ปฏิบัติการพิทักษ์… แร้งดำหิมาลัย ‘สกาย’ KU502 Tracking Sky Fly Away Home

10 ปีก่อน การตายของ ”อนาคิน ” ด้วยกระสุนปืนที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา หลังจากที่ได้รับการฟูมฟักรักษาตัวเป็นอย่างดี และปล่อยกลับคืนสู่บ้านเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 นำความโศกเศร้ามาให้กับผู้ที่ทราบข่าว

ครั้งนั้นเป็นข่าวดังในระดับโลก เพราะอนาคินเป็นแร้งดำหิมาลัย ปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต เท่าที่มีรายงานพบว่าทั่วโลกเหลือไม่เกิน 21,000 ตัว

ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้พบแร้งดำหิมาลัย นอกจากจะมีผู้ที่พบว่ามันหมดแรง และนำส่งมาให้ทางหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา มีชาวบ้านพบแร้งดำหิมาลัย วัยเด็กเพศผู้ (ฟักจากไข่ในปี 2559 อพยพจากถิ่นกำเนิดในเดือนตุลาคม 2559) น้ำหนัก 6.2 กก. หมดแรงตกอยู่ในทุ่งนาที่ ต.หนองบัวสะอาด อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ซึ่งรับมอบเจ้านกโชคร้ายตัวนั้นจึงนำมาส่งฟื้นฟูสุขภาพที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ เราตรวจเลือด เช็กสุขภาพแล้ว พบว่ามันอยู่ในภาวะขาดอาหาร เพราะในธรรมชาติแร้งหิมาลัยจะทำรังที่จีน มองโกล และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีเหลือไม่เกิน 21,000 ตัว ”

นอกจากเราจะช่วยนก ในฐานะที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เราน่าจะได้ประโยชน์ในแง่ปักษีวิทยา เพราะปัจจุบันเรายังตอบไม่ได้ว่ามันอพยพมาจากที่ใดกันแน่

นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี และหัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ม.เกษตรศาสตร์ บอกถึงความตั้งใจที่จะติดอุปกรณ์ติดตามด้วยสัญญาณดาวเทียม หลังจากที่ครั้งแรกเคยติดไว้ที่หลังของ “ อนาคิน” แต่ก็อยู่ได้เพียง 3 สัปดาห์ก่อนจะถูกยิง

นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นี่จึงเป็นอีกโอกาสอันดี และเป็นที่มาของโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ติดตามตัวด้วยสัญญาณดาวเทียม/โทรศัพท์ เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพของแร้งดำหิมาลัย ชื่อ สกาย รหัส KU502 จึงเกิดขึ้นโดยที่ “ สกาย” หรือ ”สกายวอล์กเกอร์” ก็คือชื่อของแร้งวัยละอ่อนนี้ ที่รอวันจะคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง

ที่เห็นขาวๆ กลางหลังนกคือเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม

ทำไมต้อง ’แร้งดำหิมาลัย ’
”แร้งดำหิมาลัย” ถือเป็นนกที่ใหญ่ที่สุด มักพบในไทยช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่แร้งอพยพ ที่สำคัญคือ ไม่เพียงแต่เป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ยังเป็นสัตว์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันในความเป็นจริง ไม่เพียงแร้งดำหิมาลัย หรือแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นแร้ง 2 ชนิดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ กับแร้งธรรมดา ซึ่งเป็นสัตว์ล่าเหยื่อประจำถิ่น 3 ชนิด คือ แร้งสีน้ำตาล แร้งเทาหลังขาว และพญาแร้ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน นสพ.ไชยยันต์ยืนยันว่า จากการสำรวจวิจัยภาคสนามในไทยไม่มีรายงานการพบเห็นเลย คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

