รมช.มนัญญา ลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรหัวตะพาน จำกัด จังหวัดอำนาจเจริญ เยี่ยมชมการดำเนินงานของลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ พร้อมหนุนสหกรณ์ดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อติดตามนโยบายด้านการพัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ และเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรหัวตะพาน จำกัด อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมทั้งเยี่ยมชมบูธแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพสหกรณ์ จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ กระเป๋าผ้า ผ้าพื้นเมืองจากกลุ่มสตรีหัวตะพานคำพระ เสื่อกก จากกลุ่มอาชีพทอเสื่อกกบ้านนาหมอม้า ผักอินทรีย์ จากกลุ่มผักอินทรีย์บ้านโคกพระ ป้ายชื่อไม้แกะสลัก จากกลุ่มเฟอร์นิเจอร์อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เนื้อโคแปรรูป จากกลุ่มอาชีพแปรรูปเนื้อโค และวุ้นเส้นจากถั่วเขียว จากกลุ่มอาชีพบ้านนาผาง อำเภอปทุมราชวงศา

โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ อาทิ มะพร้าวน้ำหอม กล้วย ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พืชผักและผลไม้ต่างๆ

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จำนวน 61 ราย ที่ผ่านมา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ เกษตรจังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด และประมงจังหวัด ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรได้ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งจัดการศึกษาดูงาน จัดทำแผนการผลิต การลดต้นทุนด้วยเทคโนโลยีการเกษตร จัดการระบบน้ำ เกษตรอัจฉริยะ การควบคุมการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่แม่นยำ รวมทั้งมีการแนะนำให้ความรู้และส่งเสริมให้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยด้วย

นายวุฒิพร สมหมั่น เป็นหนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร กล่าวว่า ตนเองจบการศึกษาปริญญาตรี เดิมประกอบอาชีพพนักงานธนาคาร และลาออกมาประกอบอาชีพค้าขาย รวมทั้งมีพื้นที่ทำการเกษตร 30 ไร่ อยู่บ้านเลขที่ 151 บ้านโพนขวาว ตำบลจิกดู่ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ อ้อยคั้นน้ำ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ไม้ดอกไม้ประดับ สะละอินโด เลี้ยงเป็ด ไก่ รวมทั้งมีการแปรรูปผลผลิตด้วย เช่น แปรรูปอ้อยคั้นน้ำแบบครบวงจร น้ำตาลอ้อยแบบก้อน แบบผงชงดื่ม ไซรัปอ้อยอินทรีย์ และข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ ส่วนช่องทางการจำหน่ายจะใช้ช่องทางออนไลน์ ทาง Facebook Fanpage “โครงการสวนสมหมั่น” และสั่งจองผ่านเบอร์โทรศัพท์ (089) 116-9231 ก็ได้เช่นกัน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับฟังปัญหา ความต้องการด้านต่างๆ ของผู้นำสหกรณ์ พี่น้องสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 500 คน ที่มารอต้อนรับ พร้อมทั้งชี้แจงนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกล่าวชื่นชมบทบาทของสหกรณ์ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างการมีส่วนร่วมและความสามัคคีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และได้ให้กำลังใจเกษตรกรในการร่วมกันพัฒนาอาชีพ และร่วมมือกันทำงานในรูปแบบสหกรณ์ มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมจะให้การสนับสนุนและพัฒนาสหกรณ์ในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สหกรณ์ทำหน้าที่ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สหกรณ์การเกษตรหัวตะพาน จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2514 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 3,080 คน ทุนดำเนินงานกว่า 533 ล้านบาท สหกรณ์ฯ ดำเนินธุรกิจ ทั้งธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจแปรรูป ธุรกิจบริการ และธุรกิจรวบรวม              โดยสหกรณ์ดำเนินการรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก จำนวน 10,879 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 139 ล้านบาท ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเรื่องการยกระดับสินค้าและการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร และสหกรณ์ฯ ได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ โดยการให้ดำเนินการแบบกลุ่มเป็นไปตามความต้องการของสมาชิก ส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ พัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพสหกรณ์ สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมจากการทำนา ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป