คน. ถก 3 สมาคมรับมือผลปาล์ม ปี’60/61 ทะลัก 11.7 ล้านตัน

กรมการค้าภายใน ระดมสมอง 3 สมาคมโรงสกัด-โรงกลั่น-ไบโอดีเซล รับมือผลปาล์ม ปี’60/61 ทะลัก 11.7 ล้านตัน หวั่นราคาร่วง เอกชนแนะรัฐหามาตรการคุมเข้มเกษตรกร-จุดรับซื้อแก้ปัญหาตัดปาล์มอ่อนเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ ขู่หากไม่ได้ผลควรใช้ มาตรา 44 ดูแล

แหล่งข่าวจากวงการปาล์มน้ำมัน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ประชุมหารือสถานการณ์การผลิตและราคาผลผลิตปาล์ม โดยภาครัฐได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ 3 สมาคม ประกอบด้วย โรงสกัด โรงกลั่น และไบโอดีเซล ให้พัฒนาคุณภาพเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปน้ำมันปาล์ม และขอไม่ให้มีการตัดปาล์มดิบ ซื้อปาล์มดิบ แยกลูกร่วง หรือการทำลายคุณภาพน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้ หากในอนาคตไม่สามารถควบคุมได้อาจมีความจำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญเข้าไปดูแล

พร้อมกันนี้ ได้หารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการตัดปาล์มดิบของเกษตรกร ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายดูแลและรักษาเสถียรภาพด้านราคาผลปาล์ม และ CPO ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ผูกมัดใดๆ

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2560/2561 จะมีปริมาณ 11.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.73% จากปี 2559/2560 ที่มีปริมาณ 10.9 ล้านตัน โดยผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาด คาดว่าในไตรมาส 1 มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วปริมาณ 2.707 ตัน เพิ่มขึ้น 12.2% จากปีก่อน และมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบยกมาจากสิ้นเดือนมกราคม 2560 ปริมาณ 237,157 ตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งมีปริมาณ 293,467 ตัน แต่ประมาณการสต๊อกน้ำมันปาล์มช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 จากตัวเลขการแจ้งตามประกาศ กกร. (คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ) รวมกับปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากการคำนวณตามปริมาณผลปาล์มที่ได้จากการประสานของ สศก. เบื้องต้นว่า คาดว่าจะมีผลปาล์มออก 936,190 ตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 168,514 ตัน หากความต้องการใช้ในประกาศ ณ ไบโอดีเซล บี 5 ปริมาณ 66,000  ตัน และปริมาณการใช้เพื่อบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เดือนละ 84,000 ตัน จะเหลือสต๊อก 251,000-252,000 ตัน

ที่ประชุมคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาผลปาล์มจะปรับตัวลดลง เพราะความต้องการใช้ลดลง ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ ซึ่งขณะนี้เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 คาดว่าจะออกมาสู่ตลาด 10-20% ของปริมาณผลผลิต

ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ว่า ในการกำหนดเกณฑ์การตั้งราคาแนะนำซื้อผลปาล์มน้ำมัน อัตราน้ำมัน 18% ว่าควรจะคงอยู่ในระดับ 5.70 บาท และเพื่อจูงใจให้เกษตรกรตัดผลปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงก็ควรเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพิ่มราคาแนะนำปาล์มน้ำมันที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มสูง เช่น ไม่น้อยกว่า กิโลกรัมละ 0.30 บาท ทุกๆ 1% น้ำมันตั้งแต่ 18 เปอร์เซ็นต์ ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

โดยปัจจุบันราคาผลปาล์มในเดือนมีนาคม อยู่ที่กิโลกรัมละ 5.60 บาท ลดลงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 7.65 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 29 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ กิโลกรัมละ 29.02 บาท เทียบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซีย ที่กิโลกรัมละ 23.56 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กิโลกรัมละ 22.20 บาท

นายมานิต วงษ์สุรีรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมได้ขอความเห็นถึงสถานการณ์ปาล์มจากภาคเอกชน ซึ่งทางโรคสกัดมองว่าแนวโน้มผลผลิตปาล์มอาจจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากตั้งแต่กลางปี 2559 ถึงปัจจุบัน จึงคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตราว 11-12 ล้านตัน ส่วนราคารับซื้อผลปาล์มในพื้นที่ขึ้นอยู่กับราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงกลั่น หากรับซื้อราคาสูงทางโรงสกัดก็สามารถรับซื้อผลปาล์มราคาสูง หากโรงกลั่นซื้อต่ำก็รับซื้อผลปาล์มได้ราคาต่ำ

“ขณะนี้ทางเอกชนเสนอให้กรมการค้าภายในไปพิจารณาออกมาตรการแก้ปัญหาเกษตรกร และจุดรับซื้อ ที่มักจะมีพฤติกรรมทำลายคุณภาพผลปาล์ม เช่น ตัดผลปาล์มไม่สุก แยกลูกร่วง ใส่ทราย ซึ่งทำให้โรงสกัดไม่สามารถรับซื้อผลปาล์มราคาสูงได้ ดังนั้น หากมีมาตรการทางด้านกฎหมายในเชิงบังคับหรือมีบทลงโทษ ก็เป็นแนวทางที่ดี หรือถ้าจำเป็นต้องใช้มาตรการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัย มาตรา 44 ก็ทำได้เลย เพราะถึงอย่างไรโรงสกัดก็ต้องซื้อปาล์มตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และขายตามราคาที่โรงกลั่นกำหนด”

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