พญาแร้ง ในอดีตเคยมีในไทย ปัจจุบันน่าจะสูญพันธุ์แล้ว

พญาแร้ง ในอดีตเคยมีในไทย ปัจจุบันน่าจะสูญพันธุ์แล้ว
เหตุผลประการหนึ่งเป็นเพราะ ”แร้ง” เป็นสัตว์ที่กินอาหารคือ ซากสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อมีสัตว์ตาย เช่น วัวควายจะมีการกำจัดซากทิ้ง ทำให้แร้งไม่มีอาหาร และอีกประการคือ ความเชื่อที่ว่า แร้งเป็นสัตว์อัปมงคล “เห็นแร้งเท่ากับเห็นความตาย” ทำให้เมื่อพบเห็นแร้งมักจะถูกไล่

สาเหตุอีกประการคือ ถูกยาเบื่อโดยน้ำมือของพรานล่าสัตว์ที่ต้องการล่าสัตว์ใหญ่ จึงใส่ยาเบื่อลงในเหยื่อเช่นซากกวาง แต่ตัวที่ตายก่อนกลับเป็นแร้ง

สำหรับแร้งดำหิมาลัยและแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จะพบในประเทศไทยในฤดูอพยพ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป โดยอาศัยลมหนาวพยุงตัวร่อนผ่านมา เนื่องจากแร้งดำหิมาลัยมีน้ำหนักอย่างน้อย 6-12 กก. นับเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ความยาวปีกถึง 3 เมตร จะพบเพียง 2-3 ปี ต่อ 1 ตัวเท่านั้น ส่วนแร้งสีน้ำตาลความยาวปีก 2.8 เมตร มีรายงานพบ 10-30 ตัวในแต่ละปี

ด้วยปัจจัยที่ไม่ค่อยมีอาหาร (ซากสัตว์) ประกอบกับระยะทางที่ยาวไกล เมื่อถึงฤดูอพยพ บ่อยครั้งจึงมีการพบแร้งหมดแรงลงในพื้นที่ของชาวบ้าน ถ้าคนที่พบเห็นเข้าใจนำมาให้กับเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลช่วยเหลือ มันก็จะสามารถรอดชีวิตได้

นสพ.ไชยยันต์เล่าต่อไปว่า โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็มีแร้งดำหิมาลัย ที่ตั้งชื่อ “อนาคิน” เป็นตัวจุดประกาย

“ เนื่องจากอีแร้ง รวมทั้งเหยี่ยวและนกอินทรี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง 2535 เราจึงขออนุญาตทำโครงการ โดยตอนที่ปล่อยอนาคินได้ติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม แต่ติดไป 3 สัปดาห์แล้วไปถูกยิงที่รัฐฉาน ”
หลังจากนั้นโครงการฟื้นฟูยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือนกล่าเหยื่ออย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

นกอินทรีหัวไหล่ขาว KU500 ปล่อยในทุ่งนาหลังจากฟื้นฟูสุขภาพเพราะขาดอาหาร

ปัจจุบันช่วยเหลือนกล่าเหยื่อไปแล้วทั้งสิ้น 520 ตัว ทั้งนกอินทรี เหยี่ยว แร้ง นกเค้าแมว โดยปล่อยไป 50% บางตัวพิการเราก็เลี้ยงไว้เป็นอาจารย์ใหญ่สอนนิสิตสัตวแพทย์ ขณะที่แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยเราช่วยเหลือไปแล้ว 24 ตัว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดย “ สกายวอล์กเกอร์ ” รหัส KU 52 เป็นแร้งดำหิมาลัยตัวที่ 2 ที่รับเข้ามาช่วยเหลือในหน่วยฟื้นฟู

“ เราจึงคิดว่า นอกจากจะช่วยเขา เราน่าจะได้ประโยชน์ในแง่ขององค์ความรู้ทางด้านปักษีวิทยา เพราะปัจจุบันเรายังตอบไม่ได้แน่ว่าแร้งดำหิมาลัยอพยพมาจากถิ่นใดกันแน่ จีน มองโกล หรือเทือกเขาหิมาลัย (เนปาล ภูฏาน หรือทิเบต) ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการติดตามตัวสัตว์ป่าโดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม โดยจะส่งสัญญาณเป็นพิกัดว่า ณ วันนี้ เวลานี้ นกตัวที่ติดสัญญาณบินอยู่ที่ใด ”

