวม 48 กิโลกรัม
ราคาขาย 280 บาท
ต้นทุน 250 บาท
ผลิตปีละ 1,200-2,000 กระสอบ
ในกิจกรรม “มูลสัตว์อัดเม็ด”…มีวัตถุประสงค์ ในการให้สมาชิกลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ปรับปรุงสภาพดินให้มีโครงสร้างที่ดี เหมาะแก่การปลูกพืช เป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักของสมาชิก
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกร หน่วยงานราชการใด สนใจอยากศึกษาหรือขอข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่ สหกรณ์การเกษตรคำตากล้า จำกัด คุณสุริยา บุญเค้า ตำแหน่งประธานกรรมการ โทร. 081-954-5796 คุณลำไย บึงแก้ ตำแหน่งผู้จัดการ โทร. 085-693-0510
ส่วนราชการ คุณพงษ์สวัสดิ์ ศรีสุราช ตำแหน่งเจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์อาวุโส สังกัดกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 4 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร โทรศัพท์ 081-974-4132
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่