ทำฟาร์มชินชิลล่า สัตว์ขนนุ่ม เอาใจ คนชอบขน

สัตว์เลี้ยงน่ารักในตระกูลฟันแทะมีหลายชนิด แต่ที่อยากให้เห็นและสัมผัส สัตว์ในตระกูลฟันแทะที่ผนวกความน่ารักของกระต่าย หนู และกระรอก ไว้ด้วยกัน โดดเด่นที่สุดตรง “ขน” ที่มีความอ่อนนุ่มลื่น ราวกับปุยนุ่น เพลิดเพลินทุกครั้งที่สัมผัส ประกอบกับความเฉลียวฉลาดที่ไม่คาดคิดว่าจะพบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ สัตว์เลี้ยงน่ารักนั้นคือ “ชินชิลล่า”

ชินชิลล่า (Chinchil-la) มีถิ่นกำเนิดในเทือกเขา Andes ในอเมริกาใต้ แถบประเทศอาร์เจนตินา โบลิเวีย ชิลี และเปรู เป็นสัตว์ฟันแทะที่มีหูกางใหญ่คล้ายหนู ขนาดรูปร่างคล้ายกระต่าย ขนแน่นและหนา มีไว้ป้องกันตัวเองจากอากาศหนาวเย็นบนเทือกเขาสูง อุ้งเท้าออกแบบมาเพื่อการเดินบนแผ่นหิน มีหลายสี หางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก

ขนที่แน่น หนา ยังมีความนุ่มมาก ทำให้หลายคนให้คำนิยาม ชินชิลล่า ว่าเป็นสัตว์ขนนุ่มที่สุดในโลก

ฟาร์มชินชิลล่าที่มีจำนวนชินชิลล่ามาก และได้รับการยอมรับจากคนรักชินชิลล่ามากที่สุดแห่งหนึ่งคือ ฟาร์มแฟรี่ชิน ตั้งอยู่ย่านพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งมี คุณพิชชุดา สวัสดิสุข หรือ คุณเชอรี่ เป็นเจ้าของ

แรกเริ่มของแฟรี่ชินแห่งนี้ เกิดจากความรักสัตว์ในกลุ่มฟันแทะของ คุณพิชชุดา จากการเลี้ยงแฮมสเตอร์ กระทั่งไปพบชินชิลล่าในร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่ง การได้ลองอุ้ม ลูบขน ทำให้คุณพิชชุดาหลงรัก แต่ขณะนั้นชินชิลล่าเพิ่งเข้ามาประเทศไทยในระยะแรก ทำให้ราคาซื้อขายค่อนข้างแพง ประกอบกับข้อมูลที่ได้รับมาว่า การเลี้ยงชินชิลล่า ซึ่งเป็นสัตว์ขนหนาและแน่น ต้องเลี้ยงในห้องปรับอากาศตลอดเวลา ทำให้คุณพิชชุดาต้องชะลอการเลี้ยงออกไป

เพราะความรักสัตว์ชนิดนี้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นศึกษาความรู้ และสั่งสมประสบการณ์การผู้เลี้ยงในต่างประเทศ ทำให้ตลอด 2 ปี ของการเตรียมความพร้อมสำหรับชินชิลล่า ทำให้รู้ว่าชินชิลล่าไม่ใช่สัตว์ฟันแทะที่ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศตลอดเวลา แต่ที่อยู่อาศัยต้องอยู่ในที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่อับชื้น มีลมผ่าน และการดูแลไม่ยากอย่างที่คิด

“ชินชิลล่า เป็นสัตว์ฟันแทะที่มีความน่ารัก ฉลาด จดจำเจ้าของและชื่อของตัวเองได้ เมื่อเรียกชื่อก็มาเช่นเดียวกับสุนัข รักสะอาด ขับถ่ายเป็นที่เมื่อได้รับการฝึกที่ดี กินอาหารและน้ำน้อย การดูแลง่าย แต่สิ่งที่ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจในชินชิลล่าคือ อายุขัยของชินชิลล่ายาวนานกว่าสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น สามารถอยู่ได้นานถึง 15 ปี ดังนั้น ต้องเป็นผู้ที่สนใจและรักในชินชิลล่าจริง จึงเหมาะที่จะเลี้ยง”

เมื่อโตเต็มวัย อายุ 7 เดือน สามารถผสมพันธุ์ได้ คุณพิชชุดา จึงมองหาชินชิลล่าเพศเมียมาผสม แต่ชินชิลล่าที่ซื้อมาเพิ่มกลับติดเชื้อมาจากแหล่งขาย และตายในวันถัดมา คุณพิชชุดาจึงตั้งใจว่าจะหาแหล่งเพาะพันธุ์ชินชิลล่าคุณภาพดี เพื่อเลือกชินชิลล่าเพศเมียมาผสมให้กับชินชิลล่าเพศผู้ที่มีอยู่ เมื่อได้ตามต้องการ ไม่นานนักก็ได้ชินชิลล่าเพศเมียก็คลอดลูก เป็นชินชิลล่าน้อย 2 ตัว