นกแสก อีกนกล่าเหยื่อ อยู่ในสัตว์คุ้มครอง

แต่เนื่องจากตัวเครื่องราคาค่อนข้างสูง เราจึงตั้งโครงการชื่อว่า ”Tracking Sky Fly Away Home ” เป็นความตั้งใจจะรณรงค์ว่าถ้าใครเห็นความสำคัญในการศึกษาเส้นทางอพยพแร้งดำหิมาลัย สามารถช่วยสนับสนุนตามกำลังศรัทธา ซึ่งเรากำหนดว่าจะปล่อยในช่วงสิ้นเดือนเมษายน ที่ดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“เครื่องตัวนี้ใช้สัญญาณดาวเทียมอาร์กอส ผลิตในสหรัฐอเมริกา ราคา 2 แสนบาท แต่เราเพิ่งมาทราบว่าปัจจุบันเกาหลีผลิตเครื่องส่งสัญญาณ แต่ใช้สัญญาณมือถือจะราคาถูกลง ประมาณ 1,600 เหรียญสหรัฐ ทำงานด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ทำงานได้นานอย่างน้อย 1 ปี เราจะได้ข้อมูลทั้งในส่วนเส้นทางอพยพ ของระยะทางในการเดินทางแต่ละวัน ถิ่นอาศัยแบบใดสำคัญต่อนก เป็นต้น ”
ทั้งนี้ สามารถบริจาคด้วยการโอนเงินโดยตรงเข้าบัญชี กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ (Raptor Fund) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขา ม.เกษตรศาสตร์ บัญชีเลขที่ #374-1-67289-9 แล้วส่งสำเนาการโอนเงิน/ระบุวัตถุประสงค์การบริจาค ที่อีเมล์ [email protected] โทร 08-6332-8117หรือบริจาคผ่านเว็บที่ https://generosity.com/animal-pet-fundraising/tracking-sky-fly-away-home

ไซเบอร์อันตราย ชี้ช่องนักล่านก
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารเชื่อมคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน ในแง่หนึ่งอาจเป็นเรื่องดี แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องของขบวนการล่านก รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ นี่คืออีกช่องทางของมิจฉาชีพเช่นกัน

”บางคนบอกว่ารักสัตว์ จับไปเลี้ยง พอเบื่อก็ขายในเฟซบุ๊ก มีพบเป็นจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มซื้อขายสัตว์แปลก และมีกลุ่มที่ล่าเพื่อโอ้อวด ปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง”

นสพ.ไชยยันต์บอก และว่า ความพยายามในการรณรงค์ให้ความรู้ถึงความไม่ควรซื้อขายหรือล่าสัตว์ป่ามาเป็นสิบปีนั้น ในคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่ามากขึ้น

“แต่การรณรงค์นี้ไม่ได้ไปลดปัญหาที่มีอยู่แล้ว แต่อาจสร้างคนรุ่นใหม่ที่รู้เข้าใจเรา แต่สื่อโซเชียลกลับทำให้อีกกลุ่มหนึ่งเติบโตเร็วกว่าที่เราเคยคิดมาก อย่างเฟซบุ๊กชัดเจนมาก ในอดีตปัญหาอาจจะรุนแรง เราอาจไม่รู้ไม่เห็น แต่พอมีเฟซบุ๊ก ทำให้เราเห็นว่าสเกลซื้อขายสัตว์ป่าใหญ่มาก ปัจจุบันจะเห็นว่าคนที่เอาสัตว์ป่า นกเหยี่ยว อายุน้อยลงเรื่อยๆ ในกลุ่ม 18-25 ปี เพราะสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงพ่อค้าคนกลางได้ง่าย ”

