กว่า 3 ทศวรรษ กับงานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว “บ้านตอนิมิตร” แพร่

หลายคนอาจไม่รู้ว่า กลุ่มเกษตรกรบ้านตอนิมิตร ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น เทศบาลเมืองแพร่ ยืนเป็นหนึ่งในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร ตลอดจนขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ข้าวชุมชน ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2553-2557 เกษตรกรได้ร่วมด้วยช่วยกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อส่งกรมการข้าวมามากกว่า 30 ปี การผลิตพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร ผลิตอยู่มี 2 สายพันธุ์  ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์มีความแตกต่างจากการปลูกข้าวทั่วไป และต้องใช้หลักวิชาการเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ดีผ่านมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ที่ได้ตั้งเป้าไว้ จนทำให้เป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง เข้มแข็ง มีผลผลิตที่ดี มีรายได้เพิ่ม

กระสอบข้าวของบ้านตอนิมิตร

พันธุ์ข้าวที่ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ระดับชุมชนในเขตจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนมากเป็นข้าวนาสวน (พันธุ์ที่ปลูกในเขตที่น้ำขัง) แบ่งตามการตอบสนองต่อช่วงแสงได้ 2 ชนิด คือ

  1. ข้าวไวต่อแสง ได้แก่ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 (1 ปี ปลูกได้ครั้งเดียว)
  2. ข้าวไม่ไวต่อแสง ได้แก่ สันป่าตอง 1 (ปลูกได้ตลอดปี)

พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105

เมล็ดข้าว

ชนิด : ข้าวเจ้าหอม

ประวัติพันธุ์ : ได้มาโดย คุณสุนทร สีหะเนิน เจ้าพนักงานข้าว รวบรวมจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2493-2494 จำนวน 199 รวง แล้วนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง แล้วปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 4-2-105 ซึ่ง เลข 4 หมายถึง สถานที่เก็บรวงข้าว คือ อำเภอบางคล้า เลข 2 หมายถึง พันธุ์ทดสอบที่ 2 คือ ขาวดอกมะลิ และ เลข 105 หมายถึง แถว หรือรวงที่ 105 จากจำนวน 199 รวง

การรับรองพันธุ์ : คณะกรรมการการพิจารณาพันธุ์ให้ใช้ขยายพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2502

ลักษณะประจำพันธุ์ : เป็นข้าวเจ้า สูงประมาณ 140 เซนติเมตร ไวต่อแสง

– ลำต้นสีเขียวจาง ใบสีเขียวยาวค่อนข้างแคบ ฟางอ่อน ใบธงทำมุมกับคอรวงเมล็ดข้าวรูปร่างเรียวยาว

– ข้าวเปลือกสีฟาง

– อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 25 พฤศจิกายน

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.6 x 2.5 x 1.9 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.5 x 2.1 x 1.8 มิลลิเมตร ปริมาณอะมิโลส 12-17%

– คุณภาพข้าวสุก นุ่ม มีกลิ่นหอม

ผลผลิต : ประมาณ 363 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น : ทนแล้งได้ดีพอสมควร

– เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี

– คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม

– ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม

ข้อควรระวัง : ไม่ต้านทานโรคสีส้ม โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้และโรคใบหงิก

-ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและหนอนกอ

พื้นที่แนะนำ : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน

ข้าวสันป่าตอง

ชื่อพันธุ์ : สันป่าตอง 1

ชนิด : ข้าวเหนียว

คู่ผสม : BKNLR75001-B-CNT-B-B-RST-36-2 /กข 2

ประวัติพันธุ์ : ได้จากการผสมพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ BKNLR75001-B-CNT-B-B-RST-36-2 กับพันธุ์ กข 2 ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง เมื่อปี พ.ศ. 2527 ปลูกคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ SPTLR84051-32-2-2-4

การรับรองพันธุ์ : คณะกรรมการการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2543

ลักษณะประจำพันธุ์ : เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว สูงประมาณ 119 เซนติเมตร

– ไม่ไวต่อช่วงแสง

– อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 130-135 วัน

– ทรงกอตั้ง ใบสีเขียว กาบใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง รวงยาว ระแง้ถี่ รวงแน่น คอรวงสั้น ฟางแข็ง ใบแก่ช้า

