จันทร์กระจ่างฟ้า ปลูกบ้านใดจะได้วาสนาสูงส่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pentalinon luteum (L.) Mandevilla   sp.

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

ชื่อสามัญ Hammock ; Yellow dipladenia ; Wild allamanda

ก่อนอื่นหนูต้องกราบขออภัยทุกท่าน เพราะอารมณ์เก็บกดความรู้สึกน้อยใจ เท่าๆ กับว่ามีความภาคภูมิใจในความงามของตัวเอง และชื่อที่ฟังดูแล้วทำให้ “ฟ้าแจ่มใส” เพราะ “จันทร์” ที่ “กระจ่าง” แปลกที่ชื่อของหนู ถูกนำไปจินตนาการเปรียบเทียบมากมาย ทั้งด้านลบและบวก โดยเฉพาะคำที่เป็น “ดวงจันทร์” นั้นจะอยู่ในบทเพลง กลอน วรรณกรรม เปรียบสตรีงามจนน่าหลงตัวเอง ทำให้นักวิชาการไม่สนใจหนูในเชิงพฤกษศาสตร์ หรือด้านสมุนไพรเท่าที่ควร มีข้อมูลที่เผยแพร่เพียงปลูกไว้เป็น “ไม้ประดับ” ซุ้มประตู หรือว่า…เพลินสวยจนลืมศึกษา

หนูน้อยใจอยู่อีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อหนูเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ “Fullmoon Party” เทศกาลชุมนุม Wanna be-Indy-TIST-Hipster และ Gypsy หนูตกใจในข่าวว่า Fullmoon party ที่หาดริ้น เกาะพงัน มี “โอสถลวงจิต” จาก “เห็ดขี้ควาย” บริโภค และมีการดื่มกิน ดิ้นกันสุดเหวี่ยงเลย แหม..! หนูคิดว่าเขาจะเปิดเพลง “Gypsy Moon” ที่หนูชอบฟังเพลงไทย  ชื่อเพลง “คิดถึง” ขึ้นต้นว่า “จันทร์กระจ่างฟ้านภาประดับด้วยดาว โลกสวยราวเนรมิต กระบวนเมืองแมน ..ฯ” หนูชอบและซาบซึ้งมากที่สุดเลย หนูจึงขออนุญาตเผยความนัย ในความรู้สึกที่เขานำ “ดวงจันทร์” มาใช้เป็นจุดเด่นในแต่ละบทเพลง ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ด้วยอารมณ์เพลงหลากหลาย แม้ว่าดวงจันทร์จะถูกยานอพอลโล 11 โดย นีล อาร์มสตรอง ลงไป “เหยียบ” มากว่า 50 ปีแล้วก็ตามที หนูก็ยังมีสิทธิ์เป็น “ดวงจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางนภา” ใช่ไหมจ๊ะ

หนูภูมิใจกับ “Gypsy Moon” แม้จะต้องล่องลอยร่อนเร่เป็นเทพีแห่งจันทร์ สาดส่องลงมายังโลกในคืนเพ็ญ จึงค้นหาเรื่องราวนี้ พบว่า ร้อยกว่าปีแล้วที่มีการกล่าวถึง “บทเพลงยิปซี” ซึ่งนักประพันเพลงชาวสเปน ประพันธ์ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1878 ชื่อเพลง Zigeunerweisen (ซิ-กอย-เนอ-วาย-ซัน) รู้จักกันคือ “Gypsy Airs” ต่อมาเปลี่ยนเป็น Gypsy Moon และในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ.1934) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงไทย ชื่อเพลง “คิดถึง” ที่โด่งดัง 80 กว่าปีมาแล้ว ในคำร้องภาษาอังกฤษ หนูชอบมากที่ว่า…My gypsy moon You are the light that  Fill the room Brighten the eyes Of everyone.ฯ

