มะแว้ง พืชผักเป็นยารักษาได้สารพัดโรค

ในบ้านเรานี้ มีพืชเป็นยา ที่เรียกว่า สมุนไพร มากมายหลายอย่าง ที่คนไทยนำมาใช้รักษาโรค บำรุงร่างกายมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล รักษาชีวิตคนให้อยู่รอดมาแล้วมากมาย ไม่ว่ายุคใดสมัยไหน ต่างก็รู้จักมักคุ้นพืชสมุนไพรต่างๆ และใช้ประโยชน์กันมาอย่างแพร่หลาย ถึงแม้ยาแผนปัจจุบันจะมีมากมาย แต่ยาสมุนไพรก็ไม่ได้ด้อยค่าความนิยมลงเลย กลับตรงกันข้าม ยิ่งจะมีผู้คนเสาะแสวงหามาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

พืชสมุนไพรเมื่อก่อนต้องเข้าไปเสาะหาได้มาจากป่า เดี๋ยวนี้หลายอย่างนำมาปลูกในบริเวณบ้าน ในชุมชนกันมากแล้ว “มะแว้ง” เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผู้คนนิยมนำมาปลูกไว้ใช้ประโยชน์ เป็นพืชผักประกอบอาหาร เป็นพืชประดับบ้านและสวน และเป็นพืชสมุนไพร ปลูกกันหลายถิ่น เรียกกันไปต่างๆ ภาคกลาง เรียก “มะแว้ง” ภาคเหนือ เรียก “มะแคว้งขม”, “มะแค้งขม” ภาคอีสาน เรียก “หมากแข้งขม” ภาคใต้ เรียก “แว้งคม” กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน เรียก “สะกั้งแค” ส่วนชาวรัฐฉาน เรียก “หมากแฮ้งคง” คนเลี้ยงไก่ชนเมื่อก่อนใช้เป็นยาหยอดตาไก่ นิยมปลูกข้างเล้าไก่ เรียก “มะแค้งตาไก่”

มะแว้ง มีอยู่ 2 ชนิด คือ มะแว้งต้น กับ มะแว้งเครือ หรือมะแว้งเถา มะแว้งต้น เป็นต้นคล้ายต้นมะเขือทั่วไป ต้นมะเขือพวง มีขนและหนามแหลมกระจายอยู่ทั่วต้น เป็นไม้พุ่มโปร่ง สูง 1-3 เมตร ลำต้นแข็ง ใบค่อนข้างเป็นรูปไข่ มีขอบหยักเว้าหยาบๆ มีขนคลุมทั่วไปทั้งสองด้าน ส่วนมะแว้งเครือ ต้นเป็นเถาเลื้อย ทุกส่วนมีหนามแหลมโค้งสั้นๆ กระจายอยู่ทั่วไป ใบรูปไข่หรือรูปกลมรี ขอบใบหยักเว้า 2-5 หยัก ผิวใบเรียบมีหนามเล็กๆ บนเส้นกลางใบ มะแว้งต้นดอกสีม่วงอ่อน มะแว้งเครือดอกสีม่วงสด มะแว้งต้นมีผลกลม ผิวเรียบสีขาวอมเขียว ไม่มีลาย มะแว้งเครือผลสีเขียวมีลายตามทางยาว สีของผลเมื่อแก่สุก มะแว้งต้นผลสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม มะแว้งเครือ ผลสุกสีแดง ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ขึ้นได้ง่ายในที่โล่งแจ้ง และที่รกร้าง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE มีประโยชน์ทางอาหาร และประโยชน์ทางยา ผลอ่อนกินเป็นผักร่วมกับน้ำพริกทั้งแบบสดและทำให้สุกโดยการลวกหรือเผาไฟอ่อนๆ ชาวบ้านนิยมกินผลอ่อน แกล้มกับ ตำเตา หรือยำเทา ยำหน่อไม้ มะแว้งเผา กินกับลาบปลา ลาบเนื้อ อร่อยให้รสชาติล้ำลึก ประโยชน์ทางยา เป็นสมุนไพรแก้ไอเจ็บคอได้ดีมาก แนะนำให้นักพูด พิธีกร วิทยากร โฆษก ที่จำเป็นต้องใช้เสียงมากๆ ลองใช้มะแว้งสุกหรือแก่จัด สัก 5-10 ผล อม ขบ กินน้ำมะแว้ง ช่วยให้เสียงดี หมดอาการระคายคอ ไอ เสียงแหบเสียงแห้ง หมดกังวลได้ ลองดูนะพี่น้อง