ชินชิลล่า เป็นสัตว์ที่มีสีหลายสี สีหลักที่นิยม มีจำนวน 7 สี และสีผสมที่แบ่งเป็นเฉดสีย่อยๆ อีกหลายสี ทำให้คุณพิชชุดา ตั้งใจเลี้ยงชินชิลล่าให้ครบตามสีหลัก จึงมองหาชินชิลล่าสีที่ยังไม่มีมาผสมกับชินชิลล่ารุ่นลูก เพื่อให้ได้สีครบตามตั้งใจ ซึ่งความตั้งใจนี้ทำให้คุณพิชชุดากลายเป็นแหล่งรวบรวมชินชิลล่าสีหลัก และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มแฟรี่ชิน และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงคนเลี้ยงชินชิลล่า

นับจากวันแรกเริ่มเลี้ยงชินชิลล่าถึงปัจจุบัน ราว 10 ปี คุณพิชชุดา มีชินชิลล่าครบทุกสี และยังเป็นผู้นำเข้าชินชิลล่าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ปีละประมาณ 150 ตัว ซึ่งจากเดิมที่เคยมองว่า ตลาดคนรักและต้องการเลี้ยงชินชิลล่าในประเทศไทยมีน้อย ต้องเปลี่ยนไป เพราะทุกครั้งที่นำเข้าชินชิลล่าจากต่างประเทศ แทบไม่เหลือชินชิลล่าในแต่ละครั้งไว้ให้คุณพิชชุดาได้เป็นเจ้าของเอง เพราะความนิยมเลี้ยงชินชิลล่าในประเทศไทยกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยตกลงเลย

5 ปีแรกของการทำฟาร์มแฟรี่ชิน ยังเป็นฟาร์มเล็กๆ ที่เพาะลูกชินชิลล่าขายทางอินเตอร์เน็ต คุณพิชชุดา บอกว่า การขายชินชิลล่าไม่ได้มุ่งหวังในเชิงพาณิชย์ แต่เห็นว่ามีกลุ่มคนรักและต้องการเลี้ยงชินชิลล่าอีกมาก ซึ่งเธอไม่ต้องการให้มีคนรักชินชิลล่าถูกหลอก ได้ชินชิลล่าคุณภาพไม่ดีไปเลี้ยง ประกอบกับต้องการเผยแพร่ความเข้าใจในการเลี้ยงชินชิลล่าให้กว้างขวาง จึงออกงานเพ็ท เอ็กซ์โป (Pet Expo) ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ในครั้งนั้นนำชินชิลล่าไปโชว์และให้ความรู้กับผู้ชม ไม่ขาย แต่กลับได้รับการตอบรับเป็นยอดจองลูกชินชิลล่ามามากมาย

“ในต่างประเทศ มีฟาร์มเพาะเลี้ยงชินชิลล่าอยู่ 2 ประเภท คือเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงเพื่อจำหน่ายขน เนื่องจากขนของชินชิลล่าได้ชื่อว่ามีความนุ่มที่สุดในโลก ทำให้ความต้องการขน เพื่อนำไปทอเป็นเครื่องแต่งกายมีจำนวนมาก ซึ่งในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นฟาร์มที่เพาะเลี้ยงเพื่อขายขน แต่ชินชิลล่าเป็นสัตว์ฟันแทะตัวเล็ก เมื่อต้องการขนจะฆ่าทิ้งและถลกหนังทั้งตัวไป”

เนื่องจากชินชิลล่ามีหลายสี และมีความโดดเด่นในแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ทำให้ราคาขายในตลาดชินชิลล่าทั่วไปยังไม่นิ่ง แต่สำหรับฟาร์มแฟรี่ชินมีราคาชินชิลล่าให้เลือก ตั้งแต่ 7,000-15,000 บาท สำหรับลูกชินชิลล่าที่คลอดในประเทศ ปัจจุบันสีที่นิยม ได้แก่ สีขาวหูชมพู สีดำสนิท นอกจากนี้ ยังมีสีที่ได้รับความนิยมและราคาแพงมากขณะนี้คือ สีบลูไดมอนด์ ที่สนนราคาหากผสมและคลอดในประเทศ อยู่ที่ 50,000 บาท หากเป็นลูกนอกสั่งนำเข้า สนนราคาซื้อขายอยู่ที่ ตัวละ 80,000 บาท

ต้องการชมความน่ารักของชินชิลล่าที่ฟาร์มแฟรี่ชิน เจ้าของฟาร์มบอกว่า ไม่หวง แต่ขอให้เป็นผู้ที่รักชินชิลล่าจริง และพร้อมเปิดฟาร์มให้ชมความน่ารัก โดยติดต่อมาที่ ฟาร์มแฟรี่ชิน โทรศัพท์ (087) 154-6999