“สะเดา” พืชมหัศจรรย์ หวานเป็นลม ขมเป็นยา

ชื่อสามัญ : Neem Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica var. siamensis 

วงศ์ : MELIACEAE

 

“แม่ดอกโสน บานเช้า                 พ่อดอกสะเดา บานเย็น

แม่ดอกกระถินหอมกลิ่นระรวย   พ่อดอกพังพวย หอมตายละนั่น…”

                                      (เพลงโสนสะเดา-พร ภิรมย์-ศรีสุรางค์)

ใบและดอกสะเดา

ฤดูร้อน…ฤดูแห่งความแห้งแล้ง กลิ่นหญ้าแห้ง กลิ่นดอกสะเดาหอมอ่อนๆ ก็โชยมา ทำให้นึกถึงบทเพลงสนุกสนานที่ร้องเรียกตัวเองเป็นแม่ดอกโสนพ่อดอกสะเดา…ฤดูกาลนี้ กลางวันร้อนระอุ ต้นหญ้าเหลืองตาย บ้างก็โดนไฟแผดเผา อีสานยามแล้ง ใครๆ ก็ว่าไม่น่ามอง

ถึงแม้จะร้อนเพียงใดเจ้าสัตว์ตัวน้อยนิดก็ไม่เคยหยุดห่อใบไม้เพื่อสานรัง สิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนหยุดมองอย่างเพลินใจ บนต้นสะเดานั้นมีมดแดงจำนวนมากมาย ค่อยๆ บรรจงสร้างรังอันมหึมาไว้ต้อนรับสมาชิกตัวน้อยๆ… ฤดูไข่มดแดงเริ่มแล้ว!

ผู้เขียนอดนึกขำไม่ได้ว่า ใบสะเดาก็ออกจะขม แล้วเจ้ามดแดงนึกยังไง มาทำรังรอลูกน้อยลืมตาดูโลกที่ต้นไม้นี้ แล้วตัวอ่อนลูกมดจะชอบเหรอ หรือมดมันจะรู้ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” (…ฮา)

ถึงแม้ว่าต้นไม้ที่มดแดงชอบทำรัง ได้แก่ ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ต้นจิก ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นกระบาก และต้นขี้เหล็ก ฯลฯ แต่ต้นมะม่วงจะเหมาะมาก เพราะใบใหญ่ และใบเหลืองช้า จนเกิดเป็นที่มาของคำพังเพยว่า “มดแดงแฝงพวงมะม่วง”

หรือเป็นเพราะลานสะแบงมีแต่ต้นสะเดา มองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นสะเดาเป็นทิวแถวยาวเหยียด มดแดงก็เลยจำใจต้องเลือกทำรังบนต้นนี้ แล้วผู้เขียนก็ได้คำตอบ เพราะใต้ต้นสะเดามีรังมดแดงเปล่าที่แห้งเหี่ยวหล่นอยู่ตามโคนต้นหลายรังมาก นั่นเป็นเพราะเมื่อใบสะเดาแก่เหลืองจะร่วงหล่น มดแดงก็จะทิ้งรังทันที แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็โดนพวกมนุษย์สอยไข่ไปหมดแล้วเช่นกัน…

สะเดา เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดพุ่มหนาทึบตลอดปี มีระบบรากที่แข็งแรง ปกติสะเดาจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ สะเดาไทย (Azadirachta indica var. siamensis) สะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A. Juss) และสะเดาเทียม (ไม้เทียม) (Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs)

สะเดาไทย จะกระจายทั่วไปในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร ตามป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าแดงทั่วประเทศ สะเดาอินเดีย มีน้อยในประเทศไทย จะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเสียส่วนใหญ่ สะเดาเทียม จะขึ้นในภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

รังมดแดงบนต้นสะเดา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เปลือกนอกค่อนข้างหนา สีเทาแก่ แตกเป็นร่อง เยื้องสลับกันไปตามความยาวของลำต้น

แก่นไม้ สีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรง และทนทาน เปลือกของกิ่งค่อนข้างเรียบ