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

– ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 8 สัปดาห์

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.4 x 2.9 x 2.1  มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.1 x 2.2 x 1.8  มิลลิเมตร

– คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม

แปลงนา

ผลผลิต : ประมาณ 630 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น : ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง

– ให้ผลผลิตสูง

– เป็นข้าวเหนียวที่สามารถปลูกได้ตลอดปี

ข้อควรระวัง : ไม่ต้านทานโรคใบสีส้ม

-ไม่ต้านทานแมลงบั่ว

พื้นที่แนะนำ : พื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คุณสมบัติเมล็ดพันธุ์ที่ดี

เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ทำพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ควรมีลักษณะที่ดี คือ

  1. ตรงตามพันธุ์และมีความบริสุทธิ์สูง
  2. มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง
  3. มีความแข็งแรงดี
  4. มีขนาด น้ำหนัก รูปร่าง ใกล้เคียงกันและสม่ำเสมอ
  5. ปราศจากโรคและแมลงที่ติดมากับเมล็ด
  6. ไม่ได้รับความเสียหายจากเครื่องจักรกลในขั้นตอนต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยว

ประเภทของเมล็ดพันธุ์ข้าว

ต้นข้าว

แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์และวิธีการผลิต คือ

  1. เมล็ดพันธุ์จากรวง คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้เก็บรวงมาจากพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่ได้มาจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์และจะต้องเป็นพันธุ์ที่คณะกรรมการพิจารณาประกาศให้ขยายพันธุ์ได้
  2. เมล็ดพันธุ์คัด คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากเมล็ดพันธุ์จากรวงต่อแถว และได้รับการควบคุมตรวจสอบสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดจากนักปรับปรุงพันธุ์ เมล็ดพันธุ์คัดนี้ผลิตโดย ศูนย์วิจัยข้าวของสถาบันวิจัยข้าว กรมการข้าว ทุกปีเพื่อนำไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักในปีต่อไป
  3. เมล็ดพันธุ์หลัก คือเมล็ดที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์คัดตามหลักวิชาการของกรมการข้าว เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักนี้ผลิตโดย ศูนย์วิจัยข้าวของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ทุกปี เพื่อนำไปจำหน่ายให้ชาวนาพันธุ์ขยายปลูกเป็นพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายในปีต่อไป
  4. เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักและปฏิบัติตามวิธีการที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์พันธุ์ข้าวของสำนักเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายที่ปลูกโดยชาวนาฝีมือดี คือชาวนาพันธุ์ขยายทุกปีและจะจำหน่ายให้ชาวนาพันธุ์จำหน่ายปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายในปีต่อไป
  5. เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและปฏิบัติตามวิธีที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของสำนักเมล็ดพันธุ์ข้าวเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายนี้ ปลูกโดยชาวนาฝีมือดี คือชาวนาพันธุ์จำหน่ายทุกปีและจำหน่ายให้ชาวนาทั่วไปปลูกในปีต่อไป

การเตรียมแปลง

ข้าวหอมมะลิ เมืองแพร่

การผลิตเมล็ดพันธุ์ ต้องมีการไถดะ ไถแปร เพื่อกำจัดวัชพืชและข้าวเรื้อที่เป็นสาเหตุของพันธุ์ข้าวเสื่อมหรือไม่มีคุณภาพ มีหลักในปฏิบัติคือ จำนวนครั้งในการไถ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนวัชพืช ถ้าปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ แตกต่างจากฤดูก่อน ต้องไถดะ ไถแปร มากครั้งขึ้น และควรหมักดินเพื่อสลายอินทรียวัตถุให้หมด และพืชยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ และควรแบ่งแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นแปลงย่อย แปลงละ 4.50 เมตร เพื่อง่ายต่อการเข้าไปปฏิบัติงาน

สาเหตุของพันธุ์ข้าวเสื่อม

พันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติผิดไปจากมาตรฐานพันธุ์เดิม เกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เกิดได้ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ การทำนาพันธุ์ไม่ควรปลูกพันธุ์ข้าวที่ออกดอกพร้อมกัน หรือใกล้เคียงกันไว้ใกล้กัน และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับพันธุ์ข้าวลูกผสม หรือพันธุ์ข้าวที่ได้มาโดยการชักนำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรม เช่น พันธุ์ กข 1 กข 6 กข 10 และ กข 15