นอกจากนั้น มะแว้ง ยังช่วยขับปัสสาวะ ขับลม บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับเสมหะ น้ำลายเหนียว ยังพบว่า สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ด้วย แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นๆ ซึ่งใช้มะแว้งเป็นยาได้ทั้งรากและผล

ผลมะแว้งสด 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 59 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 3.3 กรัม แคลเซียม 50 กรัม ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม เหล็ก 1.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1383 IU. วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.10 มิลลิกรัม วิตามินซี 6 มิลลิกรัม ไนอะซิน 8.4 มิลลิกรัม

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อไร จะพบต้นมะแว้งขึ้นอยู่ทั่วไป ถ้าบริเวณนั้นเคยมีต้นมะแว้งมาก่อน โดยเฉพาะมะแว้งต้นยังหาพบได้ง่ายอยู่ แต่มะแว้งเครือหายากมากแล้ว หลายปีก่อนเคยเอามะแว้งเครือมาปลูกเองที่บ้าน ลงดินไว้ เถามันเลื้อยขึ้นรั้วไปหาต้นไม้อื่น ตอนนี้ มันถูกน้ำท่วมขังตาย ไม่มีเหลือทำพันธุ์ กำลังหาต้นใหม่มาปลูก คิดว่าตามสวนสมุนไพรชุมชนต่างๆ คงมีบ้างหรอก จะเสาะหาดูอีกที แต่มะแว้งต้นมีอยู่เยอะ หาง่ายด้วย เดินทางไปเที่ยวที่ไหน พบต้นมะแว้ง ก็เด็ดผลแก่ที่สุกสีส้ม หรือถ้าเจอผลแห้งก็ดีมาก เด็ดใส่ซองกระดาษสัก 2-3 ผล ก็พอ นำมาเพาะได้หลายสิบต้น จะเพาะในกระบะดินก่อน หรือเอาหว่านลงดินเลยก็ได้ อยากจะขุดย้ายไปปลูกตรงนั้นตรงนี้ก็ทำได้ ปลูกง่าย ตายยาก ลูกผลดกมาก ปลูกแล้วสัก 2 เดือน จะเริ่มให้ผล ดินดีก็โตเร็ว ดินเลวก็โตช้า ปลูกทิ้งปลูกขว้าง แต่ก็ขอแนะนำให้ปลูกในที่ ที่มีแสงแดดดี ข้างรั้ว ติดกำแพงบ้าน จะดีไม่เกะกะทางเดินด้วย ติดผลแล้ว เก็บกินได้ทั้งอ่อนเป็นผัก แก่เป็นยา สังเกตจากสีผิวผลจากสีจางๆ ขาว เขียวอ่อน เขียวเข้ม เหลือง ส้ม แดง มีให้เก็บใช้ประโยชน์หลายเดือน หน้าแล้งอาจจะตายเพราะขาดน้ำได้ ดูแลดีๆ อยู่ได้ข้ามปีทีเดียว

ในขณะนี้ มีวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง แปรรูปมะแว้ง เป็นยาสมุนไพร ทั้งแบบผงชงดื่ม แบบเม็ดอม บรรจุซอง จนองค์การเภสัช ก็รับเป็นยาแก้ไอรักษาคนไข้ จะมีการปรุงแต่งเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง นักคิด นักวิจัยก็พยายามช่วยกัน เพื่อดำรงรักษาคุณค่าอันดีงามของมะแว้งไว้ให้เป็นประโยชน์ คู่คนไทยอีกตราบนานเท่านาน