ชายวัยเกษียณฉะเชิงเทรา พลิกที่ดินรกร้าง เพาะพันธุ์หนูพุก ควบคู่เกษตรผสมผสาน มีรายได้ดี

หนูพุกปัจจุบันได้มีการเลี้ยงเพื่อเป็นการค้ามากขึ้น เพราะในธรรมชาตินับวันเริ่มมีน้อยเต็มที อันเกิดมาจากการขยายของเมืองใหญ่ และการทำเกษตรที่พึ่งสารเคมี ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย จึงทำให้จำนวนหนูพุกในธรรมชาติ เริ่มมีปริมาณที่น้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้นิยมกิน ส่งผลให้มีเกษตรกรหลายรายเริ่มเห็นช่องทางการทำตลาดเพาะพันธุ์หนูนาสร้างรายได้

คุณเดชา ศรีโกศักดิ์

โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านผู้ใหญ่โทน ตั้งอยู่ที่ตำบลหนามแดง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณเดชา ศรีโกศักดิ์ เป็นเจ้าของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ ในผืนดินพระราชทานพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน โดย ส.ป.ก. ได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเช่าทำกิน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1, 2 และ 3 เนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,251 ไร่

ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นผู้ครอบครองเดิมทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรและอยู่อาศัย ปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 267 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,123 ไร่ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการเพาะเลี้ยงหนูพุก เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกตลาดต่างประเทศ มีการเลี้ยงกบคอนโดฯ  และทำการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้งยังมีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับวิถีการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนในชุมชนและบุคคลทั่วไป

หนูไซซ์พ่อแม่พันธุ์

คุณเดชา หรือ ผู้ใหญ่โทน เล่าให้ฟังว่า ที่ดินที่ก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และมีการสืบทอดมาตามสายเลือดเพื่อทำนา และเมื่อส่งต่อมาถึงรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของผู้ใหญ่ เมื่อท่านทั้ง 2 แก่ชราจนไม่สามารถทำได้แล้ว ได้ปล่อยที่ดินรกร้างกว่า 30 ปี ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็อาจจะถูกยึดที่ดินคืน ตนเองจึงได้ฟื้นฟูที่ดินพระราชทาน 16 ไร่เศษ มา 10 กว่าปีแล้ว ทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว กะท้อน มะม่วง แต่ที่ประสบความสำเร็จคือ การปลูกมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร พันธุ์ทูลเกล้า และทำกิ่งพันธุ์ขาย โดยไม่ใช้สารเคมี

“ช่วงแรกๆ พอเราเห็นพื้นที่ว่ามันรกร้าง ก็ค่อยๆ มาทำการสร้างให้เป็นสวนเกษตร และพัฒนาขยับขยายไปเรื่อยๆ จนเป็นสวนผสมผสานเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่ที่เด่นของที่นี่ก็จะเป็นในเรื่องของการเพาะพันธุ์หนูพุก เป็นเหมือนต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้มาทำการศึกษา และสร้างเป็นรายได้เสริมที่ดี” ผู้ใหญ่โทน เล่าถึงความเป็นมา

พื้นที่ภายในฟาร์ม

โดยการเลี้ยงหนูพุกจะใช้วิธีง่ายๆ ใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไป โดยบ่อที่ใช้เลี้ยงใช้บ่อซีเมนต์ตั้งขึ้นซ้อนกันให้สูงขึ้นไปประมาณ 2-3 ชั้น ซึ่งตอนนี้มีบ่อเลี้ยงอยู่มากถึง 400 หลุม

ซึ่งการเลี้ยงส่วนใหญ่จะเน้นนำพ่อแม่พันธุ์มาผสมพันธุ์กันให้อยู่ในวงบ่อ เลี้ยงอัตราส่วนพ่อแม่พันธุ์ 1 ต่อ 1

เมื่อเลี้ยงลูกหนูจนโตได้อายุตั้งแต่ 3-4 เดือนขึ้นไป ก็จะนำหนูที่โตเต็มที่ดีแล้วมาคัดเพื่อจำหน่ายเป็นพันธุ์หนูพุกพันธุ์ดี จำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับผู้ที่สนใจหรือเพื่อนเกษตรกรด้วยกันที่ต้องการจำหน่ายเพื่อเสริมรายได้

ภายในบ่อที่หนูอยู่

สำหรับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงแบบครบวงจร ทางผู้ใหญ่โทนมีการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหนูพุกให้เกษตรกรแบบมีอุปกรณ์แบบครบวงจร โดยลงทุนครั้งเดียวสามารถสร้างรายได้ทันที เช่น ซื้อพ่อแม่พันธุ์ 10 คู่ ในราคา 8,000 บาท และค่าวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ รวมราคาไม่เกิน 1,500 บาท ลงทุนเกือบ 10,000 บาท แต่สามารถเกิดรายได้ระยะยาวจากการเลี้ยงหนูพุก

ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายเลี้ยงหนูพุกมากกว่า 30 ฟาร์ม และได้มีทำเอ็มโอยูส่งออกหนูพุกไปยังตลาดเวียดนาม แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกต้องหยุดชะงักไปสักระยะหนึ่ง

หมั่นทำความสะอาด

“คนที่อยากทำกินแต่ไม่มีที่ทำกิน คนที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่ทำกิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงตรัสได้ถูกต้องว่า เกษตรกรไม่รวย แต่ไม่อด ได้ตัดสินใจเลี้ยงหนูพุก ทั้งที่ยังไม่มีตลาด เริ่มจาก 60 คู่ ขยายพันธุ์ และขายด้วย เพราะใช่พื้นที่ไม่เยอะแค่ 1 งานกว่าๆ ต้นทุนลงทุนครั้งเดียว และตีกินยาว พื้นที่ที่เหลือทำเกษตรผสมผสาน สามารถเก็บกินและขายได้ ผมต้องการใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของที่ดินพระราชทาน ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และในอนาคตจะมีโครงการปลูกป่า ผมจะไม่ให้ที่ดินว่าง เพราะเรามีที่ทำกิน เราต้องทำกิน” ผู้ใหญ่โทน บอก

สำหรับท่านใดหรือหน่วยงานต่างๆ สนใจในเรื่องของการเพาะพันธุ์หนูพุก พร้อมกับการทำเกษตรผสมผสาน สามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงานได้ที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านผู้ใหญ่โทน หมายเลขโทรศัพท์ (089) 806-6104

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563