ประการที่ 2 คือ เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปฏิบัติงาน คือ ข้าวเรื้อ เมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในนาและงอกขึ้นมาปะปนกับข้าวพันธุ์ใหม่ที่นำไปตกกล้าหรือแปลงปักดำ ดังนั้น ควรจะเตรียมแปลงปักดำให้ประณีต เพื่อช่วยลดปัญหานี้ได้ และข้าวปน นับว่าเป็นสาเหตุใหญ่ของพันธุ์ข้าวเสื่อม ข้าวปนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน พาหนะขนย้าย ยุ้งฉาง ตลอดถึงเครื่องนุ่งห่มของผู้ปฏิบัติงาน จะต้องมีการตรวจสอบทำความสะอาดให้แน่ใจว่า ไม่มีเมล็ดพันธุ์อื่นหลงเหลือตกค้างอยู่

การตกกล้า และปักดำ

การตกกล้า จะต้องเตรียมดินและแบ่งแปลงย่อยแล้วตกกล้า โดยแช่เมล็ดพันธุ์ 1 คืน และนำไปหุ้ม 2 วัน จึงนำไปหว่านในแปลงกล้า อัตรา 50 กรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม ในส่วนของการปักดำ แปลงปักดำควรแบ่งแปลงเล็กๆ กว้าง 4.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ที่ปักดำ จับละ 3-5 ต้น ระยะ 25 x 25 เซนติเมตร ใช้อายุ 25-30 วัน

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ย ต้องใส่ 2 ครั้ง คือ ใส่ ครั้งที่ 1 ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ในดินเหนียว หรือ 16-16-8 ในดินทราย ไร่ละ 25 กิโลกรัม ใส่ก่อนปักดำหรือใส่หลังปักดำ ไม่เกิน 10 วัน ควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับ 5-10 เซนติเมตร ใส่ ครั้งที่ 2  ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรีย (16-0-0) อัตรา 5-10 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ระยะก่อนข้าวออกรวง 30 วัน (ตั้งท้อง) ก่อนใส่ควรกำจัดวัชพืชและรักษาระดับน้ำ 5-10 เซนติเมตร โดยเลือกสูตรใดสูตรหนึ่งเพียงสูตรเดียว

มาตรฐานเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ต้องผ่านกระบวนการการวิเคราะห์มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ที่กำหนด เพื่อรับรองว่า พันธุ์ข้าวที่ผลิตได้นั้น ผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐาน งานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มาตรฐานกำหนดชั้นของเมล็ดพันธุ์ไว้ ดังนี้

เมล็ดพันธุ์หลัก

  1. เมล็ดพันธุ์แท้ อย่างน้อย 98 เปอร์เซ็นต์
  2. ข้าวแดง ไม่มี
  3. ข้าวพันธุ์อื่นปน มีไม่เกิน 5 เมล็ด ใน 500 กรัม
  4. สิ่งเจือปน ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์
  5. ความงอก อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์
  6. ความชื้น ไม่เกิน 14 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดพันธุ์ขยาย

  1. เมล็ดพันธุ์แท้ อย่างน้อย 98 เปอร์เซ็นต์
  2. ข้าวแดง มีไม่เกิน 5 เมล็ด ใน 500 กรัม
  3. ข้าวพันธุ์อื่นปน มีไม่เกิน 15 เมล็ด ใน 500 กรัม
  4. สิ่งเจือปน ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์
  5. ความงอก อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์
  6. ความชื้น ไม่เกิน 14 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดพันธุ์จำหน่าย

  1. เมล็ดพันธุ์แท้ อย่างน้อย 98 เปอร์เซ็นต์
  2. ข้าวแดง มีไม่เกิน 10 เมล็ด ใน 500 กรัม
  3. ข้าวพันธุ์อื่นปน มีไม่เกิน 20 เมล็ด ใน 500 กรัม
  4. สิ่งเจือปน ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์
  5. ความงอก อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์
  6. ความชื้น ไม่เกิน 14 เปอร์เซ็นต์

การผลิตเมล็ดข้าวของบ้านตอนิมิตร เป็นการผลิตที่ลดต้นทุน เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร สร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น เทศบาลเมืองแพร่ 54130 โทร. 085-029-0991 หรือ FACEBOOK : กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร

…………………………………………………………………………………………………………………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่