ผู้เขียน | ทวีลาภ การะเกด |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัญหายางพารามีราคาตกต่ำ ถือเป็นปัญหาอภิมหาอมตะที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่เคยแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คงเป็นเฉพาะในปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางพารามีมากขึ้น ไม่ได้ปลูกเพราะในภาคใต้เท่านั้นเหมือนในอดีต การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพาราจึงถือเป็นความจำเป็น โดยมีการยางแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คอยกำกับดูแลและเป็นพี่เลี้ยง
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด เลขที่ 108/1 หมู่ที่ 3 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร คุณชมพูนุช รักษาวัย ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด พร้อมด้วย คุณวิทยา สุวรรณประสิทธิ์ ปลัดอาวุโส ผู้แทนนายอำเภอปะทิว คุณโกญจนาท มายะการ สหกรณ์จังหวัดชุมพร คุณศุภเมธ พรหมวิเศษ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดชุมพร คุณประเทือง สุขปัน ผู้แทนเกษตรจังหวัดชุมพร และ คุณลีรวัตร ไชยชนะ ผู้แทนผู้อำนวยการทางหลวงชนบทจังหวัดชุมพร ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จในการทำเสาหลักนำทางจากยางพารา (Rubber Guide Post)…สรุปได้ว่า สืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และบันทึกข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการผนึกกำลังกัน ในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ลดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
คุณชมพูนุช กล่าวว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา ได้เข้าร่วมโครงการรัฐบาลในการนำยางพารามาผลิตเสาหลักนำทางเพื่อติดตั้งในถนนทางหลวงชนบท ที่ผ่านมาสหกรณ์ผลิตหมอน ที่นอน และอุปกรณ์ต่างๆ จากยางพาราด้วยงบฯ ของโครงการไทยยั่งยืนที่มีสหกรณ์จังหวัดชุมพรสนับสนุนและส่งเสริม ซึ่งเป็นสิ่งของที่มีความนิ่ม ขณะนี้สหกรณ์ได้มีการก้าวข้ามมาผลิตวัสดุที่มีความแข็งคือเสาหลักนำทาง ซึ่งมี คุณสุรศักดิ์ เทพทอง อาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นเจ้าของสูตรการผลิต จนผ่านขั้นตอนมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบท โดยได้รับการสนับสนุนจาก 7 หน่วยงานคือ กยท. สหกรณ์จังหวัดชุมพร เกษตรจังหวัดชุมพร แขวงทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง และฝ่ายปกครองของอำเภอปะทิว นอกจากนั้น ยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ให้สหกรณ์กู้เงิน เสาหลักนำทางที่สหกรณ์ผลิตขึ้นมาครั้งนี้ถือเป็นเสาหลักนำทางจากยางพาราเสาแรกของชุมพร
คุณวิทยา กล่าวว่า นอกจากเสาหลักนำทางจากยางพาราจะช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางการจราจรแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์จากยางพารา ทำให้ชาวสวนยางมีโอกาสในการทำราคาของยางพาราสูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมายางพารามักมีปัญหาราคาตกต่ำอยู่เสมอ ในฐานะฝ่ายปกครองก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ ส่วน นายโกญจนาท ก็กล่าวว่า สหกรณ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เริ่มแรกมีการรวบรวมน้ำยางพาราจากสมาชิกมาจำหน่าย ต่อมามีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมอน ที่นอน ฯลฯ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา มีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ อย่างประเทศจีน และขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคมได้จัดโครงการการทำเสาหลักนำทางและแท่งแบริเออร์จากยางพารา และสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาก็ได้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับมอบหมายให้ทำเสาหลักนำทางจากยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
คุณศุภเมธ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาได้มีโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อชาวไทยทั้งประเทศ เสาหลักนำทางจากยางพาราเป็นหนึ่งโครงการในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถนำน้ำยางพารามาผลิตเป็นวัสดุที่มีความแข็ง แต่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ด้าน คุณประเทือง ก็กล่าวว่า เกษตรจังหวัดชุมพรได้มีการขับเคลื่อนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ มีแปลงใหญ่ที่เป็นสวนยางพารา 12 แปลง พื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 600 ราย ซึ่งสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และมีรายงานว่าได้รับมอบหมายให้ทำเสาหลักนำทางจากยางพาราและมีตลาดที่แน่นอน แต่หากเงินทุนยังไม่พอ ก็มีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 สตางค์ ที่สามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
คุณลีรวัตร กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทมีโครงการที่เกี่ยวกับยางพารา 2 ส่วน คือ การทำเสาหลักนำทาง และการทำแผ่นยางหุ้มแท่งแบริเออร์คอนกรีต ซึ่งในส่วนของการทำเสาหลักนำทางจากยางพารา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ปี 2563 จะใช้เสาหลักนำทางจากยางพาราจำนวน 3,500 ต้น ปี 2564 จำนวน 3,450 ต้น และปี 2565 จำนวน 5,500 ต้น รวมทั้ง 3 ปีประมาณ 15,000 ต้น แต่ในส่วนของแบริเออร์นั้นยังไม่มีในชุมพร ส่วนมูลค่าของเสาหลักนำทางจากยางพารายังไม่มีราคากลางออกมา แต่คาดว่าคงอยู่ที่ต้นละ 2,000-3,000 บาท
คุณชมพูนุช กล่าวว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา สามารถผลิตเสาหลักนำทางจากยางพาราได้วันละประมาณ 200 ต้น ขนาดของเสาหลักนำทางแต่ละต้นคือ กว้างเท่ากัน 4 ด้าน ด้านละ 25 เซนติเมตร ยาว 140 เซนติเมตร ส่วนที่ฝังลงไปในดิน 60 เซนติเมตร และส่วนที่โผล่พ้นดิน 80 เซนติเมตร เสาแต่ละต้นมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ในการผลิตจะมีการตรวจสอบมาตรฐานทั้งในเรื่องการบ่ม การหดตัวยืดตัว ความหนาแน่น รวมทั้งการใช้สารทนไฟ และคาดว่าหากสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาสามารถผลิตเสาหลักนำทางจากยางพาราได้ครบตามจำนวน คงมีเงินเข้าสู่สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาท และสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในภาคใต้มี 3 จังหวัดเท่านั้น คือ ภาคใต้ตอนบนที่จังหวัดชุมพร ภาคใต้ตอนกลางที่จังหวัดพัทลุง และภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดสงขลา
แม้ว่าต้นทุนในการผลิตเสาหลักนำทางจะสูงกว่าเสาหลักนำทางที่ทำจากปูนซีเมนต์ แต่เสาหลักนำทางจากยางพาราถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คงสามารถลดความสูญเสียในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่รถยนต์ในยามประสบอุบัติเหตุได้เป็นอย่างมาก และหากมีการสนับสนุนโครงการนำยางพารามาผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมได้อย่างยั่งยืน ก็คงเป็นอีกส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหายางพารามีราคาตกต่ำด้วย
………………………..
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ – 15 ก.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่