เตือนเกษตรกร ระวังหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ระบาดฤดูฝน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เตือนเกษตรกร เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดช่วงหน้าฝน

นายสมโชค ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท)

นายสมโชค ณ นคร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลายแห่ง ได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเป็นอย่างมาก ขณะนี้ในพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัดภาคกลาง มีการปลูกข้าวโพดในช่วงฤดูฝนแล้ว ประมาณ  317,474  ไร่ ซึ่งมีทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ ข้าวโพดฝักสด และข้าวโพดฝักอ่อน ขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดของหนอนกระทูข้าวโพดลายจุด แต่เพื่อความไม่ประมาท เราต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ลักษณะของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาด 3.2 – 4 เซนติเมตร มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า กลางปีกมีแถบลักษณะเป็นวงรีสีน้ำตาล เพศเมียมีสีและลวดลายจางกว่าเพศผู้ เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มจะมีไข่ประมาณ 100-200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม  เพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4 เซนติเมตร ส่วนบนของหัวมีแถบสีขาวเป็นรูปตัว Y หัวกลับ ส่วนหลังและด้านข้าง มีแถบสีขาวตามยาวลำตัวปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวหนอนจะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยและมีชีวิตอยู่ได้ 10-21 วัน วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน หลังจากการผสมพันธุ์แล้ว

การเข้าทำลาย ตัวหนอนจะทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอด  และใบข้าวโพดแหว่งหรือกัดกินทั้งใบ ช่อดอกตัวผู้ ฝัก เมล็ด ตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบ

หากหนอนทำลายในระยะต้นอ่อนจะทำให้ต้นข้าวโพดตาย ถ้าทำลายในระยะต้นแก่ข้าวโพดจะไม่เจริญเติบโต และถ้าทำลายฝัก ฝักจะลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตลดลง 73%

การป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสามารถทำได้หลายวิธี หากพบการระบาดที่รุนแรงแนะนำให้ใช้สารเคมีในการป้องกำจัด อย่างใดอย่างหนึ่งตามคำแนะนำ สารเคมีที่แนะนำ สารเคมีสำหรับการคลุกเมล็ด กลุ่ม 28 ไซแอนทรานิลิโพรล 20% SC อัตรา 20 มล. ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก.

สำหรับสารเคมีสำหรับการฉีดพ่นทางใบ ได้แก่

– กลุ่ม 5 สารสไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มล. หรือ 25% WG อัตรา 10 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 6 สารอีมาเมกตินเบนโซเอท 5% WG อัตรา 10 กรัม หรือ1.92% EC อัตรา 20 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 13 สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 15 สารลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 30 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 18 + 5 สารเมทอกซีฟีโนไซด์ + สารสไปนีโทแรม 30+6% SCอัตรา 30 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 22 สารอินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มล. ผสมน้ำ 20 ลิตร

– กลุ่ม 28 สารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มล. และ สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 10 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร

กรณีมีการระบาดแต่ไม่รุนแรง สามารถใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดหนอนขนาดเล็ก โดยการฉีดพ่นด้วยสารบีที สายพันธุ์ไอโซไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากิ หรือการใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต หรือมวนพิฆาต ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด

ผอ.สสก. 1 จ.ชัยนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันความเสียหายกับผลผลิตข้าวโพดที่อาจเกิดจากการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จึงขอแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ในทุกระยะการเจริญเติบโต หากพบกลุ่มไข่หรือตัวหนอนให้เก็บทำลายทิ้ง และสำหรับในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ให้ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ และหากพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โปรดแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านโดยด่วน ผอ.สสก.1 จ.ชัยนาท กล่าวในที่สุด