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร โคนใบมนเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยทู่ แผ่นใบเรียบ ใบสีเขียวมันเข้ม เมื่อฤดูแล้งมาถึงสะเดาจะทิ้งใบที่อยู่เฉพาะส่วนล่าง และใบใหม่ จะผลิขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ช่อดอก

ดอก เป็นช่อที่ปลายกิ่ง (ขณะแตกใบอ่อน) ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีกลีบดอก และกลีบเลี้ยงอย่างละ 5 กลีบ โคนติดกัน กลีบดอกโคนปลายแยกเป็น 5 แฉก

ผล มีลักษณะคล้ายผลองุ่น ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ขนาดของผลยาวประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด แต่โดยปกติจะมีเพียง 1 เมล็ด

เริ่มติดผล

เมล็ด จะมีผิวค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามความยาว ผิวสีเหลืองซีด หรือสีขาว ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร เมล็ดมีน้ำมันประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนัก มีการสูญเสียความมีชีวิตเมล็ดรวดเร็วมาก เมล็ดเมื่อเก็บจากต้นแล้วควรเพาะทันทีภาย 5-7 วัน จะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

 

การนำไปใช้ประโยชน์

ใบ ดอก ไม่ว่าจะ​รส​ขม​ หรือ​รส​มัน ใช้​รับประทาน​เป็น​อาหาร ​มี​​สารอาหารช่วย​ระบบ​คุ้มกัน​ร่างกาย ​ต้าน​เชื้อโรค​ที่​มี​อยู่​รอบ​กาย​ได้ โดยเฉพาะ​เชื้อ​ไข้หวัด

นอกจากประโยชน์ด้านการเป็นอาหารแล้ว ยังนิยมนำแทบทุกส่วนของสะเดามาใช้เป็นยารักษาโรค ทั้งเปลือกไม้ ใบ กิ่ง ก้าน ดอก ผล เมล็ด หรือแม้แต่รากของสะเดา

ใบ​สด ​​ใช้​ต้ม​น้ำ​อาบ ​แก้​ตุ่ม​คัน​ต่างๆ

ก้าน ชาว​อินเดีย​จะ​หัก​เอา​ก้านสะเดาทุบ​แปรง​ฟัน​ ทำให้​ฟัน​สะอาด

เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ไม้เสา ฝา บ้าน และคาน เนื่องจากไม้สะเดาค่อนข้างตรง แข็งแรง ปลวกไม่ค่อยทำลาย เนื้อไม้สะเดามองดูคล้ายๆ กับเนื้อไม้มะฮอกกานี เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนั้น นิยมทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เพราะไม้สะเดามีความทนทาน ขัดชักเงาได้ดี และเนื้อไม้มีสีแดง

ด้านเชื้อเพลิง ไม้สะเดาจัดเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ฟืน เนื้อไม้หนักพอประมาณ มีความถ่วงจำเพาะ 0.56-0.85 ให้ความร้อนจำเพาะสูง ค่าความร้อนจะมีประมาณ 4,244-5,043 แคลอรี/กิโลกรัม 

สะเดาบนคันนา

งานวิจัยที่น่าสนใจ

สะเดาที่ว่าขมๆ นี่มีประโยชน์มากมายแทบจะเรียกได้ว่า เป็นพืชมหัศจรรย์ เพราะไม่มีส่วนใดที่ไม่มีประโยชน์เลย

สมพร (2546) ได้รายงานว่า สะเดามีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ ยอดสะเดา 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 76 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยน้ำ 7,799 กรัม คาร์โบไฮเดรต 1,295 กรัม โปรตีน 594 กรัม ไขมัน 095 กรัม มีกาก 292 กรัม แคลเซียม 354 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม เหล็ก 496 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 3,611 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 906 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 907 มิลลิกรัม และวิตามินซี 194 มิลลิกรัม

