ศึกษาการเลี้ยงปลาให้เข้าใจ การเพาะพันธุ์ปลา จึงไม่ยากอย่างที่คิด

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าปลาที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ลดจำนวนน้อยลง อันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาและสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ ประกอบกับการหาปลาที่เกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ รวมถึงภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรง

จากสภาพแวดล้อมดังกล่าวกลับเป็นการสร้างโอกาสของใครหลายๆ คน ได้ทำอาชีพทางด้านการประมงคือ การเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มประชากรของสัตว์น้ำให้มีเพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งเกษตรกรที่ทำการเลี้ยงปลานับวันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้บางครั้งลูกปลาที่เพาะพันธุ์สำหรับนำมาเลี้ยงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดความขาดแคลน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมาน จงเทพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมาน จงเทพ อยู่บ้านเลขที่ 145/5 หมู่ที่ 15 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้มองเห็นถึงปัญหาในด้านนี้ จึงได้นำวิชาความรู้ มาทำการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับครอบครัว

อาจารย์สมาน เล่าให้ฟังว่า เริ่มมาทำการสอนหนังสือตั้งแต่ปี 2530 เมื่อเวลาผ่านมาได้สักระยะหนึ่งจึงคิดหารายได้เสริม

“เราก็มองว่าเรามีความรู้ด้านนี้ บวกกับภรรยาก็ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน ก็เลยถือโอกาสมาเพาะขยายพันธุ์ปลา เพราะสมัยก่อนนั้น เพาะพันธุ์ปลาคนยังทำไม่มาก ก็เลยเริ่มทำในช่วงประมาณปี 40 เหมือนเป็นการหาอาชีพเสริมไป เพราะคนที่เลี้ยงปลาเอง เขาหาซื้อลูกปลาสำหรับเลี้ยงไม่เพียงพอ เราก็เลยมองเห็นโอกาสนั้นมาลองทำดู” อาจารย์สมาน เล่าถึงความเป็นมา

ไข่ที่ยังไม่ได้ฟักเป็นตัว

ลูกปลาที่ตลาดต้องการในช่วงนั้น อาจารย์สมาน บอกว่า เป็นพวกลูกปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกบิ๊กอุย ตะเพียน ยี่สก ฯลฯ ซึ่งในแต่ละช่วงที่เพาะพันธุ์ก็จะดูตามความนิยมที่แตกต่างกันไป

“ความต้องการในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน บางช่วงก็นิยมเลี้ยงปลาตะเพียน แล้วแต่ความชอบ พักหลังๆ มาก็จะเลี้ยงกุ้งกัน เราก็ต้องหาลูกกุ้งมาจากภาคกลางแล้วมาอนุบาลต่อก็จำหน่ายไป พอช่วงฤดูน้ำน้อยก็จะเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบใช้น้ำน้อย พวกกบ ปลาดุก ประมาณนั้น” อาจารย์สมาน เล่าถึงการเลี้ยงปลาของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล

Advertisement

อาจารย์สมาน บอกว่า การเพาะพันธุ์ปลาต้องดูที่ความเหมาะสมคือ ปลาบางชนิดสามารถเพาะพันธุ์ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝน และปลาบางชนิดสามารถเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี

ลูกปลานิลพร้อมจำหน่าย

“ช่วงแล้งเข้าฝนปลามันจะมีไข่แล้ว อย่างปลาบางชนิดก็ต้องรอช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนขึ้นไป ถึงจะมีไข่ให้เพาะพันธุ์ได้ อย่างช่วงนี้ก็จะเพาะปลาที่วางไข่ตลอดทั้งปี ก็พวกปลานิล ปลาไน ปลาดุกรัสเซีย คนที่ซื้อก็เริ่มมาบ้างแล้ว ยังซื้อไม่เท่าไร เพราะต้องรอให้มีฝนอีกสักหน่อยเพราะปีนี้น้ำน้อยอยู่” อาจารย์สมาน กล่าว

Advertisement

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลา อาจารย์สมานยกตัวอย่างการเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยให้ฟัง ดังนี้

การเลือกพ่อแม่พันธุ์นั้น แม่พันธุ์จะใช้ปลาดุกบิ๊กอุย ส่วนพ่อพันธุ์ที่นำมาผสมใช้ปลาดุกยักษ์หรือที่รู้จักกันดีคือปลาดุกรัสเซีย

“การเพาะปลาดุกบิ๊กอุย ตัวเมียเป็นปลาดุกบิ๊กอุย ตัวผู้เป็นปลาดุกรัสเซีย อายุของตัวเมียที่ใช้ก็ 8 เดือนขึ้นไป ยิ่งปีกว่าได้ยิ่งดี ส่วนตัวผู้ก็เน้นไปสัก 1 ปีขึ้นไป ซึ่งการคัดเพศจะแสดงออกทางลักษณะของตัวปลาเอง อย่างตัวเมียท้องจะอูม อวัยวะเพศขยายใหญ่ แสดงว่าเริ่มมีไข่แล้วพร้อมที่จะผสมได้ ส่วนตัวผู้ก็ดูที่ตัวเรียวยาวจะสังเกตเห็นติ่งเพศอยู่ ยิ่งติ่งเพศยาวแสดงว่าน้ำเชื้อจะดี อันนี้ก็วิธีการคัดเลือกหลักๆ ที่ดูกัน” อาจารย์สมาน อธิบาย

