งัดกฎหมายฟันสวนมะพร้าวรกร้างก่อ “หนอนหัวดำ-โรคแมลง”

หนอนหัวดำและแมลงดำหนามระบาดหนักช่วงฤดูร้อน ประจวบคีรีขันธ์จังหวัดเดียวมะพร้าวถูกทำลาย 6 หมื่นกว่าไร่ ชี้ยังแก้ไม่ตกจากเหตุฉีดยาฆ่าไม่พร้อมกันและมีการปล่อยสวนให้รกร้างสะสมโรค แมลง “ฉัตรชัย” เตรียมเสนอ ครม.ของบปราบ พร้อมใช้กฎหมายกักกินพืช ดัดหลังเจ้าของสวนที่ปล่อยปละละเลยแก้ปัญหาถาวร

นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ปลูกมะพร้าวใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของประเทศกว่า 4.5 แสนไร่ กำลังถูกแมลงดำหนามและหนอนหัวดำเข้าทำลายหนักช่วงฤดูร้อนนี้ 6 หมื่นกว่าไร่ ว่า การที่ศัตรูมะพร้าวยังระบาดอยู่ในจังหวัดกินพื้นที่ค่อนข้างมาก คือ การฉีดยาฆ่าไม่พร้อมกันของชาวสวนและบางสวนไม่มีการดูแลปล่อยให้รกร้าง ทำให้เป็นแหล่งสะสมของโรคแมลง ซึ่งพื้นที่ 6 หมื่นกว่าไร่ แยกเป็นต้นมะพร้าวที่มีความสูง 12 เมตรขึ้นไปประมาณ 5-6 แสนต้น ที่จะต้องใช้ยาฉีดเข้าลำต้น 2 ข้างและต้นต่ำกว่า 12 เมตรอีกประมาณ 6 แสนต้นที่จะต้องใช้วิธีฉีดพ่น

ทางจังหวัดจะเสนอให้กรมวิชาการเกษตร พิจารณางบประมาณ สารเคมีที่จะใช้และการจัดจ้างผู้เจาะลำต้นฉีดยาไปให้กรมรวบรวมพร้อมกับอีก 27 จังหวัดเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เสนอของบประมาณต่อคณะรัฐมนตรีภายในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันก็จะมีการออกตรวจสอบล้งมะพร้าว ว่ามะพร้าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีศัตรูมะพร้าวติดมาด้วยหรือไม่ มีการนำเข้าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้หลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน และในส่วนของสวนที่ปล่อยรกร้างทางภาครัฐจะมีการใช้กฎหมายเพื่อเข้าตรวจสอบ พื้นที่ รวมทั้งการกักกันพืชห้ามนำผลผลิตออกจากพื้นที่ด้วย

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดหนอนหัวดำในมะพร้าว ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28 จังหวัด พื้นที่รวม 78,954 ไร่ หรือประมาณ 6% ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแนวทางการไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว 5 แนวทางหลัก คือ 1) เร่งตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา 2) พ่นด้วยเชื้อ BT 3) ปล่อยแตนเบียน 4) พ่นสารเคมีทางใบ และ 5) ฉีดสารเคมีเข้าต้นตามหลักวิชาการที่ไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค

ด้านนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนการดำเนินงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ควบคุมการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ โดยดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่พบการระบาด

2) สร้างความมั่นใจในการใช้สารเคมี และวิธีการทางวิชาการที่เหมาะสมในการควบคุมการแพร่ระบาด 3) การขอความร่วมมือจากเกษตรกรเจ้าของสวน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยผลักดันไม่ให้หนอนหัวดำแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมการระบาดจากต่างประเทศ โดยอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจาก 4 ประเทศเท่านั้น

คือ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ซึ่งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำลังเร่งดำเนินการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ และมาตรการสำรอง หากพบพื้นที่อื่นที่มีการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ และไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสวน ก็จะใช้ พ.ร.บ.กักพืช ประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืช และบังคับใช้กฎหมายในระยะหนึ่ง เพื่อขจัดปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำให้หมดไปจากพื้นที่ที่มีการระบาด นายสุวิทย์กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์