“ที่น่าห่วงคือ เรื่องการล่า อย่างกลุ่มเดินป่า กลุ่มถ่ายภาพนก จะเอารูปนกมาอวดในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าในกลุ่มนั้นมีฐานคนเป็นหมื่นคน กลายเป็นเบาะแสแก่มิจฉาชีพ เราจึงต้องย้ำว่า ถ้ามีคนถามอย่าบอกพิกัดที่พบนกอย่างละเอียด ”

นสพ.ภัทรพงศ์ จักรทอง ประจำหน่วยฟื้นฟู ซึ่งดูแล “สกาย” ตั้งแต่แรกรับเข้ามาที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ เล่าว่า ”สกาย” นั้นสภาพตอนที่รับมาผอม อ่อนแรง เพราะขาดอาหารมานาน

“อีแร้งส่วนใหญ่ที่อพยพมาหวังจะมาหากินซาก (อาหาร) ในเขตอบอุ่น ส่วนมากเป็นนกเด็ก ส่วนนกตัวเต็มวัยแข็งแรงสามารถแย่งชิงอาหารกับนกตัวอื่นได้จะไม่บินมาหาอาหารไกลถึงที่นี่ เนื่องจากบ้านเราการจัดการซากสัตว์ดีขึ้น ฉะนั้นนกพวกนี้ก็จะหากินลำบาก นี่เป็นเหตุผลหลักที่เขาผอม ไม่มีแรง อาจจะพบเห็นว่าเดินตามท้องทุ่งหรือตามป่า ถ้าชาวบ้านเห็นแล้วอยากช่วยเหลือก็จะติดต่อมาที่กรมอุทยานฯ”

นสพ.ภัทรพงศ์ จักรทอง

ในเคสที่ถูกยิงก็มี เช่น นกแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่พบที่ จ.พิจิตร ถูกยิงที่หน้าอก พอดีว่ามีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯไปเจอพอดี จึงนำมารักษาที่นี่ ปัจจุบันปล่อยกลับไปแล้ว

สำหรับ ”สกาย ” ตอนนี้ฟื้นฟูมา 2 เดือนกว่าแล้ว โดยเมื่อแรกจะรับมาฟื้นฟูที่สัตว์ป่วยใน มาให้น้ำเกลือ ฉีดวิตามินบำรุง และฟีดอาหารให้กินเต็มที่เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นจะเอาไปฝึกบินที่กรงฝึกบินใหญ่เพื่อให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและปีก ให้บินได้ไกลขึ้น ตอนนี้สามารถบินขึ้นคอนสูงได้แล้ว สภาพพร้อมในการปล่อย ระหว่างนี้จะมีการเช็กสุขภาพ เช็กค่าเลือดว่ามีความสมบูรณ์ของเลือดแค่ไหน มีโรคหรือเปล่า โดยเฉพาะไข้หวัดนกและโรคนิวคาสเซิล ซึ่งสำคัญมากในสัตว์ปีก เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดจากโรคเหล่านี้จริงๆ

ดูหน้ากันชัดๆ หนุ่มน้อย “สกาย” วัย 1 ปีเศษ

”จริงๆ นกเหล่านี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าใครพบเจอว่าถูกขายตามตลาดนัดค้าสัตว์ป่า สามารถแจ้งที่กรมอุทยานฯ หรือถ้าเจอนกที่บาดเจ็บแจ้งมาที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ ม.เกษตรฯ หรือที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ผิดกฎหมาย”

นกเหล่านี้เป็นนกหากินตามธรรมชาติ และช่วยควบคุมระบบนิเวศในธรรมชาติ มันมีความดุร้ายอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการเลี้ยงที่ผิดธรรมชาติ ให้กินเนื้อหมู ไม่มีการเสริมแคลเซียมอาจทำให้นกป่วย ซึ่งบางครั้งทำให้เขาป่วยตายได้ จะให้ดีอย่าซื้อมาเลี้ยงเป็นดีที่สุด

ที่มา มติชนรายวัน ผู้เขียน พนิดา สงวนเสรีวานิช