ปลาดุก

หลังจากที่คัดแยกพ่อแม่พันธุ์เป็นที่เรียบร้อย นำแม่พันธุ์มาฉีดฮอร์โมนทิ้งไว้ประมาณ 12-13 ชั่วโมง แม่พันธุ์ก็จะพร้อมให้รีดไข่

ส่วนพ่อพันธุ์ฉีดฮอร์โมนหลังแม่พันธุ์ประมาณ 6 ชั่วโมง ทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง น้ำเชื้อที่ได้ก็จะทันพอดีกับช่วงที่แม่พันธุ์รีดไข่ได้พอดี จากนั้นนำแม่พันธุ์มารีดไข่ออกแล้วผสมน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์เข้าไป แล้วจึงนำไข่ที่ผสมเสร็จเรียบร้อยแล้วเทลงในตาข่ายมุ้งเขียวที่อยู่ในบ่อสำหรับอนุบาล เทกระจายให้ทั่วตาข่ายมุ้งเขียว เพื่อที่ไข่ปลาดุกบิ๊กอุยไม่เกาะยึดกันเป็นก้อน ไข่จะยึดเกาะกับตาข่ายมุ้งเขียวจนกว่าจะฟักตัว

อาจารย์สมาน บอกว่า หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ลูกปลาดุกบิ๊กอุยจะฟักออกจากไข่ ใน 2 วันแรกยังไม่ให้อาหารกับลูกปลา ในวันที่ 3 นำมาอนุบาลต่อที่บ่อดินขนาด 20×20 เมตร อาหารในระยะนี้ให้กินปลาป่นผสมกับรำอ่อน วันละ 2 มื้อ คือ เช้าและเย็น ประมาณ 7 วัน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุกเล็กพิเศษ เลี้ยงต่ออีกประมาณ 15-20 วัน ก็จะได้ขนาดไซซ์ลูกปลาที่พร้อมจำหน่าย

อาจารย์สมาน บอกว่า ปลาที่คนส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงในแถบนี้จะเป็นปลานิล ส่วนปลาชนิดอื่นก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ความชอบของผู้เลี้ยง

“ปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่นี่ถือว่าเดี๋ยวนี้มีน้อยลง ก็เลยมีการเลี้ยงเพื่อบริโภคกันมากขึ้น อย่างที่จำหน่ายได้ดี ก็จะพวกปลาดุก ปลาหมอ ปลานิล เพราะพวกนี้พอเอาไปปล่อยเลี้ยงมันกินง่าย อยู่อย่างง่าย อาหารเป็นพวกเศษอาหารมันก็กิน เศษผักพวกนี้กินได้หมด คนก็จะชอบพวกนี้เอาไปเลี้ยงส่วนใหญ่” อาจารย์สมาน กล่าว

ราคาลูกปลาที่จำหน่ายของอาจารย์สมานนั้น มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดไซซ์ของลูกปลา เช่น ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาดไซซ์ 1-1.5 นิ้ว ราคาตัวละ 20 สตางค์ ส่วนปลาดุกรัสเซีย ขนาดไซซ์ 1-1.5 นิ้ว ราคาตัวละ 15 สตางค์ และปลาไนกับปลานิล ขนาดไซซ์ 2-3 เซนติเมตร ราคาตัวละ 30 สตางค์ หากมีคนมาซื้อในจำนวนมากๆ ราคาที่จำหน่ายก็สามารถถูกลงกว่านี้อีก

ในช่วงท้ายจึงถามอาจารย์สมานว่า หากผู้ที่มีความสนใจอยากทำเพื่อประกอบเป็นอาชีพ ควรเตรียมตัวในเรื่องนี้อย่างไร

“คนที่สนใจควรเริ่มจากการเลี้ยงปลาให้เป็นก่อน เพราะการที่จะเป็นนักเพาะพันธุ์ปลานี่มันต้องรู้การเลี้ยงปลาก่อน ขั้นต่ำสัก 1-2 ปี เพราะที่เราเลี้ยงนั้นแหละ พอได้อายุก็จะกลายพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมให้เรา เพราะก่อนที่จะทำจุดอื่น นิสัยปลานี่เราก็ต้องรู้ว่ามันกินอาหารแบบไหน วางไข่ยังไง หากไปเพาะพันธุ์เลยไม่มีความรู้พื้นฐานเสียก่อน กลัวว่าจะผิดพลาดได้ อยากให้ศึกษามากๆ ในเรื่องนี้ ส่วนการเพาะสำหรับผม ผมว่าเรียนรู้ไม่ยากหรอก แต่ปัญหาหลักคือการอนุบาล และการเลี้ยงนี่สำคัญ มีอย่างบางคนทำไปได้ 1 ปี พอไม่สำเร็จท้อแท้ก็ล้มเลิก ของแบบนี้มันต้องใช้ระยะเวลา ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล มันก็ได้จากการทดลองของเราเองนี่แหละ” อาจารย์สมาน กล่าวแนะนำ

จากประสบการณ์ของผู้ที่มีความชำนาญการเพาะพันธุ์ปลาของอาจารย์สมาน ทำให้เห็นได้ชัดว่าปลาที่เพาะพันธุ์ออกมาเป็นปลาที่สายพันธุ์แท้ และเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตพันธุ์ปลา ที่เชื่อถือได้

สำหรับใครหลายๆ คนที่กำลังมองหาพันธุ์ปลาไว้เลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมาน จงเทพ หมายเลขโทรศัพท์ (081) 470-7026

…………………………………………..

เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานใหญ่ประจำปี! “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยยุค 5G”  ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ifn/?code=5g หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี