สศก. เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด เปิดตัวโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สศก. เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 เปิดตัวโครงการ แรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างทางรอด เสริมภูมิคุ้มกัน ให้ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ต่อยอดพัฒนาภาคเกษตรไทยในอนาคต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2563) นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานและผู้ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดกว่า 40,000 คน โดยทุกภาคส่วนต่างร่วมกันหามาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเป็นอยู่ของประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าว อาทิ กระทรวงแรงงาน เน้นมาตรการรองรับสถานการณ์ว่างงาน รวมไปถึงกระทรวงการคลังที่อัดฉีดเม็ดเงินช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานกลับเข้าสู่ระบบ สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ มีอาชีพ และมีรายได้ดำรงชีพ จุนเจือครอบครัวอย่างปกติสุข

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบซึ่งนอกจากจะมีมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 15,000 บาทแล้ว ยังได้มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานกลับคืนถิ่นได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ว่างงาน ที่สนใจปรับเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่ภาคการเกษตร โดยได้มอบหมาย สศก. จัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรผลผลิตทางการเกษตร ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ จากภาครัฐ หรือโดยกลุ่มองค์กรประชาชน ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นให้สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

สศก. ได้ถือโอกาสในเดือนกรกฎาคม เดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 เปิดตัวโครงการดังกล่าวนำร่องกิจกรรมครั้งแรก ณ ศพก. อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยปราชญ์เกษตรตัวอย่าง คือ นายเชิดชัย จิณะแสน ศกอ. จังหวัดศรีสะเกษ และประธาน ศพก. ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพลิกฟื้น ยืนหยัด พึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ รวมทั้งยังเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน สามารถก้าวข้ามหรือรอดพ้นได้ทุกสถานการณ์ ทั้งจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ สศก. มีแผนขยายกิจกรรมไปยังทุกภูมิภาค โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ร่วมกับ ศกอ. ในพื้นที่จัดอบรมให้แก่เกษตรกร แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงาน บูรณาการต่อยอดและขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงกับการพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานต่างๆ อีกจำนวนกว่า 1,000 ราย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

กิจกรรมภายใต้โครงการ จะเน้นกิจกรรมอบรมและสาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเกษตรอย่างรอบด้านของฐานการเรียนรู้ ตั้งแต่การปรับพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตรที่สามารถเลี้ยงชีพได้ภายใน 7 วัน การปลูกพืชสวนครัว พืชไร่ ไม้ผล การประมง การจัดการแหล่งน้ำ การปศุสัตว์ การปลูกป่าและไม้เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่และให้ผลตอบแทนสูง ผ่านแอปพลิเคชั่น ฟาร์ม D การคิดต้นทุนการผลิตด้วยแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี (RCMO) การจัดทำแผนธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล BIG Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิตอลในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“วิกฤตโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ได้กระทบต่อเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากพิจารณาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร ยังเป็นกลุ่มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน จึงทำให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ อีกทั้งภาคเกษตร ยังมีศักยภาพในการรองรับ และช่วยแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานได้อีกด้วย ซึ่ง สศก. เรามีเศรษฐกิจการเกษตรอาสา หรือ ศกอ. ที่มีศักยภาพ และพร้อมทั้งความรู้ ประสบการณ์ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ที่จะเข้ามาบ่มเพาะ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ร่วมกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว