เปิด ‘หุ่นฟางภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่’ เรียนรู้เรื่องราว ‘ไดโนเสาร์อีสาน’

“ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา” อยู่ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เพื่อวิจัยค้นคว้าซากเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อันเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทย และถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน ตลอดจนขยายผลการศึกษาและผลิตบุคลากรด้านบรรพชีวินวิทยา โดยศูนย์วิจัยฯ ได้จัดงานเปิดตัวต้นแบบหุ่นฟางไดโนเสาร์อีสานตัวแรกของประเทศไทย “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่” ที่ลานสนามหญ้าทางเข้ามหาวิทยาลัยสารคาม บ้านดอนยม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย เป็นไดโนเสาร์ 1 ใน 9 สายพันธุ์ของไทย ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานเปิดตัว มี นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานพร้อมชมงานร่วมกับ ศ.ดร. สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสารคาม และคณาจารย์

ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา เปิดเผยว่า การพัฒนาหุ่นฟางไดโนเสาร์เพื่อสะท้อนถึงเรื่องราวของไดโนเสาร์ไทย ที่มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ 200 ล้านปีก่อน ซึ่งนักบรรพชีวินได้พบซากของไดโนเสาร์ไทยทั้ง 9 ชนิด ในภาคอีสาน แสดงให้เห็นว่าผืนดินแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ งานวิจัยของศูนย์บรรพชีวินจะช่วยเติมเต็มข้อมูลของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างเกิดขึ้นในประเทศไทย

“หุ่นฟางไดโนเสาร์” บอกเล่าเรื่องราวงานวิจัยด้านบรรพชีวิน ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมโดยใช้ฟางข้าวสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนนา ใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ประติมากรรม ภายใต้โครงการต้นแบบหุ่นฟางไดโนเสาร์ ย้อนรอยเรื่องราวดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการหนึ่งคณะ หนึ่งศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสารคาม ดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559-มีนาคม 2560 มีการศึกษาหาความรู้การใช้ฟางสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ รวมกับความเชี่ยวชาญงานศิลปกรรมของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม จนสามารถสร้างต้นแบบหุ่นฟางไดโนเสาร์สำเร็จ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมต้นแบบหุ่นฟางไดโดเสาร์ไทยได้ที่บริเวณสนามหญ้า เส้นทางไปหน้ามหาวิทยาลัยสารคาม ซึ่งจะจัดแสดงเป็นเวลา 1 เดือน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการขั้นตอนการทำหุ่นฟางไดโนเสาร์ ส่วนที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาจะมีนิทรรศการแหล่งเรียนรู้ทางด้านบรรพชีวิต รวมถึงฟอสซิลไดโนเสาร์ เต่า ปลาฉลาม ที่ค้นพบใหม่กว่า 10 ชนิด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนรายวัน