เจาะทิศทางหอมแดง 3 จังหวัดอีสาน มี.ค.ผลผลิตออกตลาด แนะรวมกลุ่ม พัฒนาการผลิต-การตลาด

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 เกาะติดสถานการณ์หอมแดง ปี 60 ในพื้นที่ 3 จังหวัดอีสาน ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เผย มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 726 ไร่ ผลผลิตรวม 1,699 ตัน ระบุ กุมภาพันธ์-มีนาคม ผลผลิตออกมาก  แนะเกษตรกรต้องพัฒนาศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต และการหาตลาดเพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางแก่เกษตรกร

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงสถานการณ์ หอมแดง ปี 2560 ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ติดตามสถานการณ์ พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 726 ไร่ (ลดลงร้อยละ 7.82) เนื้อที่เก็บเกี่ยว 676 ไร่ (ลดลงร้อยละ 10.10) ผลผลิตรวม 1,699 ตัน (ลดลงร้อยละ 15.67) ผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 2,513 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 6.20)

จากการสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด พบว่า  สาเหตุที่มีการเพาะปลูกลดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ประกอบกับเกษตรกรขาดแคลนหัวพันธุ์ และมีหอมแดงบางส่วนเป็นโรคหอมเลื้อย มีศัตรูพืชรบกวน ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

ด้านราคา ในปี 2560 เกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด ขายหอมแดงได้ในราคาเฉลี่ย ณ เดือน กุมภาพันธ์ กิโลกรัมละ 10-15 บาท ลักษณะการขายผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการรอให้พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อที่สวน ไม่สามารถต่อรองราคาได้ โดยผลผลิตส่วนมากจะออกในเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2560 ดังนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพื้นที่ปลูกหอมแดงในเขตพื้นที่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จะไม่ใช่แหล่งผลิตแหล่งใหญ่      แต่นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่ทำรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูก การพัฒนาการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแนวทางการพัฒนาต้องครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เกษตรสามารถผลิตหอมแดงได้อย่างมีคุณภาพ ได้แก่ การให้ความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีการเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการรวมกลุ่มในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งการเข้าถึงพันธุ์ปลูก รวมถึงการมีตลาดที่ชัดเจนและสะดวกต่อการคมนาคม เพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางให้กับเกษตรกร ส่วนหอมแดงที่รับซื้อควรมีกระบวนการที่จะเก็บรักษาการกระจายสินค้าเพื่อคงคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเพื่อออกสู่ตลาด ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดหอมแดงในพื้นที่ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา  โทร. 044 465 120 และอีเมล [email protected]