หนูพูดถึง “จันทร์” กับบทเพลงจนลืมพูดถึงตัวเองที่เป็น “จันทร์กระจ่างฟ้า” ไม้เถาเลื้อยที่มาไกลจากรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา หมู่เกาะเวสต์อินดีส ทะเลคาริบเบียน แม้จะเลื้อยพันอ่อนช้อย แต่มีอายุได้หลายปีแล้วกลายเป็นเถาเลื้อยที่เนื้อแข็ง กิ่งอ่อนสีเขียวเรื่อ ใบเดี่ยวรูปไข่ หรือรูปรี ขอบใบขนาน ปลายใบป้าน มีติ่งแหลม โคนใบมน แผ่นใบสีเขียวสดเป็นมัน กิ่งอ่อนสีเขียวเรื่อแดง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง หรือแบบช่อแยกแขนง ดอกสีเหลืองเป็นกระจุก บานกว้าง 4-5 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมเป็นหลอดรูปกรวย แยก 5 แฉก สีเหลืองสด โคนกลีบ

สีเหลืองอมเขียว ออกดอกตลอดปี ไม่ติดผล ชอบแสงแดด ทนแล้ง ปลูกง่าย ไม่มีโรคหรือศัตรู

ปลูกได้ทั้งในกระถาง โดยการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง จะออกดอกได้ภายใน 2-3 เดือน หากลงดินก็เลื้อยขึ้นเป็นซุ้มบังแดด  หรือตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มก็ได้ ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี เลื้อยได้ไกล 2-3 เมตร หรือจะปลูกในกระถางแขวนก็งาม ชนิดดอกสีชมพูก็มีนะคะ และมีตำราบอกว่า ปลูกบ้านใดจะได้วาสนาสูงส่ง ผู้อาศัยร่มเย็นดุจอยู่ใต้แสงจันทร์ ปลูกทิศบูรพา สตรีปลูกจะส่งผลดียิ่ง

หนูขอพูดเรื่องเพลง “พระจันทร์” อีกนิดนะคะ เพราะหนูชอบมาก เช่น เพลง Pink Moon ขับร้องโดย Nick Drake , Moon River โดย Andy Williams, Fly me to the Moon, Fullmoon and empty arms ฟังแล้วสะท้อนใจ หรือฟังเพลง น้ำผึ้งพระจันทร์ ของ “ดิอิมฯ” เพลง จันทร์, เดือนเพ็ญ, จูบเย้ยจันทร์ เพลงอ้อมรักเพ็ญจันทร์ ของครูสุเทพ วงศ์กำแหง รวมทั้งเพลง “ในคืนกระจ่างฟ้า ที่…ดวงจันทรา คือโคมทองส่องสวรรค์ เมฆฟ่องฟ้าคือม่านทองต้องแสงจันทร์..ฯ” และแม้แต่บทเพลง สุริยะจันทร์ หรือ สุริยันต์จันทรา ก็อดใจที่จะคิดถึง….เพลง… “คิดถึง” จันทร์กระจ่างฟ้าเพื่อส่งจันทร์ลับฟ้า รออรุณรุ่งเบิกฟ้าต่อซิจ๊ะ

หนูเอ่ยถึง “สุริยันต์จันทรา” เพราะภาพยนตร์ไทยเมื่อ 40 ปี มาแล้ว มีดนตรีประกอบทำนอง “เพลงคิดถึง” บรรเลงด้วย เปียโน ไวโอลิน กีต้าร์ ไพเราะมาก ชวนให้นึกถึง “คู่แข่ง” ของหนูที่เป็นสุริยันต์อรุณรุ่งเบิกฟ้าดอกแดงกลีบซ้อน กลิ่นหอมเหมือนแป้งเย็น วงการดอกไม้เรียกกันว่า อมรเบิกฟ้า หรืออรุณเบิกฟ้า (Rose Dipladenia) อยู่ในวงศ์ครอบครัวเดียวกับหนูมีบุคลิกคล้ายกันด้วย แต่เมื่อยามใดรัตติกาลถ้ายัง “คิดถึง” หนู ก็จะ “กระจ่างฟ้า” ต่อไปค่ะ