กรมหม่อนไหม กับ ตชด. ร่วมสืบสานโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมสู่เยาวชนรุ่นใหม่

กรมหม่อนไหม  มุ่งสืบสานพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จ                พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  อนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมสู่เยาวชนรุ่นใหม่         ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ                        สร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธานพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาอาชีพการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยพัฒนาเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีอาชีพหนึ่ง  ดังนั้น จึงได้มีการบันทึกข้อตกลงด้านความร่วมมือโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระหว่างกรมหม่อนไหมและกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ในการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีความรู้ความสามารถในอาชีพด้านหม่อนไหม  ตลอดจนการสร้างรายได้ โดยช่วยเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีรายได้ระหว่างเรียน  ลดภาระของผู้ปกครองและมีความมั่นคงในอาชีพหลังจากจบการศึกษา และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยการสร้างคนด้วยการการสร้างทายาทหม่อนไหม เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาหม่อนไหมให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

“การพัฒนาศักยภาพของบุตรหลานของเกษตรกรให้เป็นผู้สืบทอดอาชีพด้านหม่อนไหมจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ Smart Farmer ซึ่งกรมหม่อนไหม ได้ดำเนินโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  เพื่อพัฒนาบุตรหลานเกษตรกรให้สืบทอดอาชีพหม่อนไหม เป็นการสืบทอดปณิธานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จ          พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาหม่อนไหมสู่เยาวชนรุ่นหลังต่อไป” นายธีรภัทร กล่าว

ด้านนางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม  กล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งเสริมให้ราษฎรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้พัฒนาความสามารถและรักษาภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ยุทธศาสตร์ที่ 3  การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน) และในแนวทางเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงให้ความสนพระทัยและทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และผู้ด้อยโอกาส ทรงยึดการดำเนินงานโดยให้คนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้การพัฒนา และใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนาให้ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และยังประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างสมดุล ทั้งทางด้านอาหารโภชนาการ สุขอนามัย การศึกษา การงานอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น กรมหม่อนไหม มีนโยบายที่จะดำเนินการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ให้แก่ เด็กและเยาวชนในโรงเรียน จึงได้จัดทำโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนได้มีรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพที่มั่นคงหลังจากจบการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วย

“สำหรับในปี 2560 กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสร้างทายาทหม่อนไหม  3 ระดับ จำนวน 628  ราย แบ่งเป็น ทายาทระดับโรงเรียน 571  ราย  (รร.ตชด.  12 โรงเรียน และ รร.สพฐ. 7 โรงเรียน)  ทายาทระดับสถาบันอุดมศึกษา  36 ราย (6 สถาบัน)  และทายาทระดับชุมชน  21 ราย  (ดำเนินการในพื้นที่ ศมม. 21 ศูนย์ทั่วประเทศ) โดยมีแนวทางดำเนินงาน  คือ สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ด้านหม่อนไหมทั้งระบบ สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านหม่อนไหมในโรงเรียนเชื่อมโยงเครือข่ายทายาทและเจ้าของภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมร่วมกับเกษตรกร ทำให้เกิดการสร้างอาชีพทางด้านหม่อนไหม อันจะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในอนาคต รวมทั้งเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมให้คงอยู่คู่ประเทศไทย ทั้งนี้จะจัดให้มีการประกวดทายาทหม่อนไหมในทุกระดับด้วย” นางสุดารัตน์ กล่าว

ด้านพล.ต.ท.เทพ อมรโสภิต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจตระเวนชายแดน มีหน้าที่ต้องตระเวนพื้นที่ตามแนวชายแดน จึงมีหน้าที่เสมือนรั้วของชาติ ได้พบเห็นหมู่บ้านต่างๆ มีเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนที่ยังไม่ได้เรียนหนังสือเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2499 ที่จังหวัดเชียงราย และต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันและโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ขึ้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

สำหรับความร่วมมือระหว่างกรมหม่อนไหมกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ได้เริ่มทดลองดำเนินการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มาตั้งแต่ ปี 2558 – 2559 รวม 55 โรงเรียน ซึ่งการดำเนินงานนับว่าเป็นผลดี และในปี 2560 กรมหม่อนไหม ได้ขยายการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 12 โรงเรียน