ขวัญชัย (2536) ได้ศึกษาการนำสารสกัดจากเมล็ดสะเดามาใช้ในการป้องกัน และกําจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด พบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันกําจัดแมลงศัตรูพืชหลายแบบ เช่น การมีฤทธิ์เป็นสารไล่แมลง (repellent) ยับยั้งการกินอาหาร (antifeedant) ยับยั้งการเจริญเติบโต (growth inhibitor) ตลอดจนถึงการยับยั้งการวางไข่ของตัวเต็มวัย (Oviposition deterrent)

เฉลิมพร (2551) ได้นำสะเดา (ใบรวมก้าน) มาใช้เลี้ยงแพะ พบว่า สามารถใช้ประโยชน์ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งปริมาณการกินได้ การย่อยได้ของจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก และสมรรถนะการผลิตแพะเนื้อ ซึ่งการนำสะเดามาใช้เป็นพืชโปรตีนอาหารสัตว์เป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร และใบสะเดายังช่วยกำจัดพยาธิในทางเดินอาหารของแพะอีกด้วย

รังมดแดงเปล่าใต้โคนต้น

สารออกฤทธิ์ในสะเดาที่สำคัญอีกตัว ได้แก่ สารประกอบ แทนนิน (Tannin compounds) และสารในเมล็ดสะเดา ในกลุ่ม ลิโมนอยด์ (limonoids) ได้แก่ Nimbolide และ Gedunin สารสองชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้อ “ฟัลซิปารัม” ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาคลอโรควีนในหลอดทดลอง

ส่วนสาร Polysaccharides และ limonoids ที่​พบ​ใน​เปลือก ใบ และผลสะเดานั้น ลด​ความ​เสี่ยง​ใน​การ​เกิด​เนื้องอก และมะเร็ง ได้​โดย​ไม่​ก่อ​ผล​ข้าง​เคียง​แต่​อย่าง​ใด

สะเดานี่สารพัดประโยชน์จริงๆ…ที่ทุกครัวเรือนควรมีไว้ ผู้เขียนเองก็คิดจะปลูกสะเดาสักแปลงไว้ชมดอกเล่นเพลินๆ ดมกลิ่นอ่อนๆ ยามเย็น และเก็บไว้ให้มดแดงมาทำรัง เผื่อจะมีใครมาเรียกว่า “มดแดงแฝงต้นสะเดา” กันบ้าง (...ฮา) แต่ถ้าถึงฤดูกาลที่ยอดอ่อนผลิบาน ผู้เขียนก็คงต้องขอเจ้ามดแดงเก็บยอดอ่อนมาจิ้มน้ำพริก จิ้มน้ำปลาหวานกันบ้างล่ะ

 

สำหรับใคร​ที่​กินสะเดา​รส​ขม​ไม่ได้ ก็ไม่​ต้อง​กังวลกันอีก​ต่อ​ไป เพราะ​มี “สะเดา​มัน​ทะวาย” วาง​ขาย​ให้​ซื้อ​ไป​ปลูก และซื้อดอก​อ่อน​ ยอด​อ่อน ไป​รับประทานกันมากมาย​ และวิธีดูว่าสะเดาขมหรือมัน ให้ดูที่ยอดอ่อน “ถ้าขมยอดอ่อนจะมีสีแดง แต่ถ้ามันยอดอ่อนจะมีสีขาว” ไม่ว่าจะขมหรือมัน กินกับปลาย่างและข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย…แค่นึกก็น้ำลายไหล…และรู้สึกอิ่มขึ้นมาทันที…พบกันใหม่ฉบับหน้า…สวัสดี…

 

เอกสารอ้างอิง

ขวัญชัย สมบัติศิริ, 2536. คําแนะนําการใช้สารสกัดสะเดาป้องกันกําจัดแมลง. น. 1-8. ในการใช้สารสกัดจากพืชทดแทนการใช้เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร. เอกสารโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ. สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ. 98 น.

บุญฤทธิ์ ภูริยากร. 2529. ไม้สะเดา. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บางเขน. กรุงเทพฯ. 21 น.

เฉลิมพร สุวรรณฤทธิ์. 2557. การใช้สะเดาเป็นประโยชน์ต่อแพะ. สาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช..

เผยแพร่ครั้งแรก